การที่ชนแล้วหนี เป็นความผิดทางกฎหมาย ถือเป็นคดีอาญา ตามมาตรา 78 ผู้ใดขับรถ หรือขี่ ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่ ต้องหยุดรถ และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัว และแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ใกล้เคียงทันที พร้อมแจ้งชื่อ – นามสกุล ที่อยู่และหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วย
ในกรณีที่ผู้ขับขี่ ไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับหลบหนี้ หรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่ จนกว่าคดีถึงที่สุด หรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 6 เดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สิน ซึ่งได้ใช้กระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดและให้ตกเป็นของรัฐ
- มาตรา 160 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ถ้าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือเสียชีวิต ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- กรณีที่ชนแล้วหนีกฎหมายกำหนดโทษแห่งการหนึ่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ จราจรทางบกมาตรา 78 ประกอบมาตรา 160 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ส่วนขับรถโดยประมาทก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง
หากคุณโดนชนแล้วหนี ต้องทำอย่างไร
เมื่อคุณโดนชนสิ่งหนึ่งที่คุณต้องทำ นั่นก็คือการจำทะเบียนรถของคู่กรณี เมื่อคุณได้ทะเบียนรถแล้วทำตามรายละเอียดดังนี้
- เมื่อคุณสามารถจำทะเบียนรถของคู่กรณีได้ ให้คุณไปแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ ใน สน.ใกล้ ๆ ก่อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลไว้เพื่อเป็นหลักฐาน และค้นหาชื่อ – นามสกุลเพื่อดำเนินคดีต่อไป
- ติดต่อบริษัทประกันเพื่อขอเคลมประกันรถ เพื่อขอซ่อมก่อนระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากประกันรถหมดอายุคุณจะไม่สามารถขอเคลมประกันได้ หากคุณไม่สามารถจำทะเบียนรถได้ คุณต้องเสียค่า Excess ในส่วนแรก 1,000 บาททันทีต่อ 1 การเกิดอุบัติเหตุ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าทางประกันภัย เขาป้องกันผู้ขับขี่ที่แอบอ้างแจ้งซ่อมรถในกรณีที่ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุ
ยกตัวอย่าง คดีเกี่ยวกับการชนแล้วหนี บทสรุปจะเป็นอย่างไร มาดูพร้อมกันเลยค่ะ
เริ่มด้วย รถ A ถูกชนท้ายโดยรถ B ซึ่ง A คิดว่า B ตั้งใจชนรถของตน เนื่องจาก A ขับรถแล้วเปลี่ยนเลนไปตัดหน้ารถ B โดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ B เกิดความโมโหมากเพราะเขาบีบแตรยาว หลังจากนั้น B ก็พยายามขับรถไล่ตามรถ A อย่างกระชั้นชิด ทำให้รถของ A เลี้ยวซ้ายเข้าซอยเพื่อหลบ จังหวะนั้นเองรถของ B จึงพุ่งชนท้ายรถของ A (คิดว่าโดยเจตนา) ทำให้รถหมุนไปหยุดในซอย ส่วนรถ B ก็หยุดเลยซอยไป แต่หยุดได้เพียงแป๊บนึง เขาก็ขับหนีไป
หากแต่ A ก็สามารถขับตามจนทัน แล้วลงไปเคลียร์ ต่างฝ่ายต่างเรียกประกันมา ในตอนแรกคู่กรณีไม่ยอมรับผิด เพราะหาว่า A ไม่เปิดไฟเลี้ยว ในความเป็นจริงแล้ว เลนที่ชนเป็นเลนซ้ายที่จะตรงหรือเลี้ยวก็ได้ แต่ในที่สุด B ก็ยอมรับผิด ฝ่ายประกันของคู่กรณีก็ออกใบเคลมให้ A เพื่อนำรถไปซ่อม ซึ่งรถก็ไม่ได้เสียหายอะไรมาก มีกันชนบุบนิดหน่อย และไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร แต่ A มีพยานที่เห็นเหตุการณ์แล้วก็ขี่ตามมาให้เบอร์โทรไว้ แต่ตอนนั้น A ก็ไม่ได้เรียกตำรวจ
คำถามคือ
- A ต้องแจ้งความภายในกี่วัน และตำรวจจะแจ้งข้อหาอะไรได้บ้าง ขั้นตอนเป็นอย่างไร
- เรื่องนี้สามารถฟ้องเป็นคดีอาญาได้โดยไม่ต้องผ่านตำรวจได้เลยหรือไม่
- สามารถฟ้องคดีอาญาในข้อหาอะไรได้บ้าง (เช่น เจตนาชน, ชนแล้วหนี)
- ศาลจะลงโทษคู่กรณีอย่างไร แล้วในข้อหาอะไรบ้าง มีโทษติดคุกหรือไม่ หรือแค่ปรับอย่างเดียว
คำแนะนำจากสำนักงานทนายความ
- พฤติการณ์การกระทำของคู่กรณี เป็นความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งในทางแพ่งเป็นความรับผิดทางละเมิดเนื่องจากพฤติการณ์การขับรถชนของคู่กรณี เป็นการจงใจกระทำต่อท่าน โดยขับรถชนท้ายโดยผิดกฎหมาย ให้รถยนต์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของท่านเสียหาย คู่กรณีจึงทำละเมิดจำเป็นต้องชดใช้สินใหมทดแทนเพื่อการที่รถเสียหายให้แก่ท่าน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 โดยทางอาญาย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 358 ท่านย่อมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นขาดอายุความร้องทุกข์ เนื่องจากเป็นความผิดต่อส่วนตัว
- ท่านสามารถฟ้องคดีอาญาความผิดฐานดังกล่าวได้เลย แต่ท่านควรแจ้งความร้องทุกข์ก่อน
- หากศาลเห็นว่า คู่กรณีซึ่งเป็นจำเลยได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง หากท่านฟ้องข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษในความผิดฐานนี้ ไม่อาจพิพากษาเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ตาม ป.วิ.อาญา 192 ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- มาตรา 420 ผู้ใดจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
- ประมวลกฎหมายอาญา
- มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- มาตรา 192 ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่สาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด อย่างเช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่าการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฎแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
ท้ายนี้ หากคุณพบกับเหตุการดังกล่าว คุณจำต้องจดจำทะเบียนรถของคู่กรณีให้ได้ เพื่อให้คุณมีสิทธิในการดำเนินคดีต่อไป ส่วนในเรื่องของการขับรถก็ขอเตือนว่า “อย่าประมาท” จะเป็นการดีที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่คุณไม่คาดคิดก็ได้ค่ะ