อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการประกันชีวิตมีอยู่ในประเทศไทยมายาวนานแล้ว แต่ในยุคหลัง ๆ มานี้ ประกันชีวิตเริ่มมีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น อาจจะด้วยสาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น คนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น คนเริ่มเห็นถึงความไม่แน่นอนของสถานะการเงินของตัวเอง หรืออะไรก็แล้วแต่ ได้ส่งผลให้มีความสนใจที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องประกันชีวิตกันมากขึ้น
หลาย ๆ ครั้ง เราอาจจะรู้สึกว่าจะซื้อประกันทั้งทีทำไมมันยุ่งยากจัง เงื่อนไขก็เยอะ อ่านกรมธรรม์ก็ไม่รู้เรื่อง ทำให้หลายครั้งเราตัดสินใจซื้อประกัน เพราะเชื่อในตัวแทนที่มาขาย หรือ ซื้อเพราะง่ายในการซื้อ เช่น เดินเข้าธนาคารก็ซื้อได้แล้ว เป็นต้น ถ้าตัวแทนคนนั้นหรือเจ้าหน้าที่ธนาคารเข้าใจความต้องการของเราเป็นอย่างดี และมีความรู้ในแบบประกันที่หลากหลาย ก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ใช่ ก็อาจจะทำให้เราไม่ได้รับประกันที่ตรงความต้องการจริงๆ ก็เป็นได้
มันคงจะดีกว่าอยู่แล้ว หากวันนี้เรามีความเข้าใจเรื่องการทำประกันชีวิตที่ถูกต้อง และเมื่อมีตัวแทนมาเสนอขาย หรือเราจะเข้าไปซื้อที่ธนาคาร เราก็มีหน้าที่แค่ขอข้อมูลที่เรามีกรอบในใจอยู่แล้ว เพื่อมาเปรียบเทียบ และเลือกแบบประกันที่คิดว่าเหมาะกับเราที่สุดได้
ทำไมต้องทำประกันชีวิต
การทำประกันชีวิต จริง ๆ แล้วก็มีหลักการเดียวกันกับการทำประกันอื่นๆ เช่นประกันรถ ประกันหนี้ ประกันอัคคีไฟ ฯลฯ ประกันทุกประเภท คือการป้องกันความเสี่ยงในเรื่อง “เงิน” ซึ่งอาจจะมีไม่พอใช้จ่ายเมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน โดยเหตุการณ์นั้นจำเป็นต้องใช้เงินในการเยียวยาปัญหา
เราทำประกันรถยนต์ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่รถหาย จำเป็นต้องมีเงินไปใช้หนี้ธนาคารที่กู้มาซื้อรถ แม้ว่ารถจะหายไปแล้วก็ตาม หรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อซ่อมรถ,จ่ายค่ารักษาให้คู่กรณี และตัวเอง เป็นต้น
เราทำประกันชีวิต เพราะเมื่อเสียชีวิตจำเป็นต้องมีเงินเพื่อดูแลคนทางบ้านที่อยู่ในความปกครอง หรือใช้เงินเพื่อจ่ายหนี้ที่ตัวเองได้ก่อไว้โดยไม่ต้องรบกวนคนข้างหลัง เราทำประกันสุขภาพเพราะเมื่อเจ็บป่วยเราจำเป็นต้องมีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล
จะเห็นว่า ทั้งหมดคือเรื่องของความไม่แน่ใจว่าจะมี “เงิน” พอที่จะเยียวยาปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่คาดฝัน ได้หรือไม่นั่นเอง
ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยในเรื่องนี้ได้ คือการเตรียมเงินให้พร้อม ซึ่งสามารถเตรียมได้หลากหลายรูปแบบ เช่น โดยการฝากเงิน ซื้อกองทุน ซื้อสลากออมสิน ฯลฯ ซึ่งการออมเงินเหล่านี้ล้วนเป็นทางออกที่ดี ถ้าหาก …
- ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินในปริมาณที่มาก การกันเงินไว้เลยตั้งแต่แรกก้อนหนึ่ง ก็เป็นทางเลือกที่ดี
- ปัญหาที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องใช้เงินในปริมาณที่มาก แต่รู้แน่นอนว่าใช้จำนวนเท่าไหร่ และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถ้ารู้แบบนี้เราก็สามารถออมเงินโดยการทยอยฝากในธนาคาร สลากออมสิน ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอ แล้วเมื่อถึงเวลา ก็มีเงินครบพอดี ก็ถอนมาใช้ได้เลย ..
แต่ในโลกของความเป็นจริง เราไม่สามารถตอบได้ว่า จะป่วยเมื่อไหร่ และจะป่วยเป็นโรคอะไร เล็กน้อยหรือร้ายแรง แล้วต้องใช้เงินเท่าไหร่ … ประกันชีวิตและสุขภาพจึงถือกำเนิดเกิดขึ้น
ซื้อประกันอย่างไรให้คุ้ม
หากจะถามถึงความคุ้มค่าของการซื้อประกันชีวิตและสุขภาพ เมื่อมองในมุมของเงินที่จ่ายไป กับเงินที่จะได้รับจากการเคลม การที่จะคุ้มที่สุด ก็คือต้องรีบป่วย ต้องได้เคลมเยอะๆ เพราะจ่ายเงินไปนิดเดียว แต่มีคนจ่ายค่ารักษาให้เราแบบเต็มที่ … แต่ …ฟังดูแล้ว ไม่น่ารื่นรมณ์เลยใช่มั้ยคะ
หากเรามองความคุ้มของประกันจากการที่ได้เคลมบ่อย ๆ นั่นคือ เรากำลังมองในแง่การลงทุนหรือเปล่า
อ้าว ก็เราเสียตังค์ไปแล้ว เราก็ต้องได้คืนมาบ้างสิ ไม่งั้น เราจะซื้อประกันทำไม
การซื้อประกันหากจะดูเรื่องความคุ้มค่า ควรต้องวัดจากวัตถุประสงค์ของมันจริง ๆ อันดับแรก ต้องเข้าใจก่อนว่า วัตถุประสงค์หลักของการซื้อประกัน ไม่ใช่การลงทุน แต่คือ การป้องกันความเสี่ยง
เช่น เราซื้อประกันสุขภาพเพราะต้องการให้มีคนมาจ่ายแทนเรา เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราต้องเข้าโรงพยาบาล การรักษาอาจต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งตอนนั้นเราอาจจะมีเงินไม่พอเพื่อจ่าย ครั้นจะไม่รักษาก็ไม่ได้ เราจึงต้องการหลักประกันที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า ไม่ว่าตอนไหน เราจะมีหรือไม่มีเงิน เมื่อเราเจ็บป่วย เราจะมีเงินจ่ายค่ารักษาแน่นอน
ดังนั้น หากจะวัดความคุ้มค่าของการซื้อประกันชีวิตและสุขภาพ ต้องดูที่
- เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น เราจำเป็นต้องใช้เงิน บริษัทประกันต้องจ่ายเงินให้เราแน่ ๆ
- การเบิกเคลมสามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว
- เงื่อนไขต้องชัดเจน
- มีระบบให้ตรวจสอบได้
- บริษัทประกันต้องมั่นคง
อย่างไรก็ตาม เบี้ยที่จ่ายก็ควรจะสมเหตุสมผลกับความคุ้มครองด้วย ถ้าเบี้ยสูง ความคุ้มครองก็ควรต้องมาก หรืออาจจะต้องมี 5 ข้อ ที่กล่าวถึง ที่โดดเด่นกว่าเจ้าอื่น ๆ ด้วย