เงินเก็บหรือเรียกอีกอย่างว่า “ เงินออม ” เป็นส่วนของเงินสะสมที่มีแหล่งที่มาจากหลายแหล่ง เช่น เงินเดือนประจำ เงินได้จากงานพิเศษ เงินได้จากโบนัส เงินได้จากการให้โดยเสน่หา เงินได้จากการขายทรัพย์สิน เงินได้จากการถูกรางวัล เป็นต้น ซึ่งการได้เงินจากแหล่งใดไม่สำคัญเท่ากับการรู้จักนำเงินที่ได้มาจัดสรรเพื่อใช้ในส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
โดยเงินได้ทั้งหมดควรแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ เพื่อการดำรงชีพ เพื่อใช้ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อใช้จ่ายซื้อของที่ต้องการในโอกาสพิเศษและเพื่อการออมสำหรับการลงทุน การจัดสรรเงินสำหรับแต่ละส่วนของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ ฐานะการเงินและแนวความคิดในการให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่ากัน ปัจจัยเหล่านี้สามารถบ่งชี้ถึงปริมาณเงินออมได้ทางหนึ่ง
เงินออมเพื่อการลงทุน ควรมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยประมาณ 40-60% ของรายรับทั้งหมด หากใช้อายุเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน
- ช่วงอายุ 22 ปี ถึง 30 ปี
จะเห็นว่าช่วงอายุ 22 ปี ถึง 30 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ที่เริ่มต้นทำงาน จะมีรายรับและรายจ่ายไม่มากนัก จึงควรเน้นการออมเงินเพื่อการลงทุนให้มากที่สุด คือ ประมาณ 50% ของรายรับทั้งหมด ( หรืออาจเพิ่ม หรือลดไม่เกิน 5% ) ขึ้นอยู่กับการบริหารการเงินของแต่ละคน โดยควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง ( แต่ความเสี่ยงสูงตามไปด้วย ) เนื่องจากเป็นวัยที่ชอบเสี่ยง ชอบความท้าทาย สามารถเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ เปลี่ยนงานได้ตลอด หากให้รายได้มากกว่าที่เดิม มีช่วงเวลาหลายปีในการหารายได้ ดังนั้น จึงเป็นวัยที่เหมาะในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น กองทุน ทอง ในสัดส่วนประมาณ 80% ของเงินออมเพื่อการลงทุน (ทั้งนี้ขึ้นกับความสามารถรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล) ส่วนที่เหลือ ลงทุนในเงินฝาก กองทุนตลาดเงิน
- วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง อายุตั้งแต่ 31 ปีขึ้นไป
เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง อายุตั้งแต่ 31 ปีขึ้นไป จะมีวุฒิภาวะด้านต่าง ๆ เต็มที่ มีความพร้อมในการสร้างครอบครัวและรับผิดชอบบุคคลอื่นเพิ่มขึ้น จึงมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น สัดส่วนการออมเพื่อการลงทุนอาจลดลงเหลือ 40 % ของรายรับทั้งหมด และเน้นการกระจายความเสี่ยง โดยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง (หุ้นสามัญ ทอง ) ประมาณ 40% ของเงินออมเพื่อการลงทุน เลือกลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง (หุ้นกู้เอกชนที่มีการจัดอันดับดีมากหรือดีปานกลาง) ประมาณ 30% ของเงินออมเพื่อการลงทุน และส่วนที่เหลือ 30% ของเงินออมเพื่อการลงทุน ควรลงทุนในเงินฝากระยะสั้นหรือกองทุนเปิดความเสี่ยงต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่เงินต้นที่ลงทุนจะไม่สูญหายและเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้รวดเร็วเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน
- วัยใกล้เกษียณ
แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ การออมเพื่อการลงทุนควรมีสัดส่วน 60% ขึ้นไป ของรายรับทั้งหมด เนื่องจากเป็นช่วงวัยแห่งการพักผ่อนหลังจากการทำงานเกือบ 40 ปี ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เริ่มน้อยลง ลูกหลานเริ่มโตสามารถหารายได้เพื่อเลี้ยงตนเองได้ การลงทุนควรเน้นด้านความเสี่ยงปานกลางและต่ำมากที่สุด ประมาณ 90 % และลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงประมาณ 10% เพราะเป็นวัยที่ไม่มีรายได้หลักจากงานประจำได้แล้ว มีเพียงเงินบำนาญเท่านั้น
การสร้างผลตอบแทนให้กับเงินออม เพื่อไม่ให้มูลค่าด้อยลงตามภาวะเงินเฟ้อ มีเทคนิคที่ควรรู้ก่อนการนำเงินออมไปลงทุน ดังนี้
1.ทราบความต้องการของตนเองในการลงทุน
