ถ้าจะหาคำตอบจากคำถามที่ว่านิสัย หรือพฤติกรรมการบริโภคอย่างไรของคนทุกชนชั้นที่เรียกว่าบริโภคเกินฐานะ
คำถามมีขนาดใหญ่ต้องการการแยกย่อยและตีความแบ่งประเด็น เริ่มจากอย่างไรแน่ที่เรียกว่าจน ความจนนั้น ในที่นี้เราคงจะไม่ได้หมายถึงลำบากยากจนข้นแค้นดิ้นรนสุดตัวเพื่อหาปัจจจัย 4 มาเติมให้ครบในแต่ละวัน เพราะตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ)
- กลุ่มที่ยากจนข้นแค้นมีเพียง 3.8%
- กลุ่มที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (รวมกลุ่มยากจนค่นแค้น) มี 9.6%
- และกลุ่มที่เกินกว่าเส้นความยากจนมาเล็กน้อย ( หรือกลุ่มคนเกือบจน) อีก 8.2%
โดยรวมแล้วประเทศไทยช่วงเวลา ณ แผนพัฒนารอบปี พ.ศ. 2549 นี้มีคนที่เรียกว่าคนจนอยู่ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าพิจารณาในแง่นักการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มที่เรียกว่าคนจนและคนเกือบจนจะเหมือนกันคือเลือกบริโภคสินค้าที่ถูกที่สุด เพราะไม่สามารถมีกำลังซื้อมากพอจะซื้อของที่แพงกว่านั้นได้ ดังนี้แล้วพอจะเห็นภาพแล้วว่าคนที่ยังสามารถซื้อของที่เรียกว่า “เกินตัว” นั้น ไม่ใช่เป็นคนจนจริง ๆ แต่เป็นพฤติกรรมการบริโภคเพราะมีปัจจัยอื่นเป็นตัวกระตุ้น
เมื่อแยกประเด็นเรื่องจนจริง จนไม่จริงออกจากกันชัดเจนแล้ว คำว่า “ซื้อเกินฐานะ” ในส่วนที่สองของคำถามนี่ต่างหากที่เราจำเป็นต้องทำความวิเคราะห์
การซื้อเกินฐานะหมายความว่าบริโภคสิ่งที่เกินความจำเป็นกว่าสถานะทางการเงิน เช่น นางสาวน้อยพนักงานบริษัทเงินเดือน 12,000 บาท ชอบดื่มกาแฟยี่ห้อดังราคาแก้วละ 100 บาทเป็นประจำ ตัวอย่างนี้เห็นชัดเจนว่านางสาวน้อยเข้าข่าย “ซื้อเกินฐานะ” เทียบกับอีกตัวอย่างหนึ่ง นายทองคำ ประธานบริษัทรับเหมาชั้นนำแห่งเอเชีย บินไปกินโต๊ะจีนหัวละ 20,000บาทที่ฮ่องกงทุก ๆ เดือนกับครอบครัว (ถ้าตัดประเด็นดราม่าว่านายทองคำน่าจะนำเงินค่าอาหารและตั๋วเครื่องบินไปเลี้ยงเด็กกำพร้าจะดีกว่า) จากตัวอย่าง จะเห็นว่านายทองคำสามารถทำได้โดยไม่เดือดร้อนตัวเอง เพราะเขามีรายได้ที่สามารถจ่ายเพื่อความสุขของตนเองได้ และการบินไปฮ่องกงเพื่อรับประทานอาหารจีนกับครอบครัวก็ไม่ใช่พฤติกรรมที่เรียกว่าใช้จ่ายเกินฐานะสำหรับนายทองคำ
หลักเกณฑ์การพิจารณาการจ่ายและการใช้เงินของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เนื่องจากแต่ละคนมีความแตกต่างทางด้านรายได้รับ รายจ่าย ความสามารถในการหาเงิน แต่สิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าการพิจารณารายได้มากหรือน้อย คือลักษณะ นิสัยการใช้จ่าย โดยพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินที่ไม่ดี ที่จะทำให้คุณยากจนได้ มีดังนี้
-
ไม่มีวินัยทางการเงิน
