เงินเดือนออก 2 รอบ ควรบริหารเงินยังไง เตรียมพร้อมทางการเงินฉบับข้าราชการ
อย่างที่ทราบกันดีว่า มีข่าวว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการปรับแผนการจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการ 2 ครั้งต่อเดือน ในปี 2567 เป็นต้นไป โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องระหว่างเดือนให้นั่นเอง ที่ทำให้เกิดการวิจารณ์ในวงกว้าง และหลาย ๆ คนก็ยังคงเป็นกังวลไม่น้อย เนื่องจากบิลเรียกเก็บหนี้ต่าง ๆ มักจะมาช่วงปลายเดือน หรือต้นเดือนนั่นเอง จึงอาจส่งผลให้หลาย ๆ คนเกิดความกังวล และต้องวางแผนการเงินใหม่หมด วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปดูกันว่า เงินเดือนออก 2 รอบ ควรบริหารเงินยังไง ให้ไม่ได้รับผลกระทบกัน
เปิดคู่มือเงินเดือนออก 2 รอบ ควรบริหารเงินยังไง
เพื่อนๆ คนไหนที่เป็นข้าราชการ และกำลังปวดหัวว่าเงินเดือนออก 2 รอบ ควรบริหารเงินยังไง ความจริงแล้ววิธีการบริหารไม่ได้ต่างจากเดิม เพียงแต่เราจะต้องเปลี่ยนจากการบริหารเงินรอบเดียว เป็นการบริหารเงิน 2 รอบแทน สำหรับใครที่ยังไม่เห็นภาพ เราขอแนะนำให้ทำตามนี้ได้เลย
มากกว่า 60% สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต
เป็นเงินก้อนที่ใหญ่ที่สุดที่เราจะต้องนำเอามาใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เงินก้อนนี้จึงต้องถูกนำเอามาแยกเป็นสัดส่วนย่อยลงไปอีก ดังนี้
- ค่าอุปโภค
เป็นค่าใช้จ่ายพวกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ เป็นค่าใช้จ่ายที่บางก้อนก็เท่ากันทุกเดือน บางก้อนก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้ต่างกันในแต่ละเดือนสักเท่าไหร่ ให้เราคาดคะเนแบบเผื่อเหลือเผื่อใช้เอาไว้ แล้วกันเงินส่วนนี้ไปจ่ายเลย อย่างเช่น ค่าไฟ 500 บาท ค่าน้ำ 200 บาท ค่าโทรศัพท์ และค่าอินเตอร์เน็ต เดือนละ 1,000 บาท ก็กันเงินออกมา 1,700 บาท นำเอาไปจ่ายให้ครบ เพื่อป้องกันปัญหาถึงรอบบิลแล้วไม่มีเงินจ่าย
- ค่าบริโภค
เป็นค่าใช้จ่ายที่เราหมดไปกับอาหาร เครื่องดื่ม ของว่างทั้งหลาย ฟังดูเป็นค่าใช้จ่ายจุกจิก แต่ในเดือนหนึ่งก็หมดไปเยอะเหมือนกัน หากเราวางแผนให้ดี ก็จะช่วยให้การใช้จ่ายในส่วนของค่าบริโภคมีความรัดกุมได้มากขึ้น ทำให้เราประหยัดได้มากขึ้นตามไปด้วย
- ค่ารักษาพยาบาล
ข้าราชการมีสิทธิ์เบิกตรง สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐได้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายก็จริง แต่บางครั้งการรักษาก็ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนเกิน บางคนไม่อยากไปโรงพยาบาล เจ็บป่วยเล็กน้อยก็ไปซื้อยากินเอง เงินในส่วนนี้จึงต้องจัดเอาไว้เพื่อบริหารใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินด้วยเหมือนกัน จะเผื่อมากเผื่อน้อย ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน
10% เงินสำรองระยะยาว
ความจริงแล้วข้าราชการเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง หลังจากที่เกษียณอายุแล้ว ยังได้รับบำนาญเป็นเงินเดือนให้ใช้จ่ายไปจนกว่าจะจากโลกใบนี้ไป ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องมีเงินสำรองระยะยาว เผื่อเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้นมา อย่างเช่น ลูกหลานต้องจ่ายค่าเทอม สมาชิกครอบครัวมีอาการเจ็บป่วย ต้องได้รับการรักษา ดังนั้น ต่อให้เราจะเป็นข้าราชการ ก็ต้องมีเงินเก็บเอาไว้ใช้จ่ายในระยะยาวด้วยเหมือนกัน
10% เงินลงทุน