ต้องตัดสินใจว่า จะออมเงินเพื่อการลงทุนจำนวนเท่าใดของรายรับทั้งหมด โดยการออมดังกล่าวจะต้องไม่กระทบกับสภาพคล่องทางการเงินของผู้ออม หากเกิดความจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้เงินมากกว่าที่คาดว่าจะใช้จ่ายในแต่ละวัน ต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องการได้รับผลตอบแทนเท่าใด พร้อมทั้งสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยเพียงใด เพราะการลงทุนทุกประเภทยกเว้นเงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล ย่อมมีความเสี่ยงไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังและบางครั้งอาจจะขาดทุนเกินเงินลงทุนก็ได้
- แสวงหาแหล่งการลงทุน และ กระจายการลงทุน
แหล่งการลงทุนสำหรับนักออมเงินมีหลายแหล่งด้วยกัน ทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดตราสารอนุพันธ์ ตลาดซื้อขายล่วงหน้า บริษัทกองทุน ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง บริษัทประกันชีวิต รวมถึง การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และลงทุนในทองคำ ทำให้ผู้ออมมีทางเลือกหลากหลายในการหาแหล่งการลงทุนที่เหมาะกับพฤติกรรมการลงทุนของตนเองได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามการลงทุนเพียงแหล่งเดียวหรือเลือกลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเดียว หากภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ตั้งใจไว้ ดังนั้นวิธีการลงทุนที่ดีที่สุด ลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงสูง ปานกลางและต่ำ โดยให้กระจายน้ำหนักการลงทุนตามความเหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ลงทุน ความพร้อมทางสภาวะทางการเงิน ผลตอบแทน ความเสี่ยง ระยะเวลาครบกำหนดของสินทรัพย์ที่ลงทุน สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้ผู้ลงทุนสามารถลดความเสี่ยงและได้ผลตอบแทนใกล้เคียงที่คาดหวังมากที่สุด
- ใช้ประโยชน์จากการลงทุนเพื่อการลดภาษี
การลงทุนบางประเภทสามารถลดหย่อนภาษีได้ เช่น การลงทุนในบริษัทประกันชีวิต (ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ) การลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์ ( LTF RMF) การลงทุนในเงินฝากประเภทไม่เสียภาษี ( เงินฝากประจำ 24 เดือน เงินฝากพิเศษของธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย ) เป็นต้น การลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ นอกจากสร้างผลตอบแทนจากเงินออมที่ลงทุนแล้ว ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติม ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฐานภาษีที่คิดจากเงินได้ของผู้ลงทุนเป็นหลัก เช่น
- ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 100,000 บาท
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (บริษัทนายจ้างจะสมทบเงินเข้ากองทุนให้ลูกจ้างแต่ละรายประมาณ 10 % ของเงินเดือน และลูกจ้างสามารถสะสมเพิ่มเติมได้ตั้งแต่ 3%-15% ของเงินเดือน ) ในส่วนเงินที่ลูกจ้างสมทบเข้ากองทุนฯ
- และรวมกับ หน่วยลงทุน RMF แล้ว สามารถลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท
- หน่วยลงทุน LTF สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เป็นต้น
หากผู้ลงทุนเลือกลงทุนในแหล่งดังกล่าว ก็จะได้รับประโยชน์สองเท่า อย่างไรก็ดีการลงทุนใน LTF หรือ RMF ผลตอบแทนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงควรลงทุนอย่างระมัดระวังโดยต้องศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนทุกครั้ง
- บริหารสภาพคล่องทางการเงินจากประโยชน์ที่ได้รับจากบัตรเครดิต
ผู้ลงทุนที่มีบัตรเครดิตสามารถซื้อหน่วยลงทุน LTF หรือ RMF โดยใช้เงินในอนาคตได้ (วงเงินเครดิตในบัตรเครดิต) ซึ่งสิ่งนี้สามารถทำให้ผู้ลงทุนเพิ่มโอกาสในเงินส่วนลงทุนซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวไปลงทุนอย่างอื่นได้เพิ่มเติมในช่วงเวลา 45 วัน (รอบระยะเวลาเรียกชำระ) อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนจะต้องมีวินัยในการชำระหนี้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุผิดพลาดต้องผิดนัดเสียดอกเบี้ยมากกว่าผลตอบแทนที่ได้รับ
การ ลงทุนจากเงินออม จะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพราะอนาคตคือความไม่แน่นอน ภาวะตลาดโลก เศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ สามารถแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ที่เริ่มลงทุนก่อนภายใต้ความรู้ความเข้าใจ ทราบข้อมูลแหล่งลงทุนและจัดสรรกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม ย่อมเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนจากเงินออมมากที่สุด
อ่านเพิ่มเติม >> เปลี่ยนเงินออม มา ลงทุนทอง ดีอย่างไร ? <<