คุณพ่อคุณแม่หลายคนเวลาเดินทางออกไปซื้อของและเมื่อเด็กน้อยโตขึ้นถึงวัยที่กำลังจะพูดได้ ประมาณ 1 – 2 ขวบ เด็ก ๆ จะเริ่มมีความคิดของตัวเอง แต่เนื่องจากเขายังไม่สามารถพูดได้จึงได้แค่เพียงส่งเสียง อืม อือ แล้วยกมือจะเอา ๆ เด็กน้อยยังสื่อสารไม่ได้ ทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง หรือเกรี้ยวกราดมากขึ้น หรือมีอาการงอแงมากขึ้น เด็กวัยนี้จะมีอาการที่ตลกอย่างนึงคือ อยากกินอาหารในจานของผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่าเราจะเตรียมอาหารไว้ให้กับเขาแล้ว แต่เขาก็จะร้องฮึดฮัด อยากจะกินของที่ไม่ใช่อยู่ตรงหน้าตัวเอง นอกจากนี้ยังไม่สามารถนั่งโต๊ะกินข้าว (โต๊ะกินข้าวเด็กแบบ high chair) ได้นานอีกด้วย ทั้งนี้เพราะเขามีความสนใจสิ่งรอบข้างมากขึ้น เช่น อยากลุกไปเล่นของเล่น อยากกินของที่อยู่ในจานคนอื่น เป็นต้น
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนให้นั่งโต๊ะนานมากขึ้นโดยอาจจะให้จับของเล่น หรือจับช้อนอีกคันขณะกินข้าว แล้วเล่นป้อนข้าวแม่กลับมา อีกอย่างคือการทำความเข้าใจเด็ก การที่เด็กร้องกรี๊ดหรือตะโกน เป็นเพราะไม่มีใครเข้าใจความต้องการของเขา เขายังไม่สามารถสื่อสารกลับมายังเราได้จึงใช้วิธีที่เขาทำได้คือการร้องไห้ กรี๊ด หรือตะโกน
วิธีการรับมือของผู้เขียนมีดังนี้
- ปล่อยให้เด็กร้อง อย่าโอ๋
ให้เด็กน้อยปลดปล่อยอารมณ์ของเขา หลังจากนั้นซักพักถ้าเขายังไม่หยุดร้อง เราก็พูดเหตุผลกับเขาว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิดอย่างไร พูดสั้น ๆ ให้จบง่ายๆแต่ถ้าเขาไม่หยุดร้องก็ปล่อยเขา เดี๋ยวก็จะลืม อาจจะลูบหลังหรือหอมแก้มเขา
- อย่ายอมแพ้เสียงร้องไห้ของลูก
เราไม่ควรยอมทำตามสิ่งที่ลูกต้องการโดยไม่มีเหตุผล เราควรให้ลูกรู้จักรอคอย ลูกชายของตัวผู้เขียนเมื่อเห็นรถไฟเด็กที่วิ่งรอบห้างเขาจะยกมือชี้ ๆ แสดงความต้องการว่าอยากนั่งมาก ๆ แต่ว่าคิวจะยาวในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ โดยต้องใช้ใบเสร็จไปแลกนั่งรถไฟฟรี (ซื้อของมูลค่า 500 บาท) ช่วงวันหยุดอาจจะต้องรอถึงเกือบ 1 ชั่วโมง ซึ่งมีข้อดีเหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งที่สอนให้เด็ก ๆ รู้จักการรอคอย โดยเราอาจจะหากิจกรรมเสริมให้เด็กทำ เช่นการเล่นระบายสี หรือให้เลือกซื้อเสื้อผ้าในร้านเสื้อผ้าเด็กรอ เป็นต้น
กรณีที่ลูกอยากได้ของเล่นมาก ๆ อย่าตามใจ อย่าใจอ่อน ไม่ควรซื้อของให้เด็กทุกชิ้นที่เขาต้องการ บางทีคุณพ่ออาจจะอยากซื้อ แต่ควรหาความเห็นตรงกลาง หลายคนเมื่อกลับมาดูกล่องของเล่นจะเห็นว่ามีของเล่นไร้ประโยชน์อยู่มาก ควรซื้อของเล่นเช่นบล็อกไม้ หนังสือนิทานเล่มแข็ง บ้านไม้มีรูใส่รูปทรงต่าง ๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าอันไหนวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม เป็นต้น ถ้ายังคงร้องไห้อยู่ คุณพ่อคุณแม่ควรเพิกเฉย ไม่ควรสนใจ และเดินไปจุดอื่นที่ไม่ใช่โซนของเล่นค่ะ
- ให้เล่นของรอบตัวชิ้นใหม่
เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจบางทีของชิ้นเล็ก ๆ ก็ช่วยให้เด็กน้อยสงบลงได้ เช่น ถุงพลาสติกเป่าลมมัดไว้ ขวดน้ำพลาสติกที่เราดื่มในร้านอาหาร การที่เขาได้จับของใหม่ ๆ ทำให้เขาหยุดความสนใจได้ดีพอสมควรทีเดียว แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของสิ่งของที่ให้น้องจับด้วยเช่นกัน
- ควรพาไปโซนอื่นที่ไม่ใช่ของเล่น
บางทีการไปโซนของเล่นก็นำปัญหาปวดหัวมาให้มากเช่นกัน ทางที่ดีควรพาไปเดินเล่นโซนอื่น การพาไปเมื่อเด็กโตซักหน่อยอาจจะเป็นการให้รางวัลกรณีหนูช่วยแม่กวาดบ้านถูบ้าน หรือ ช่วยเก็บของเล่น เป็นเด็กดี อาจจะซื้อให้เขา 1 ชิ้น แต่ควรเป็นของเล่นที่มีประโยชน์ด้วยเช่นกัน
หลายคนอาจจะกังวลว่าการพาลูกไปนอกบ้านจะต้องแย่แน่ ๆ ลูกต้องร้องไห้ งอแง ซึ่งความจริงแล้วเด็ก ๆ ก็จะเป็นอย่างนั้น แต่การพาลูกออกไปดูสิ่งต่าง ๆ รอบบ้านนั้นเป็นสิ่งที่ดี เขาจะได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับเขา รวมถึงได้เรียนรู้สิ่งรอบตัวใหม่ ๆ นอกจากนี้เขาจะได้เรียนรู้การเข้าสังคมกับคนอื่น เช่นการทักทาย ยกมือไหว้สวัสดี การขอบคุณ การรอคอยเข้าแถวต่อคิวกินข้าวในร้านอาหารหรือนั่งรอต่อคิวเล่นของเล่น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยขัดเกลาให้เด็กเข้ากับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี