ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ผู้หญิงทุกคน ก็คือ การได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา สร้างครอบครัวที่อบอุ่นเป็นของตนเอง มีคู่ครองที่ดี มีลูกที่น่ารัก
แน่นอนที่สุดว่า ธรรมเนียมการแต่งงานในประเทศไทย ก่อนที่จะมีการสู่ขอกัน ต้องมีการตกลงให้เรียบร้อยก่อนว่า ค่าสินสอดที่จะจ่ายในการแต่งงานครั้งนี้เป็นเท่าไร หัวข้อนี้ ถือว่าเป็นหัวข้อสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ผู้หญิงและญาติผู้ใหญ่ทางฝ่ายหญิง มักจะหยิบยกขึ้นมาเป็นอันดับแรกเสมอ แต่ต้องยอมรับเลยว่าการเรียกค่าสินสอดในปัจจุบัน มักจะเป็นไปตามใจของญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเป็นส่วนใหญ่
กล่าวกันว่า การเรียกร้องค่าสินสอดของครอบครัวฝ่ายหญิง นัยหนึ่งก็เพื่อพิสูจน์ความรักของฝ่ายชาย ว่าปัจจัยเรื่องเงินจะทำให้ความรักครั้งนี้จืดจางลงหรือเปล่า อีกทั้งยังเป็นการพิสูจน์ความพยายามของฝ่ายชายด้วย ว่าจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคด้านการเงินในครั้งนี้เพื่อครอบครัวได้หรือไม่ และเงินสิดสอดที่จ่ายไป พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจากบางครอบครัวจะคืนให้เพื่อให้เป็นทุนสำหรับก่อร่างสร้างครอบครัว แต่ค่านิยมเรื่องสินสอดนี้บางครั้งก็ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน ที่บางคนมองว่า การเรียกร้องค่าสินสอดก่อนแต่งงาน เหมือนกับเป็นการเอาชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งไปทำให้กลายเป็นสินค้าหรือเปล่า เพียงแค่ฝ่ายชายมีเงินถึงก็สามารถจ่าย เพื่อซื้อผู้หญิงคนนั้นไปแต่งงานได้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับทรรศนะของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมเรื่องสินสอด ทองหมั้น ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุก ๆ คู่ ที่กำลังจะแต่งงานกันอยู่ดี
ดังนั้น ถ้าเกิดว่าในวันหนึ่งคู่แต่งงานทุกคนมีหลักการ สำหรับใช้คำนวณค่าสินสอดให้เหมาะสม ไม่เวอร์เกินไป ฝ่ายชายมีความสามารถในการหาเงินจำนวนนั้นมาได้ ส่วนฝ่ายหญิงก็ได้เงินค่าสินสอดที่สมน้ำสมเนื้อ ก็คงจะดีไม่น้อย ในบทความนี้ เราจะขอเสนอสูตรสำหรับคำนวณค่าสินสอดสำหรับคู่แต่งงานที่ไม่ว่าฝ่ายชายจะมีฐานะเป็นอย่างไร ดีแย่แค่ไหน ก็สามารถหาเงินเพื่อมาเป็นค่าสินสอดได้อย่างเหมาะสม สมน้ำสมเนื้อ ไม่ก่อให้เกิดอาการถังแตกภายหลังจากการแต่งงานอย่างแน่นอน …. แต่ก็ยังไงก็ตาม มันไม่มีสูตรตายตัว เราแค่นำเสนอมาให้ลองคำนวณกันดูเนอะ
สำหรับสูตรการคำนวณดังกล่าวนั้นก็มีอยู่ว่า
มูลค่าสินสอด = (2.2205 x รายได้ต่อเดือน) + (8986.92 x อายุ) + (174818.6 หากเป็นคนกรุงเทพฯ) – (454350.5 หากจบการศึกษาไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227064.1 หากแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว) – (134160.8 หากมีภาระต้องดูแลครอบครัวอยู่) + (1890610 หากเป็นผู้บริหารระดับสูง)
ตัวอย่างการใช้สูตรนี้ ก็คือ สมมติว่ามีคู่รักคู่หนึ่งกำลังจะแต่งงาน พวกเขามีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 บาท อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 27 ปี ทั้งคู่เป็นคนกรุงเทพฯ จบการศึกษา ปวช พวกเขาแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว และต้องมีภาระในการดูแลครอบครัวอยู่จะมีลักษณะการคำนวณเป็นดังนี้