หมายถึงไม่รู้จักการจัดการรายรับรายจ่าย หรือเตรียมพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้น วิธีแก้ง่าย ๆ คือเริ่มทำบัญชีครัวเรือน
-
ไม่รู้จักการจัดการการเงิน
มีรายได้เข้าถ้าไม่รู้จักจัดสรรออม เก็บ จ่าย การจัดการเงินที่ไม่ดีอาจทำให้กองรายจ่ายโตเกินความจำเป็นโดยไม่รู้ตัว
-
เห็นคนอื่นมีแล้วอยากมี
โดยเฉพาะการรับรู้ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เราต้องทำใจยอมรับว่าโซเชียลมีเดียเป็นตัวเร่งเพิ่มความอยากบริโภคเกินความจำเป็นตัวสำคัญเลยทีเดียว
-
เห็นของลดราคาแล้วรีบซื้อ
โดยไม่ได้คำนึงถึงอรรถประโยชน์ที่แท้จริง
-
หลงคารมนักโฆษณา
เป็นการสร้างความต้องการเทียมขึ้นโดยไม่รู้ตัว
-
ติดงานสังคม มีนัดเพื่อนกี่นัด งานเลี้ยงรุ่น งานแต่งงาน กี่รอบไปหมด
ไม่ได้บอกว่าการเข้าสังคมเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ก็ควรพิจารณาด้วย เพราะการไปงานเลี้ยงงานสังคมย่อมมีค่าใช้จ่าย
-
นิสัยเสี่ย ชอบเลี้ยง ใจสปอร์ต
-
หน้าใหญ่ใจโต
เข้าประเภทเสียเงินไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้ ถ้าใครเคยไปงานเลี้ยงแต่งงานคงจะพอทราบ โดยเฉพาะต่างจังหวัด งานแต่ง งานบวช จัดเลี้ยงโต๊ะเป็นร้อยสองร้อยโต๊ะ หรือห้าร้อยโต๊ะก็มี อาหารเพียบพร้อมมากมายขนาดหนึ่งโต๊ะกิน 15 คนก็ไม่หมด มีวงดนตรีเล่นตลอดคืน แอลกอฮอล์ไม่มีขาด แล้วก็คงเป็นธรรมเนียมที่เจ้าภาพคงไม่ได้คาดหวังเงินจากซองสักเท่าไหร่ ถ้าเจ้าภาพเป็นเจ้าสัวมีฐานะก็คงจะไม่เข้าข่ายเกินฐานะ แต่หลายครั้งเจ้าภาพต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจัดงาน อย่างนี้การเริ่มต้นชีวิตคู่ก็เริ่มด้วยการเป็นหนี้เสียแล้ว
-
ติดแบรนด์เนม
ติดตัวการ์ตูนคาแรคเตอร์ เห็นเป็นต้องซื้อ เรื่องนี้หลายคนจะเถียงคอเป็นเอ็นว่าของสะสม เก็บไว้มูลค่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ กรณีนี้ไม่เถียงเลยถ้ามั่นใจว่าเราไม่ได้ซื้อเพราะความหลงใหล คือถ้าจะชอบและหลงรักคิตตี้ก็ไม่ผิด แต่ถ้ายืนยันว่าเก็บแล้วทุกชิ้นแล้วทุกชิ้นมีราคาขึ้น กรณีนี้คงจะไม่จริง เพราะ แม้แต่ Vintage Rolex (โรเล็กส์เก่า) ที่บรรดาเซียนนาฬิกาบอกให้เก็บเลย อย่างไรราคาก็ขึ้น ความจริงคือถ้าเลือกไม่ถูกรุ่นถูกปี อาจเข้าอาการเจ๊กอั้กได้ แล้วประสาอะไรกับคิตตี้และหลุยส์วิตตอง
-
กลัวถูกดูถูกจากสังคมที่ตนเองอยู่
การจับจ่ายใช้สอยเป็นเรื่องจำเป็น และการเข้าใจธรรมชาติของปัจจัยการใช้จ่ายก็จำเป็นเช่นกัน สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราเข้าใจตัวเราเองเพียงพอหรือไม่ หรือนักการตลาดเข้าใจตัวเรามากกว่า ถึงได้สามารถออกแคมเปญล้วงเงินที่อยู่ในกระเป๋าเราได้อย่างง่ายดาย ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เราคงจะต้องถูกเรียกว่าเป็นบุคคลประเภท “คนจนที่ใช้จ่ายเกินฐานะ” เข้าให้แล้ว