เงินเดือนเท่านี้จ่ายภาษีเท่าไหร่ เตรียมตัวยังไงบ้าง?
การเสียภาษี เป็นหน้าที่ของพลเมืองที่มีรายได้ ในการรายงานรายรับในปีนั้น ๆ และชำระเงินให้แก่รัฐตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการบริหาร และพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ แต่หลายคนไม่ว่าจะมนุษย์เงินเดือนมือใหม่ หรือหน้าเก่าก็ยังคงมีเรื่องที่สงสัยเกี่ยวกับภาษีอยู่ดี ในวันนี้เราจะพาไปดูหนึ่งในคำถามยอดฮิตอย่าง เงินเดือนเท่านี้ จ่ายภาษีเท่าไหร่ เตรียมตัวยังไงบ้าง? เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการวางแผนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ
เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี?
เกณฑ์พื้นฐานในการเสียภาษีคือรายได้สุทธิต่อปีเกิน 120,000 บาท สำหรับบุคคลโสด หรือ 190,000 บาท สำหรับผู้มีคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ซึ่งทางสรรพากรจะมีเกณฑ์การเรียกเก็บภาษีแบบขั้นบันได
รายได้สุทธิ | อัตราภาษี | ภาษีเงินได้สูงสุดในแต่ละขั้น (บาท) | ภาษีเงินได้สะสมสูงสุดในแต่ละขั้น |
ไม่เกิน 150,000 บาท | ได้รับการยกเว้นภาษี | 0 | 0 |
150,001 – 300,000 บาท | 5% | 7,500 | 7,500 |
300,001 – 500,000 บาท | 10% | 20,000 | 27,500 |
500,001 – 750,000 บาท | 15% | 37,500 | 65,000 |
750,001 – 1,000,000 บาท | 20% | 50,000 | 115,000 |
1,000,001 – 2,000,000 บาท | 25% | 250,000 | 365,000 |
2,000,001 – 5,000,000 บาท | 30% | 900,000 | 1,265,000 |
5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% | – | – |
เงินเดือนเท่านี้จ่ายภาษีเท่าไหร่
ใครที่สงสัยว่าอัตราเงินเดือนตนเองตอนนี้ หากไม่มีการลดหย่อนเพิ่มเติมจะต้องเสียภาษีหรือไม่ และจะต้องเสียเท่าไหร่ เราจึงทำตารางให้ดูในเบื้องต้น เพื่อให้ทุกคนสามารถวางแผนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีคำนวณภาษีเบื้องต้น
รายได้ต่อปี – (ค่าใช้จ่าย+ค่าลดหย่อน) = เงินได้สุทธิ
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี (ตามตารางข้างต้น) = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
- รวมรายได้ทั้งปี โดยคิดจากเงินเดือน รายได้พิเศษ และโบนัส สรุปง่าย ๆ คือจำนวนเงินที่ได้รับจากการทำงานทั้งหมด ไม่ว่าจะงานหลัก หรือฟรีแลนซ์
- หักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน:หักค่าใช้จ่าย 50% ของรายได้ (สูงสุด 100,000 บาท)
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- รวมค่าลดหย่อนอื่น ๆ เช่น ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, กองทุนรวม
- คำนวณภาษีจากฐานรายได้สุทธิตามตารางข้างต้น
ตัวอย่าง: เงินเดือน 25,000 บาท เท่ากับ รายได้ทั้งปี 300,000 บาท
หักค่าใช้จ่าย (100,000 บาท) และค่าลดหย่อนส่วนตัว (60,000 บาท)
รายได้สุทธิ = 300,000 – 100,000 – 60,000 = 140,000 บาท
จะยังไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เนื่องจากต่ำกว่า 150,000 บาท
ยื่นภาษีต้องเตรียมตัวยังไง?
ต้องเตรียมเอกสารแสดงรายได้ และหัก ณ ที่จ่ายให้ครบถ้วน โดยสามารถยื่นแบบได้ทั้งที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 หรือผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร ได้ถึงวันที่ 8 เม.ย. 2568
การเสียภาษีถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีรายได้ ซึ่งแนะนำให้วางแผนแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะการลดหย่อนต่าง ๆ ไม่ว่าการซื้อประกัน กองทุน หรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลอย่าง Easy E-Receipt 2.0 ที่จะช่วยลดภาระการจ่ายภาษีได้เป็นอย่างดี