หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงเพิ่งจะมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับการซื้อ LTF/RMF เอาตอนนี้ นี่มันเข้าปีใหม่แล้วนะ ปกติเค้าซื้อ LTF กันตอนปลายปีไม่ใช่เหรอ … แต่การที่ท่านเสียสละเวลาเข้ามาอ่านดูจนถึงตอนนี้ แสดงว่าท่านเป็นคนนึง ที่ได้มองข้ามผ่านเรื่องการซื้อ LTF/RMF เพื่อการลดหย่อนภาษีแต่เพียงอย่างเดียวไปแล้ว ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ เพราะวันนี้เราจะมาคุยเรื่องการซื้อ LTF/RMF ที่มากไปกว่าเรื่องของการลดหย่อนภาษี และช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด … เพราะอะไร ลองค่อย ๆ ตามอ่านกันไปนะคะ
LTF : Long Term Equity Fund
RMF : Retirement Mutual Fund
ดูจากชื่อก็คงจะพอเดากันได้อยู่แล้วว่าทั้งสองประเภทกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการลงทุนระยะยาว แต่หากจะเพียงยึดตามชื่อก็คงไม่สามารถกระตุ้นให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในแบบระยะยาวได้มากเท่าที่ควร รัฐบาลจึงได้สร้างแรงจูงใจให้โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหากถือครองกองทุนทั้งสองประเภทดังกล่าวไว้ได้นานตามเงื่อนไข
แล้วทำไมรัฐบาลถึงอยากให้เราลงทุนระยะยาวขนาดนั้น ทั้ง ๆ ที่ หากทำแบบนี้ รัฐบาลเองก็จะเป็นผู้เสียประโยชน์เพราะได้รับภาษีจากประชาชนน้อยลง
การที่รัฐยอม เพราะเค้าเห็นปัญหาที่สำคัญกว่าปัญหาการขาดรายได้ในภาครัฐ คือปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่มีเงินไม่พอใช้จ่ายในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งนับวันจะยิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็นทวีคูณ หากรัฐไม่สามารถกระตุ้นให้คนเริ่มออมเงินระยะยาวกันตั้งแต่วันนี้ สุดท้ายภาระต่าง ๆ ก็ต้องตกเป็นของรัฐอยู่ดี … และนี่คือประเด็นหลักที่ทำให้เกิด LTF, RMF ขึ้นมา
ดังนั้น การจะซื้อ LTF/RMF ให้ได้ผลดีที่สุด คือควรจะซื้อโดยอยู่บนพื้นฐานของการลงทุนระยะยาว โดยใช้ประโยชน์ของการลดหย่อนภาษีมาเป็นตัวช่วยส่งเสริม LTF/RMF ให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มกองทุนอื่นที่ใกล้เคียงกัน
การลงทุนใน LTF/RMF
ปกติแล้วก่อนที่เราจะลงทุนในอะไรซักอย่าง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องรู้ว่าจะลงทุนไปเพื่ออะไร (มีเป้าหมาย), วางแผนการลงทุน, เลือกสินค้าการลงทุน, ดำเนินการตามแผนการลงทุน และทบทวนแผนการลงทุน
หลักการนี้ใช้ได้กับการลงทุนในทุก ๆ อย่าง ไม่เว้นแม้แต่การลงทุนใน LTF/RMF ลองมาดูแนวทางการซื้อ LTF แบบเพื่อการลงทุน พร้อมทั้งได้สิทธิประโยชน์ทางการลดหย่อนภาษีอย่างครบถ้วนกันค่ะ
นายสมาน ชื่นชอบการใช้ชีวิตในหลากหลายรูปแบบ ครั้งก็ชอบที่จะบุกป่าฝ่าดงอยู่กับธรรมชาติเป็นเดือนๆ บางครั้งก็สังสรรค์ปาร์ตี้จนตีหนึ่งตีสอง ในขณะเดียวกันก็หลงไหลในการทำงานแบบลืมเวลา เค้ามีความสุขกับการใช้ชีวิตแบบอิสระ แม้จะมีสาว ๆ แวะเวียนเข้ามา แต่นายสมานก็ไม่อยากจะถูกผูกมัดโดยสาวใด นายสมานเห็นชตากรรมแล้วว่ายังไงเค้าคงจะต้องอยู่เป็นโสดตลอดไปแน่ ๆ จึงมีความคิดอยากจะวางแผนออมเงินไว้ซักก้อน เพื่อใช้ดูแลตัวเองหลังเกษียณ เค้าจึงเริ่มวางแผนการเงินอย่างจริงจัง
อ่านเพิ่มเติมเรื่องการวางแผนการเงิน 5 ตอนได้จาก
- ถึงเวลา ให้เงินทำงานแทนเรา ซักที !
