ยื่นภาษี ยังไง? สำหรับคนทำหลายอาชีพ มีรายรับหลายทาง
ในยุคนี้ การทำงานเพียงแค่อาชีพเดียวอาจสร้างรายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูงทุกวัน เพื่อให้มีเงินเก็บ เงินก้อน หลายคนเลยเริ่มหันมาทำงานหลายอาชีพมากขึ้นกว่าเดิม แต่ปัญหาก็คือเมื่อถึงช่วงยื่นภาษีก็มักจะเกิดคำถามที่ว่า ยื่นภาษี ยังไง? สำหรับคนทำหลายอาชีพ มีรายรับหลายทาง เพราะสำหรับคนที่มีงานประจำเพียงอย่างเดียว การยื่นภาษีก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่พอมีรายได้หลายทางมากขึ้นกว่าเดิมเลยไม่แน่ใจว่าตัวเองควรยื่นภาษียังไง เราจะพาทุกคนไปดูวิธีการยื่นภาษีสำหรับคนที่มีงานมากกว่า 1 อาชีพกัน
ยื่นภาษี ยังไง? กรณีทำหลายอาชีพ
ทำหลายอาชีพ ยื่นภาษี ยังไง ความจริงแล้ววิธีการไม่ได้แตกต่างจากเวลาที่เรายื่นภาษีในกรณีที่มีอาชีพเดียวสักเท่าไหร่ จะยากง่ายมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าอาชีพเสริมที่เราไปทำเป็นอาชีพแบบไหน และความยากง่ายที่เราพูดถึงไม่ใช่วิธีการยื่น แต่เป็นการเก็บข้อมูล และเอกสารมากกว่า
อย่างเช่น ถ้าคุณไปทำงาน Part Time ที่มีนายจ้างคอยดูแลเรื่องเอกสาร มีการมอบเอกสารให้เราเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว ก็จะทำให้การจัดเก็บเอกสารสำหรับการยื่นภาษีค่อนข้างง่าย แต่หากคุณทำอาชีพอิสระเป็นอาชีพเสริม เราก็จะต้องมีวินัยในการเก็บเอกสารจากลูกค้า และเอกสารของตนเอง
โดยเอกสารหลักๆ ที่ใช้ประกอบการยื่นภาษีจะมีหลักฐานการรับเงิน หลักฐานค่าใช้จ่ายในการทำงานสำหรับการหักค่าใช้จ่ายในขั้นตอนยื่นภาษี และเอกสารเกี่ยวกับภาษีทั้งหลาย อย่างเช่น ใบ 50 ทวิที่นายจ้างจะหักภาษี ณ ที่จ่ายผู้รับจ้างอย่างเรา 3% จากค่าจ้าง ในส่วนนี้เราก็ต้องนำเอาไปหักลบในการยื่นภาษีด้วยเหมือนกัน
ทำความรู้จักกับประเภทเงินได้และการหักค่าใช้จ่าย
รายได้ที่เราได้รับมาตลอดทั้งปีนั้น ทางภาษีจะเรียกว่าเงินได้ ยังไม่ใช่ตัวเลขที่เราจะนำเอาไปคำนวณภาษี เพราะเราจะต้องนำเอาเงินได้ในส่วนนี้ไปหักลบค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนกันก่อน เราสามารถแบ่งประเภทเงินได้ออกเป็นทั้งหมด 8 ประเภท ในแต่ละประเภทก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายในปริมาณที่มากน้อยแตกต่างกันออกไป ดังนี้
ประเภทเงินได้ | การหักค่าใช้จ่าย |
ประเภทที่ 1 เงินเดือน โบนัส เบี้ยเลี้ยง ค่าจ้าง | สามารถหักได้ตามค่าใช้จ่ายจริง หรือหากตามอัตราเหมา 50% เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท กรณีมีเงินได้ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ให้นำเอาเงินมารวมกันทั้ง 2 ประเภท หักค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท |
ประเภทที่ 2 เงินที่ได้รับจากตำแหน่งหรือหน้าที่ ค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม | |
ประเภทที่ 3 ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอื่นๆ | สามารถหักได้ตามค่าใช้จ่ายจริง หรือหากตามอัตราเหมา 50% เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท |
ประเภทที่ 4 ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร และอื่นๆ | ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ |
ประเภทที่ 5 รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน หรือการผิดสัญญาเช่าซื้อ
|
สามารถหักได้ตามค่าใช้จ่ายจริง หรือหักตามอัตราเหมาดังนี้
|
ประเภทที่ 6 วิชาชีพอิสระ
|
สามารถหักได้ตามค่าใช้จ่ายจริง หรือหักตามอัตราเหมาดังนี้
|
ประเภทที่ 7 การรับเหมาก่อสร้าง | สามารถหักได้ตามค่าใช้จ่ายจริง หรือหากตามอัตราเหมา 60% |
ประเภทที่ 8 รายได้อื่นๆ นอกเหนือจากประเภทที่ 1-7 | สามารถหักได้ตามค่าใช้จ่ายจริง หรือหากตามอัตราเหมา 40% และ 60% |
