ไม่ใช่ทุกคนที่กำหนดเป้าหมายให้ตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะการไม่กำหนดเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิต ย่อมเหมือนการปล่อยเรือให้ลอยไปตามกระแสลม หากอยู่ในกระแสลมที่ดีเรือก็ลอยไปในทิศทางที่ดีได้ เปรียบเหมือนคนที่ทำงานอยู่ในสายอาชีพ เช่น หมอ วิศวะ หรืออาจารย์ ย่อมมีวิถีของกระแสลมที่ดี ซึ่งนำมาซึ่งความสำเร็จในบั้นปลายการทำงาน คือการเติบโตตามอายุและประสบการณ์ทำงานได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่หากเรือลอยอยู่ในที่ ๆ กระแสลมไม่ชัดเจน ลมเปลี่ยนทิศทางไปซ้ายป่ายขวาอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่อาจทำให้เรือลำนั้นถึงจุดหมายได้
การกำหนดทิศย่อมเหมือนติดหางเสือให้เรือได้มุ่งไปสู่ทิศทางที่ต้องการ การมีความรู้ในการกางใบเรือให้กินลมซ้ายลมขวานั้นยิ่งทำให้เราสามารถนำเรือไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ความรู้ที่เกิดจากการเรียนและประสบการณ์ช่วยให้เราทำงานปรับหางเสือและใบเรือได้มีประสิทธิภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่การแล่นใบทุกครั้งจะต้องกำหนดก่อน นั่นก็คือเป้าหมาย การแล่นเรือได้เร็ว แต่ไร้ที่หมาย ย่อมไม่สามารถทำให้เกิดสาระอะไรขึ้นมาในชีวิตได้
การวางเป้าหมายนั้น หลายคนอาจมองไม่เห็นเป้าหมายในบั้นปลายชีวิต เพราะอยู่ไกลเกินไป สิ่งที่ทำได้คือได้แต่เตรียมตัวเตรียมความพร้อมเรื่องทรัพย์สินเงินทองที่ต้องใช้เมื่อยามเกษียณ หลายคนจึงเลือกที่จะวางเป้าหมายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วสะสมเก็บความสำเร็จไปเป็นขั้น ๆ ซึ่งทำได้ง่ายกว่า แต่การตั้งเป้าหมายสุดท้ายสูงสุด กลับช่วยให้การตั้งเป้าหมายระยะสั้น การตั้งเป้าหมายในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาหาความรู้ติดหางเสือให้ตัวเองนั้น ทำได้ง่ายและมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า
เป้าหมายที่ดีคืออะไร ?
เป้าหมายที่ดีต้องไม่ใช่เป้าหมายลอย ๆ ที่ตั้งขึ้นมาแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร เป้าหมายที่ดี คือ เป้าหมายที่มีกรอบของระยะเวลากำหนด และมีความเป็นไปได้ ดังนั้นการที่เราจะกำหนดเป้าหมายให้ได้ดีนั้น เราจะต้องรู้จักประเมินความเป็นไปได้จากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงประเมินศักยภาพของตัวเองด้วย นั่นหมายความว่าการรู้จักพินิจปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เข้าใจธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และเข้าใจความสามารถของตัวเอง โดยวางปัจจัยทุกอย่างบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงก่อน จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์ช้า ๆ ดูความเป็นไปได้ในหลายแง่หลากมุม บวกกับความต้องการของตัวเราเองที่อยากจะเป็น แล้วจึงกลั่นกรองเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิต
เป้าหมายเล็กๆจำเป็นไหม ?
