ก่อนที่เราจะเริ่มใช้บริการสินเชื่อต่างๆ จากธนาคารที่มีออกมามากมายเหลือเกิน เราน่าที่จะเรียนรู้เรื่องการคำนวณดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละแบบกันดูบ้าง เพื่อที่เราจะได้มีข้อมูลตัดสินใจในการเลือกทำหรือไม่ทำสินเชื่อที่ธนาคารต่างๆ มานำเสนอเรา
สินเชื่อที่ธนาคารเสนอบริการให้เราบ่อยนั้นก็จะมี สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อการซื้อรถยนต์ สินเชื่อจากบัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือจะเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ ซึ่งแต่ละแบบอัตราดอกเบี้ยและ วิธีคิดดอกเบี้ย ไม่เหมือนกัน เรามาลองดูวิธีคำนวณดอกเบี้ยของสินเชื่อกันเลย
สินเชื่อส่วนบุคคล
เริ่มที่สินเชื่อส่วนบุคคลก่อน สินเชื่อส่วนบุคคล คือ การที่เราได้รับเงินก้อนจากธนาคารสำหรับไว้ใช้จ่ายตามแต่เรื่องที่เราต้องการ ธนาคารจะอนุมัติให้ตามฐานเงินเดือนและภาระหนี้สินที่มีอยู่ เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ดังนั้นจึงทำให้ดอกเบี้ยที่คิดต้องแพงกว่าสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อรถยนต์ โดยจะมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ปีละ 28% หรือเวลาขายคนขายมักจะแปลงเป็นต่อเดือน เช่น ดอกเบี้ยเพียง 1.5% ต่อเดือน หรือดอกเบี้ยเพียง 0.99% ต่อเดือนเท่านั้นเอง การคิดดอกเบี้ยจะเป็นแบบลดต้นลดดอก คือ เงินที่เราจ่ายไปแต่ละเดือนจะนำไปจ่ายเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย
สินเชื่อจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด
อัตราดอกเบี้ยจะเหมือนกับสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะถือว่าเป็นสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันเหมือนกัน ธนาคารจะอนุมัติวงเงินตามบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด โดยพิจารณาจากฐานเงินเดือน ภาระค่าใช้จ่าย ประวัติการชำระหนี้ และถ้าเป็นสินเชื่อของธนาคารเดียวกันก็จะกำหนดเพิ่มเติมไว้ว่า ธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ให้กับลูกค้าต่อ 1 คน ได้ไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ธนาคาร A จะอนุมัติทั้งบัตรกดเงินสด บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับลูกค้าชื่อคุณ B ได้ไม่เกิน 300,000 บาท หากคุณ B มีเงินเดือนเท่ากับ 60,000 บาท
ส่วนการคิดดอกเบี้ยของบัตรกดเงินสดและบัตรเครดิตนั้นออกจะโหดอยู่สักหน่อย คือ จะคิดจากจำนวนเงินที่ใช้ในครั้งแรกเสมอจนกว่าเราจะชำระจำนวนเงินที่ใช้ครั้งแรกหมด เช่น
ถ้าเรากดเงินจากบัตรกดเงินสด เราจะถูกคิดดอกเบี้ยในวันรุ่งขึ้นทันทีและจะถูกคิดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจ่ายคืนให้หมด เช่น ถ้ากดเงินมา 10,000 บาท เราจะถูกคิดดอกเบี้ย 28% ต่อปีทันทีในวันรุ่งขึ้นและจะถูกคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันทุกวันจนกว่าเราจะใช้หมด ซึ่งถ้าเราจ่ายแค่ขั้นต่ำ เราก็ยังคงจะถูกคิดดอกเบี้ยที่ 10,000 บาทเรื่อยไปจนกว่าจะชำระคืนหมด ทีนี้ถ้าเราไม่อยากเสียดอกเบี้ยเยอะมาก ถ้าเรามีเงินจ่ายคืนธนาคาร เราก็สามารถไปจ่ายคืนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงรอบบิลที่จะชำระ เพราะธนาคารจะคำนวณดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าเป็นบัตรเครดิต เช่น เราใช้บัตรเครดิตในการรูดซื้อสินค้าจำนวน 10,000 บาท เราจะถูกคิดดอกเบี้ย 28% เหมือนกัน แต่จะถูกคิดในวันแรกที่เกินวันครบกำหนดชำระเงิน เพราะฉะนั้นถ้าเราซื้อของมา 10,000 บาท และจ่ายคืน 10,000 บาททันทีที่ถึงกำหนดจ่ายคืน เราจะไม่เสียดอกเบี้ยสักบาท แต่ถ้าหากเราจ่ายแค่ขั้นต่ำเราก็จะถูกคิดดอกเบี้ยที่จำนวนเงิน 10,000 บาทไปทุกเดือนจนกว่าจ่ายหมด
สินเชื่อเพื่อทีอยู่อาศัยและสินเชื่อเอนกประสงค์ที่ใช้บ้านหรือที่ดินเป็นหลักประกัน
มีวิธีการคิดดอกเบี้ยที่เหมือนกัน แต่ต่างกันที่อัตราดอกเบี้ยโดยสินเชื่อเพื่อทีอยู่อาศัยจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ 5-7% ต่อปี หรืออาจจะถูกกว่านี้ก็แล้วแต่โปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร ส่วนสินเชื่อเอนกประสงค์ที่ใช้บ้านหรือที่ดินเป็นหลักประกันนั้นจะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 8-12% ต่อปี ส่วนการคำนวณจะเป็นแบบลดต้นลดดอกเบี้ย คือ ถ้าเรามีเงินมาจ่ายค่างวดในแต่ละเดือนสูงกว่าที่ธนาคารคำนวณให้ก็จะทำให้เงินต้นเราลดลง ดอกเบี้ยก็จะลดลงตามด้วย
สินเชื่อสำหรับการซื้อรถยนต์
จะคำนวณดอกเบี้ยครั้งแรกเพียงครั้งเดียวแล้วค่อยนำมาหารเป็นจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนตามจำนวนเดือนที่เราตกลงกับธนาคาร เช่น เราซื้อรถยนต์ราคา 850,000 บาท เราจ่ายเงินดาวน์ที่ 25% หรือ 212,500 บาท เราก็เหลือเงินที่จะต้องผ่อนกับธนาคารอีก 637,500 บาท ธนาคารก็จะใช้เงินจำนวนที่เหลือมาคูณกับอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3% ต่อปี ถ้าเราผ่อน 4 ปี ก็ต้องเอามาคูณด้วยแล้วค่อยหารด้วย 48 เดือนเราก็จะได้จำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่อเดือนประมาณ 14,875 บาท เพราะฉะนั้นการนำเงินสดมาโปะสินเชื่อรถยนต์นั้น มักจะไม่ได้ประโยชน์อะไรสักเท่าไร เพราะดอกเบี้ยจะถูกคิดไปตั้งแต่วันแรกที่คำนวณจำนวนเงินผ่อนไปแล้ว
เมื่อเรารู้วิธีคำนวณดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละแบบไปแล้ว เราก็สามารถใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกที่จะทำหรือไม่ทำสินเชื่อตามความจำเป็นของเราได้ แต่อย่าลืมว่าต้องเลือกการขอสินเชื่ออย่างมีสติและจำเป็นที่สุด เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องกังวลในเรื่องอิสรภาพทางการเงินของเราด้วย