เปิดวิธีการคำนวณภาษีเงินได้ ฉบับง่าย ๆ มือใหม่ก็ทำได้
หลังจากที่เรารู้แล้วว่าเงินได้ที่เรารับจากอาชีพทั้งหลายของเราอยู่ในประเภทใดบ้าง ก็จะช่วยให้เราสามารถคำนวณได้ว่าเงินได้แต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากนั้นเราก็ต้องนำเอาเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายมาทำการหักค่าลดหย่อน จากนั้นจึงจะได้เป็นเงินได้สุทธิสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อธิบายไปคงเห็นภาพยาก เราจะพาทุกคนไปลองคำนวณเล่นๆ กัน
ตัวอย่าง: นายเอ ทำงานเป็นพนักงานประจำ ได้รับเงินเดือนเดือนละ 25,000 บาท ตลอดทั้ง 12 เดือน ได้รับโบนัสปลายปี 3 เดือน เป็นเงิน 75,000 บาท ได้รับเงินจากตำแหน่งเป็นค่าเช่าบ้านเดือนละ 5,000 บาท นอกจากนี้นายเอยังทำงานเป็นกราฟิกฟรีแลนซ์ ได้รับเงินจากการทำงานทั้งหมด 150,000 บาทในรอบปี
สูตรการคำนวณ
เงินได้สุทธิ = รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
ประเภทเงินได้ | จำนวนรายได้ | หักค่าใช้จ่าย | หักค่าลดหย่อน * | เงินได้สุทธิ |
ประเภทที่ 1 เงินเดือน | 25,000 x 12 = 300,000 | รวมกันสูงสุด 100,000 บาท | ส่วนตัว 60,000 บาท | 585,000 – 190,000 – 60,000 = 335,000 |
ประเภทที่ 1 โบนัส | 75,000 | |||
ประเภทที่ 2 ค่าเช่าบ้าน | 5,000 x 12 = 60,000 | |||
ประเภทที่ 8 กราฟฟิกฟรีแลนซ์ | 150,000 | หักตามอัตราเหมา 60% x 150,000 = 90,000 | ||
รวม | 585,000 | 190,000 | 60,000 | 335,000 |
*การหักค่าลดหย่อนความจริงแล้วมีมากกว่าการหักลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นทั้งหมด 4 ประเภท ประกอบไปด้วยค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว อย่างเช่น คู่สมรสไม่มีเงินได้ ลดหย่อนบุตร ลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดามารดา ค่าลดหย่อนภาษีประกัน เงินออม และการลงทุน ค่าลดหย่อนภาษีเงินบริจาค และค่าลดหย่อนภาษีตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ในแต่ละปีจึงอาจมีการปรับเปลี่ยนค่าลดหย่อนแตกต่างกันออกไป ต้องศึกษาเพิ่มเติมปีต่อปีจึงจะแม่นยำที่สุด
วิธีการคำนวณภาษีเงินได้
เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายที่ทุกคนรอคอย นั่นก็คือการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าในปีนี้ตัวเองต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ อัตราภาษีในประเทศไทยเป็นอัตราภาษีแบบขั้นบันได ที่เราไม่ต้องคิดเองให้ปวดสมอง เพราะสามารถตรวจสอบจากตารางนี้ได้เลย
รายได้สุทธิ (บาท) | อัตราภาษี | ภาษีเงินได้สูงสุดในแต่ละขั้น | ภาษีเงินได้สะสมสูงสุดในแต่ละขั้น |
ไม่เกิน 150,000 | ได้รับการยกเว้นภาษี | 0 | 0 |
150,001 – 300,000 | 5% | 7,500 | 7,500 |
300,001 – 500,000 | 10% | 20,000 | 27,500 |
500,001 – 750,000 | 15% | 37,500 | 65,000 |
750,001 – 1,000,000 | 20% | 50,000 | 115,000 |
1,000,001 – 2,000,000 | 25% | 250,000 | 365,000 |
2,000,001 – 5,000,000 | 30% | 900,000 | 1,265,000 |
5,000,001 ขึ้นไป | 35% | – | – |
จากตัวอย่างข้างบนเราคำนวณรายได้สุทธิออกมาเป็นจำนวน 335,000 บาท ก็จะอยู่ในอัตราภาษีขั้นที่ 3 วิธีการคำนวณสามารถแทนสูตร ดังนี้
ภาษีรายได้สุทธิตั้งแต่ 300,001 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
= [ (335,000 – 300,000) x 0.1 ] + 7,500 = 11,000 บาท
สรุปแล้ว ทำหลายอาชีพ ยื่นภาษี ยังไง คำตอบก็คือไม่ได้แตกต่างจากการยื่นภาษีในกรณีที่เรามีรายได้ทางเดียวเลย เพียงแต่ว่าเราจะต้องนำเอารายได้จากอาชีพเสริมมาคำนวณรวมเข้าไปด้วย เริ่มต้นจากพิจารณาว่ามันคือเงินได้ประเภทไหน นำเอาไปหักค่าใช้จ่าย จากนั้นก็นำเอามาหักค่าลดหย่อน เราก็จะได้ออกมาเป็นเงินได้สุทธิของเราทั้งหมด แล้วก็สามารถนำเอาไปคำนวณภาษีเงินได้ตามตารางได้เลย