นอกจากเราจะทำงานเองแล้ว บางครั้งก็ต้องแบ่งเงินออกมาให้มันทำงานเหมือนกัน เราเลยอยากแนะนำให้ทุกคนแบ่งเงินจำนวน 10% มาลงทุน จะเอาไปฝากประจำ ลงทุนในหุ้น หรือกองทุนก็ได้ สำหรับใครที่อยากลงทุนไปด้วย มีเครื่องประดับสวย ๆ ใส่ไปด้วย ก็ให้ลงทุนในเพชร ทอง เครื่องประดับมูลค่าสูง ๆ ที่จะราคาขึ้นต่อไปในอนาคต ถ้าอยากได้เงินก้อนใหญ่ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จะเก็บเอาไว้ในหุ้น กองทุน หรือบัญชีเงินฝากก่อน จากนั้นพอได้จำนวนที่ต้องการแล้ว ก็นำเอาไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ชื่นชอบได้เหมือนกัน
20% อื่น ๆ
เงินที่เหลืออยู่จำนวน 20% เรียกว่าเป็นของขวัญสำหรับการทำงานหนักก็ได้เหมือนกัน เราจะนำเอาเงินในส่วนนี้ไปใช้จ่ายได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอยของที่ชื่นชอบ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า อุปกรณ์ Gadget ทั้งหลาย
สำหรับใครที่อยากจะพัฒนาตนเอง เราก็สะสมเงินก้อนนี้ไว้เพื่อเอาไปเรียนต่อ หรือจะลงสมัครคอร์สเรียนสั้น ๆ ก็ได้เหมือนกัน หรือเพื่อน ๆ คนไหนอยากจะช่วยเหลือสังคม ทำบุญทำทาน สร้างความสบายใจ จะสามารถนำเอาเงิน 20% ก็นี้ไปบริจาค ทำบุญได้ตามความศรัทธา เพราะเงินก้อนนี้เราแบ่งมาแล้วว่าเมื่อใช้แล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพการเงินของเรา
การบริหารเงินเดือนออก 2 รอบ สำหรับคนต้องชำระหนี้
ต้องยอมรับว่าสำหรับคนที่มีภาระหนี้สินต้องผ่อนชำระทุกเดือน การบริหารเงิน 2 รอบเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่เราก็มีเทคนิคอยากให้ทุกคนได้ลองทำตามกัน ดังนี้
-
เก็บเงินรอบแรกไว้ใช้พร้อมเงินรอบ 2
เป็นวิธีการง่าย ๆ ในกรณีที่เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินก้อนเดียวหรือ 2 ก้อน 2 ครั้งต่อเดือน นั่นก็คือให้เก็บเงินที่ได้รอบแรก วันที่ 15 มารวมกับวันที่ 28 ในเดือนเดียวกัน จากนั้นก็นำเอาเงิน 2 ก้อนนี้มาใช้จ่ายเป็นเงินเดือนของเดือนถัดไป
ตัวอย่าง ได้เงินเดือนรอบแรกวันที่ 15 จำนวน 10,000 บาท ให้เราเก็บใส่บัญชีแยกทิ้งเอาไว้แล้วไม่ต้องสนใจมัน พอวันที่ 28 ได้เงินอีกก้อนหนึ่งจำนวน 10,000 บาท ก็นำเอาเงินที่ได้รอบแรกมารวมกันเป็น 20,000 บาท จากนั้นก็นำเอาไปชำระหนี้ และบริหารใช้จ่ายได้ตามปกติ
-
เอาเงินรอบ 2 จากเดือนที่แล้วมาโปะกับเงินรอบแรกในเดือนนี้
ความจริงแล้ว เป็นวิธีการที่ใกล้เคียงกับวิธีแรก เพียงแต่เราจะนำเอาเงินที่ได้รอบที่ 2 จากเดือนที่แล้วนั่นก็คือวันที่ 28 มารวมเข้ากับเงินก้อนแรกของเดือนนี้นั่นก็คือวันที่ 15 มาใช้จ่ายเป็นเงินเดือนไปจนกว่าจะถึงวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ตัวอย่าง ได้เงินเดือนวันที่ 28 จำนวน 10,000 บาท ให้เราเก็บเข้าบัญชีเอาไว้ก่อน จากนั้นวันที่ 15 ได้เงินอีกก้อนหนึ่งจำนวน 10,000 บาท ก็ให้นำเอาเงิน 2 ก้อนนี้มารวมกันเป็น 20,000 บาท แล้วนำเอาไปใช้จ่ายในการชำระหนี้ช่วงสิ้นเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า ส่วนที่เหลือก็สามารถนำเอาไปบริหารใช้จ่ายได้ตามเดิม
สรุปแล้ว เงินเดือนออก 2 รอบ ควรบริหารเงินยังไง คำตอบก็คือสามารถบริหารได้เหมือนเดิม ใช้หลักการ 60 – 10 – 10 – 20 นั่นก็คือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต 60% เงินสำรองระยะยาว 10% ลงทุน 10% และใช้จ่ายได้อิสระอีก 20% สำหรับผู้ที่ต้องชำระหนี้อาจจะต้องมีการวางแผนที่รัดกุมมากขึ้น เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการชำระหนี้ตามรอบบิลที่กำหนดเอาไว้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะข้อกำหนดดังกล่าวยังไม่ได้มีการบังคับใช้ และดูเหมือนว่าจะสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะให้จ่าย 1 ครั้งตามเดิม หรือแบ่งจ่าย 2 ครั้งต่อเดือน