ทรัพย์สินด้านเงินตราแม้ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตโดยรวมสุขสบายขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการแปลงเงินตราเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างอาหาร เสื้อผ้า บ้านพักอาศัย สินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการทุกขณะ และเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ดังนั้นเงินตราจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ คนทุกคนจึงพยายามขวนขวายหาเงินจากการทำงานประจำ งานพิเศษ ซึ่งบางคนก็ได้รับเงินจากแหล่งพิเศษทางอื่นอย่างเงินมรดก และบางคนก็อาจได้รับเงินจากสินทรัพย์ที่นำไปลงทุนอย่างผลตอบแทนจากการลงทุน (เงินฝาก กองทุน หุ้น ฯลฯ) ค่าเช่าจากสินทรัพย์ หรือเงินจากการขายสินทรัพย์ อย่างไรก็ตามการมีทรัพย์สินเพิ่มพูนหรือรวยได้ไม่ได้อยู่ที่การหาเงินได้มากเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การเริ่มต้น จัดสรรเงินรายได้ เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน ซึ่งจากหลักการคิดเช่นนี้จึงมีเทคนิคเพื่อใช้ในการ จัดสรรเงินรายได้ ดังนี้
1.แบ่งเงินได้เป็นส่วนต่าง ๆ เพื่อกำหนดสัดส่วนการใช้จ่ายในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ
ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เมื่อได้เงินรายได้ไม่ว่าจากแหล่งรายรับใดก็ตาม ต้องท่องไว้ในใจเสมอว่า สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการ คือ ต้องมีสติระงับอารมณ์ความต้องการใช้จ่าย แล้วเริ่มต้นทำแผนการจัดสรร โดยการจดบันทึกและคำนวณเงินได้จากทุกแหล่งพร้อมประมาณการค่าใช้จ่ายในอนาคตอย่างค่าใช้จ่ายประจำเดือน (ค่าอาหาร / ค่าพาหนะ/ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ฯลฯ) แล้วสรุปยอด เสร็จแล้วจึงนำส่วนเงินได้ทั้งหมดหักค่าใช้จ่ายประจำเดือน
โดยส่วนที่เหลือของเงินได้ต้องจัดสรรออกเป็น 3-4 ส่วนเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น
- เพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉิน (ค่ารักษา/ ค่าเทอม)
- เพื่อใช้จ่ายในโอกาสพิเศษ (ค่าเดินทางท่องเที่ยว/ของขวัญ)
- เพื่อใช้จ่ายในการลงทุน (เงินฝาก/กองทุน/ ประกัน/หุ้น)
- เพื่อใช้จ่ายชำระหนี้สิน เป็นต้น
ซึ่งเมื่อสามารถแบ่งเงินได้ตามที่ต้องการแล้วก็ควรใช้จ่ายตามที่ได้กำหนดไว้ เพื่อฝึกวินัยการใช้จ่ายเบื้องต้นอันนำไปสู่วินัยการใช้ชีวิตในขั้นต่อ ๆ ไป
2. นำเงินได้ในส่วนของการลงทุนมาจัดสรรเพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ
เงินได้ที่ได้รับการแบ่งส่วนเพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนจะต้องแบ่งสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสินทรัพย์แบ่งได้ 3 ส่วน คือ
- สินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ หุ้นกู้เอกชนทั่วไป กองทุนหุ้น กองทุนทอง กองทุนน้ำมัน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
- สินทรัพย์เสี่ยงปานกลาง เช่น กองทุนตราสารหนี้ (กองทุนที่เน้นลงทุนใน หุ้นกู้เอกชนบริษัทเครดิต A ตั๋วเงินเอกชนทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ ) กองทุนตลาดเงิน (กองทุนที่เน้นลงทุนในเงินฝากต่างประเทศที่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน) และกองทุนผสม เป็นต้น
- สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนตลาดเงิน (กองทุนที่เน้นลงทุนในเงินฝากในประเทศ พันธบัตรรัฐบาล ) เงินฝากประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
โดยหลักในการจัดสรรเงินลงทุนอาจใช้เกณฑ์ช่วงอายุในการพิจารณา ซึ่งบุคคลที่มีอายุช่วงวัยเรียนเป็นวัยยังไม่มีรายได้และมีเงินเก็บจากการสะสมเงินที่ได้รับจากผู้ปกครอง ควรเริ่มต้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปานกลางถึงต่ำเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนได้เป็นทุนสะสมในอนาคต