เมื่อได้เป้าหมายสูงสุดแล้ว จึงวางเป้าหมายย่อย ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุด เวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ก็อาจเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่ช่วยเสริมความเป็นไปได้ให้เป้าหมายนั้นแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นต้น ตัวอย่างเช่นว่า หากเราอยากเป็นคนแก่วัย 70 ที่มีความสุข คือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ก็ให้ต้องพิจารณาตีความว่าความสุขของเราในวัย 70 มีปัจจัยใดบ้าง เช่น มีบ้านที่หมดภาระธนาคารแล้ว มีลูกสืบสกุลที่เรียนจบและพึ่งตัวเองได้แล้ว มีบ้านพักหลังเล็กต่างจังหวัดเอาไว้นอนตากอากาศหน้าร้อน มีสุขภาพที่ดี เดินได้กินอร่อย มีเงินก้อนเอาไว้ใช้ยามเกษียร ในขณะที่มีประกันภัยที่ดูแลสุขภาพยามป่วยไข้ด้วย ฯลฯ
เมื่อสรุปปัจจัยที่ทำให้เรามีความสุขในวัย 70 ได้แล้ว เราก็จะรู้ว่า เราในวัยทำงาน 25 ปี ในปัจจุบัน ต้องทำงานและมีรายได้เท่าไหนจึงจะครอบคลุมรายจ่ายในตอน 70 ปี เราอยากมีลูกไว้สืบสกุลนั่นหมายความว่าเราต้องแต่งงานมีครอบครัว เราอยากมีสุขภาพที่ดี นั่นหมายถึงเราต้องดูแลสุขภาพตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
การแตกเป็นประเด็นย่อยทำให้เราตั้งเป้าหมายย่อย ๆ ที่นำไปสู่ความสุขในวัย 70 ได้ เช่น เราต้องเริ่มออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงดูแลสุขภาพจิตให้ดีด้วยการมีอารมณ์เบิกบานแจ่มใสอยู่เสมอ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสุขภาพดี และเราก็สามารถสร้างเป้าหมายย่อยจากปัจจัยเพื่อสุขภาพเหล่านี้ เช่น ออกกำลังกายให้ได้อาทิตย์ละ 3 ครั้ง ๆ ละอย่างน้อย 20 นาที เป็นเป้าหมายย่อยแรก และกำหนดเป้าหมายย่อยอื่น ๆ ต่อไป
อีกหนึ่งปัจจัยสูงสุดเพื่อความสุขในวัย 70 ที่เราตั้งไว้ คือ การมีครอบครัว ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่ และจำเป็นจะต้องหาปัจจัยของการสร้างครอบครัวที่มีความสุขเสียก่อน จึงจะกำหนดเป้าหมายเรื่องครอบครัวได้ เช่น ต้องวางแผนการแต่งงานและวางแผนการมีบุตร หรือคนที่ไม่มีแฟนก็ต้องหาแฟนให้ได้เสียก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการกำหนดกะเกณฑ์ในบางเรื่องนั้นเป็นเรื่องยากหรือแทบจะกำหนดไม่ได้เลย แต่ถึงกระนั้นก็ต้องเดินหน้าหาปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง แล้วกำหนดเป้าหมายต่อไป
จากตัวอย่างการ ตั้งเป้าหมายในชีวิต ที่ต้องการความสุขในวัย 70 จะพบว่ารายละเอียดและขั้นตอนมีมาก จำเป็นต้องใช้เวลาในการเติบโตไปพร้อมกับประสบการณ์ของเรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้มา แต่เมื่อมีเป้าหมายย่อย ๆ และเป็นลำดับขั้นก่อนหลังไว้เป็นแนวทางของเราแล้ว ย่อมช่วยให้การดำเนินชีวิตของเรามีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้น้อย การดำเนินชีวิตที่อยู่บนทางที่วางไว้เพื่อเป้าหมายของเราเองนั้น ย่อมหมายถึงความประสบความสำเร็จในตัวมันเองอยู่แล้ว การออกนอกเส้นทางต่างหากคือความล้มเหลว การแตกแยกย่อยของเป้าหมาย ช่วยให้เราสามารถประเมินตัวเองและดำเนินการให้ประสบความสำเร็จในแต่ละเป้าหมายได้ง่ายกว่า
เมื่อถึงตอนนี้แล้วเราก็จะรู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ตัวเราเป็นเหมือนเรือที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรเท้งเต้งตามคลื่นและลม แต่เราสามารถเป็นเรือเร็วที่มุ่งสู่ทิศทางที่เราต้องการในบั้นปลายชีวิตได้ เราสามารถกำหนดชี้จุดวางเส้นทางการเดินเรือในแต่ละระยะแต่ละเวลาตามที่เราเห็นสมควรได้ เราสามารถเลือกที่จะรับหรือไม่รับบางสิ่งบางอย่างเข้ามาในชีวิตได้ นั่นเพราะเรามีเป้าหมายชัดเจน สุดท้ายแล้ว การเดินอยู่บนเส้นทางสู่เป้าหมายก็ย่อมเป็นการประสบความสำเร็จอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้วนั่นเอง