คนมีประกันสุขภาพเตรียมเฮ เมื่อกระทรวงการคลังได้ไฟเขียวให้เบี้ยประกันสุขภาพสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เป็นจำนวนถึง 15,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอให้กรมสรรพากรเห็นด้วยกับการให้นำเบี้ยประกันสุขภาพมาเป็นค่าลดหย่อนภาษี แต่ทางกรมสรรพากรกลับเห็นว่าการทำประกันสุขภาพไม่ได้เป็นเรื่องของการส่งเสริมการออม จึงยังไม่อนุมัติในข้อเสนอดังกล่าว และมีคำสั่งเข้มงวดตั้งแต่ปี 2550 ไม่ให้บริษัทประกันนำเบี้ยประกันสุขภาพมานับรวมในเบี้ยประกันชีวิตเพื่อขอลดหย่อนภาษีปลายปี แต่เนื่องจากสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายาและค่ารักษาพยาบาลที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น การซื้อประกันสุขภาพจึงเป็นส่วนที่จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี
ล่าสุด นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของนายกสมาคมประกันชีวิตไทยในเรื่องมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ โดยให้สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป มาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
สำหรับประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ และบิดามารดาของคู่สมรสของผู้มีเงินได้ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ก็สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง 15,000 บาท เช่นกัน โดยต้องเป็นเบี้ยประกันที่ได้จ่ายเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศเท่านั้น
มาตรการนี้ ทางรัฐเชื่อว่าจะช่วยลดภาระงบประมาณในส่วนของการรักษาพยาบาล ทั้งยังสร้างหลักประกันสุขภาพ สนับสนุนด้านค่ารักษาพยาบาลของผู้มีเงินได้ รวมถึงช่วยผู้ที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยสามารถซื้อประกันสุขภาพเพื่อดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยได้มากขึ้นอีกด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันผู้มีเงินได้สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตของสามีหรือภรรยาของผู้มีเงินได้มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
นอกจากนี้ ผู้มีเงินได้สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้เพิ่มอีกในอัตรา 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
นับเป็นมาตรการที่ทั้งประชาชนและบริษัทประกันต่างรอคอย เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ทุกคนเริ่มหันมาใส่ใจ และให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ ทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ภาครัฐได้อีกส่วนหนึ่งด้วย จึงเป็นมาตรการที่สร้างประโยชน์ให้ทุกฝ่ายได้ยิ้มอย่างชื่นใจจริง ๆ
ที่มา