- ถึงเวลา…ใช้เงินทำงาน : วางแผนการเงิน (1)
- ถึงเวลา…ใช้เงินทำงาน : วางแผนการเงิน (2)
- ถึงเวลา…ใช้เงินทำงาน : วางแผนการเงิน (3)
- ถึงเวลา…ใช้เงินทำงาน : วางแผนการเงิน (4)
หลังจากแบ่งสัดส่วนของเงินแล้ว พบว่าเขาสามารถนำเงินมาลงทุนในกองทุนแบบระยะยาวได้ทั้งหมดปีละ 400,000 บาท
เขาวางแผนจะแบ่งเงินเป็นสองก้อนสำหรับกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง 70%(280,000 บาท) และกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ 30%(120,000 บาท)
ในส่วนของกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงในตลาดการเงินมีอยู่มากมายหลายกองให้เลือก แต่เนื่องจาก LTF และ RMF นอกจากจะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว(RMF บางกอง) ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย เขาจึงวางแผนแบ่งเงินในส่วน 280,000 บาท ลงทุนใน LTF และ RMF อย่างละครึ่ง ทั้งนี้เค้าก็ไม่ลืมที่จะเช็คดูว่า จำนวนเงินที่แบ่งไว้ลง LTF และ RMF จะต้องไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมิน
เมื่อเขาทราบแล้วว่า มีจำนวนเงินที่วางแผนไว้ซื้อ LTF จำนวน 140,000 บาท เขาก็นำหลักการ Dollar Cost Average (DCA) หรือการเฉลี่ยซื้ออย่างสม่ำเสมออย่างละเท่าๆ กัน เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องของตลาดผันผวน และการจับจังหวะการซื้อขาย เข้ามาประยุกต์ใช้ในการซื้อนั้นด้วย ดังนี้
DCA :: ตัดเงินเพื่อซื้อ LTF ทุกเดือน เดือนละ 7,000 = 84,000/ปี
การจับจังหวะซื้อขาย :: เหลืออีก 56,000/ปี แบ่งไว้เป็น 4 ไม้ เอาไว้ซื้อเพิ่มตอนช่วงที่ตลาดตกลงมาก ๆ หรืออาจจะตั้งระดับไว้เช่น หากผลตอบแทน LTF ตัวที่ซื้ออยู่ ลดลงมาเกิน x% ก็เข้าไปซื้อเพิ่ม เป็นต้น
ในขณะที่ RMF ก็ใช้หลักการเดียวกัน และมีการเพิ่มเติมเรื่องของการแบ่งไปซื้อกองที่ลงทุนในต่างประเทศด้วยบางส่วน เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงเรื่องของความผันผวนของเศรษฐกิจภายในประเทศ
จะเห็นว่าจากตัวอย่างของนายสมาน เป็นการลงทุนใน LTF/RMF อย่างเป็นระบบ ระเบียบ ไม่เสี่ยงเกินไป ไม่กลัวเกินไป (เพราะได้แบ่งระดับความเสี่ยงไว้แต่แรก และมีการใช้เทคนิค DCA และการจับจังหวะการลงทุนมาเป็นตัวช่วยแล้ว) และที่สำคัญ ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างไม่ตกหล่นอีกด้วย
จะเห็นว่า บทความนี้ไม่ได้มาบอกว่าซื้อ LTF/RMF ตัวไหนดี หรือไม่ดี เพราะแต่ละปีก็จะมีกองทุนออกใหม่มาเรื่อย ๆ และสมัยนี้มีข้อมูลต่าง ๆ ที่จะช่วยคิดช่วยเลือกได้อย่างมากมาย แต่ประเด็นสำคัญกว่า เป็นสิ่งที่ควรจะคิดถึงก่อน แต่คนมักจะมองข้าม คือเรื่องของการวางแผนการซื้อ หากเรามาเริ่มวางแผนกันตั้งแต่ต้นปีแบบนี้ รับรองว่าเมื่อถึงปลายปีจะไม่มีคำถามว่า ซื้อ LTF หรือ RMF เท่าไหร่ดี แต่คำถามจะเปลี่ยนไป กลายเป็นว่า จากแผนที่เราทำไว้ในปีนี้ทั้งปี เราควรจะปรับเปลี่ยนสัดส่วนอะไรรึปล่าวในปีหน้า และกองทุนที่เราเลือกไว้สำหรับ DCA ทั้งปีนี้ มีการดำเนินงานที่ยังดีอยู่หรือไม่ ควรจะเปลี่ยนกองหรือปล่าวในปีที่กำลังจะมาถึง เป็นต้น
หวังว่าแนวทางการซื้อ LTF/RMF ในแบบที่เอามานำเสนอในช่วงปีใหม่บทความนี้ จะเป็นอีกทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับทุกท่าน ได้มีความสุขกับการวางแผนอนาคตให้กับตัวเองต่อไปนะคะ… สวัสดีปีใหม่ค่ะ …
… แล้วมา “เอนหลังฟังเรื่องเงิน” ในตอนถัดไปกันนะคะ