สำหรับช่วงอายุเริ่มต้นทำงานควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงและเสี่ยงปานกลางประมาณ 80% และลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ 20% เพราะเป็นช่วงอายุที่ยังสามารถทำมาหาได้อีกนานจึงควรลงทุนในส่วนที่สร้างผลตอบแทนสูง
และในช่วงอายุวัยทำงานตอนกลางควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงและเสี่ยงปานกลางประมาณ 60% และลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ 40% เพราะเป็นช่วงอายุที่สร้างครอบครัวมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ จึงควรลดสัดส่วนความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับเงินต้นและผลตอบแทนตามที่คาดไว้ให้น้อยลง
ส่วนช่วงอายุวัยใกล้เกษียณจนถึงวัยเกษียณควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงและเสี่ยงปานกลางประมาณ 20% และลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ 80% เพราะเป็นช่วงอายุที่เหลืออายุงานอีกไม่นานและไม่สามารถทำรายได้ได้อีกแล้ว จึงต้องลดความเสี่ยงจากการลงทุนให้น้อยที่สุด
อย่างไรก็ตามแม้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างการลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่สูง แต่ถ้าไม่มีความรอบคอบศึกษาข้อมูลรายละเอียดก่อนก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดไม่ตรงตามที่คาดหวังได้ ดังนั้น หากต้องการลงทุนในหุ้น ควรเริ่มต้นศึกษาข้อมูลภายในบริษัทอย่าง การดำเนินงาน นโยบายบริษัท ในเชิงคุณภาพ และผลประกอบการ การลงทุน การขาย สินทรัพย์ในเชิงปริมาณ ข้อมูลภายนอกอย่างปัจจัยภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง นโยบายรัฐบาล ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
และท้ายที่สุดต้องกระจายความเสี่ยงโดยการกระจายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม และหลากบริษัท ซึ่งต้องเป็นอุตสาหกรรมหรือบริษัทที่เมื่อปัจจัยภายนอกมีผลกระทบจะทำให้ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงผกผันกัน และต้องเป็นหุ้นในกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ซึ่งหากสามารถจัดสรรการลงทุนได้เหมาะสมจะทำให้มีทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น
3. จัดสรรรายได้ลงทุนในสินทรัพย์เพื่อประหยัดภาษี
ควรจัดสรรเงินรายได้บางส่วนลงในสินทรัพย์ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อการสร้างผลตอบแทนได้ทั้งสองทาง เช่น การลงทุนในการประกันชีวิตประเภทการออมสะสมทรัพย์ หรือแบบบำนาญ การลงทุนในกองทุน LTF และ RMF การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น ซึ่งการลงทุนทั้งหมดนี้จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนจากตัวสินทรัพย์เอง และนำเงินส่วนลงทุนหรือรายจ่ายไปเป็นยอดในการลดหย่อนภาษี ทำให้ผู้ลงทุนได้ประโยชน์มากขึ้น
4. จัดสรรรายได้เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์และทองคำ
เพื่อสร้างรายได้จากการให้เช่าตึก อาคาร ห้องพัก หรือ ขายสินทรัพย์ดังกล่าว เมื่อสินทรัพย์มีแนวโน้มราคาที่ดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการเก็งกำไรที่น่าสนใจทางหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม >> 5 ข้อต้องรู้ก่อนเป็นเจ้าของ อสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า <<
หากสามารถจัดสรรเงินเพื่อใช้จ่ายอย่างเหมาะสมและเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ในการสร้างรายได้เพิ่มเติมได้ดีแล้ว ก็จะทำให้ผู้ลงทุนมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงและดีขึ้น