(2.2205 x 15,000) + (8986.92 x 27) + (174818.6) – (454350.5) + (227064.1) – (134160.8)
การคำนวณด้วยสูตรนี้ จะได้ผลลัพธ์ว่าเจ้าบ่าวจากคู่แต่งงานดังกล่าวจะต้องมีเงินค่าสินสอดจำนวน 89,325.74 บาท จึงจะสามารถสู่ขอเจ้าสาวได้
จากการคำนวณด้วยสูตรที่ว่ามา จะเห็นได้ว่า ค่าสินสอดที่ได้จะมีความแฟร์พอสมควร ไม่น้อยจนน่าตกใจ แล้วก็ไม่มากเกินไปจนทำให้เจ้าบ่าวต้องล่มจม ทั้งนี้ การคำนวณค่าสินสอดดังกล่าว อาจใช้ไม่ได้ผลในทุก ๆ คู่ เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น รูปร่างหน้าตาของทั้งสองฝ่าย ความเจ้ากี้เจ้าการของญาติทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บางครั้ง การคำนวณสินสอดด้วยสูตรนี้ ค่าที่ได้ออกมาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเห็นว่ามากเกินไปหรือน้อยเกินไป ถ้าเกิดเป็นเช่นนี้ การต่อรองก็ย่อมต้องเกิดขึ้นและเงินสินสอดที่ต้องจ่ายจริง อาจจะไม่เป็นไปตามที่คำนวณไว้
(ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://setthasat.com/2011/09/20/wedding/ )
นอกจากการคำนวณด้วยตัวเองจากสูตรข้างบนแล้ว บนเว็บไซต์ http://www.siamviva.com/tools/wedding_tools_dowrycalculation_info_01.php ยังได้มีการคิดค้นโปรแกรมสำหรับคำนวณค่าสินสอดขึ้น ให้คู่บ่าวสาวที่คิดจะแต่งงานกัน สามารถเข้าไปใช้ได้ โดยที่โปรแกรมตัวนี้ นอกจากจะนำสูตรข้างบนมาประยุกต์ใช้แล้ว ยังมีการปรับระบบให้เข้ากับอัตราเงินเฟ้อของแต่ละปีอีกด้วย เพราะฉะนั้น การคำนวณด้วยโปรแกรมดังกล่าวจะทำให้ได้ค่าที่แม่นยำ เที่ยงตรง สามารถนำไปปรับใช้กับค่าสินสอดได้จริง ไม่ต้องมานั่งแทนค่าอัตราเงินเฟ้อกันอีก แต่โปรแกรมนี้สามารถคำนวณได้แค่ในส่วนของตัวเงินที่เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น ดังนั้น แม้จะได้ค่าจากการคำนวณด้วยโปรแกรมมาแล้ว ก็ต้องนำค่านั้นไปบวกลบคูณหารกับปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น รูปร่างหน้าตา ความพอใจของญาติทั้งสองฝ่ายด้วย ถ้าผ่านสองจุดนี้ได้เมื่อไร นั่นแหละ คือ จำนวนเงินสินสอดจริงที่ต้องจ่ายในวันแต่งงาน
อย่างไรก็ตาม เงินสินสอดก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งสำหรับงานแต่งงานเท่านั้น มันไม่สามารถตัดสินได้ว่า คู่รักที่แต่งงานนั้นจะอยู่ด้วยกันได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า สิ่งสำคัญที่สุดของการใช้ชีวิตคู่ ก็คือ ความรักอย่างแท้จริงที่ทั้งเจ้าบ่าว เจ้าสาวมีให้แก่กัน นั่นแหละจะเป็นตัวการที่ตัดสินว่า คู่รักคู่นั้น จะอยู่ด้วยกันไปจนแก่จนเฒ่ามีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง ถือไม้เท้ายอดทอง ตะบองยอดเพชร อย่างที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายอวยพรกันหรือแต่งงาน หม้อข้าวยังไม่ทันจะดำ เตียงหักซะแล้ว ขอให้คู่รักทุกคู่ที่กำลังจะแต่งงานกัน จงประสบความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหาสินสอดหรือการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก็ตาม