ประเทศกัมพูชา หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรกัมพูชา เรารู้จักกันดีในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ ) และเป็นหนึ่งใน 10 ของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งกัมพูชาเป็นประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมกับอาเซียน เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 กัมพูชาเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นายกคนปัจจุบันคือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน
ถ้าพูดถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา หลายคนก็คงจะมองกัมพูชาเป็นประเทศที่มีการพัฒนาล้าหลังประเทศอื่นๆในอาเซียน ประชาชนมีรายได้ต่อหัวต่ำ กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะเป็นเกี่ยวกับการเกษตร และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก อีกทั้งการเมืองในประเทศก็มีความขัดแย้งกันเรื่อยมา ทำให้ประเทศนั้นขาดความมั่นคงในการบริหารจัดการ เศรษฐกิจก็พลอยที่จะตกต่ำไปด้วย นี่ก็เป็นบริบทที่ใครหลายคนก็จะพอเข้าใจกันอยู่บ้าง
ถึงแม้ว่าจะมีเหตุการณ์ความไม่สงบ ประเด็นของความขัดแย้งทางการเมืองภายใน และประเด็นของความมั่นคงภายนอก (กรณีข้อพิพาทดินแดนเขาพระวิหารกับไทย) มีความวุ่นวายอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างนั้น กัมพูชาก็ยังพยายามประคับประคองเศรษฐกิจและพยายามใช้นโยบายในการบริหารประเทศเรื่อยมา ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจของกัมพูชาในอดีตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา รัฐบาลกัมพูชาก็มีนโยบายที่ปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศ จากนั้นมาไม่นาน กัมพูชาก็มีการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศให้เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงปี พ.ศ. 2540 กัมพูชาก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้การท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติลดน้อยลง แถมยังประสบกับสงครามการต่อสู้การเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อมานาน จนแล้วจนรอดปัญหาดังกล่าวก็ถูกคลี่คลายและสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2542 ในรอบ 30 ปี จึงทำให้กัมพูชานั้นได้มีโอกาสในการฟื้นฟูประเทศอีกครั้ง แต่ด้วยความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้นจากความไม่สงบภายใน ทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ น้ำ ไฟฟ้า ถนน ฯ นั้นยังไม่ทั่วถึง ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นขาดทักษะในการทำงาน ขาดการศึกษาที่ดี มีรายได้ต่ำ เพราะขาดความรู้ในการประกอบอาชีพนั่นเอง
แต่ในระยะหลังๆเวลาไม่กี่ปีมานี้ กัมพูชาก็มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นอาจจะเป็นเพราะ มีการแข่งขันในตลาดอาเซียนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น จึงทำให้รัฐบาลกัมพูชาเห็นความสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ รัฐบาลมีนโยบายชัดเจน ทั้งการเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมและเขตเมืองมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ การให้การศึกษาแก่ประชาชนในประเทศทั้งทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพ หรือ แม้แต่การศึกษาความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ถ้าใครได้มีโอกาสไปเที่ยวกัมพูชาบ่อย ๆ จะพบว่า เด็กที่กัมพูชาพูดภาษาอังกฤษได้เก่งกว่าเด็กไทยเสียอีก แบบนี้ก็ทำเอาผู้ใหญ่อย่างเราๆอึ้งไปตามๆกัน เมื่อสิ่งต่างๆกำลังจะเปลี่ยนไป สิ่งไหนที่ไม่ดีล้าสมัยก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนากันบ้าง
ฉะนั้นแล้ว ถือว่ากัมพูชาก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ผู้ประกอบการในไทยจะเข้าไปเจาะตลาดใหม่ในกัมพูชา เพราะกัมพูชาเองก็มีนโยบายที่สนับสนุนและดึงดูดนักลงทุน เงินลงทุนจากต่างชาติเพิ่มมากขึ้น อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่ามีการพัฒนาในส่วนของระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนและเพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้น ธุรกิจที่น่าจะมีโอกาสไปได้ไกลในกัมพูชา ก็ต้องเกี่ยวข้องกับความจำเป็นพื้นฐานทั้งหลายในเบื้องต้นก่อน ไม่ว่าจะเป็น สินค้าในกลุ่มของอาหาร ข้าว ผัก ผลไม้ สินค้าอุปโภคบริโภค อย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยารักษาโรค ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ที่ไม่จำเป็น อาจจะยังไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่นัก เพราะเกินกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ จะเห็นว่า ตามตลาดแถวชายแดนไทย-กัมพูชานั้น ยังมีการลักลอบขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์กันอยู่และเป็นแหล่งขายสินค้ามือสองซะส่วนใหญ่ นั่นเป็นเพราะว่า ผู้ซื้อต้องการสินค้าที่ราคาถูกและสามารถใช้งานได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงคุณภาพมากมายนัก ถ้าใช้งานไม่ได้แล้วก็จะซื้ออันใหม่ เป็นต้น
อีกธุรกิจที่น่าจะรุ่งก็คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและตกแต่ง เพราะกัมพูชายังถือว่าขาดในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และอยู่ในช่วงที่ต้องการพัฒนาประเทศให้มีความพร้อมทัดเทียมประเทศอื่นๆในอาเซียน มีการขยายเขตเมืองมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างศูนย์การค้า ธุรกิจที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ รับเหมาก่อสร้าง อย่างบ้าน ที่อยู่อาศัย ก็น่าสนใจ
การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา ก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีแนวโน้มที่จะสร้างความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนจากไทยได้ไม่น้อย เพราะต้นทุนในการผลิตต่ำ มีทรัพยากรมากมาย อีกทั้งประเทศเหล่านี้ ยังมีความต้องการสินค้าที่มีความจำเป็นสูง โอกาสที่ไทยจะขยายตลาดส่งออก สินค้าที่เกี่ยวกับ การอุปโภคบริโภคพื้นฐาน ต่างๆก็ง่ายและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ เพราะฝั่งของประเทศเพื่อนบ้านเองก็ให้ความไว้วางใจในคุณภาพการผลิตของไทยมากกว่าประเทศจีนที่สินค้าบางอย่างอาจจะมีราคาที่ถูกกว่าก็ตาม ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการของไทย สร้างแบรนด์ของตัวเองให้มีความแข็งแกร่ง สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ ก็มีความหวังว่าจะมีโอกาสรอดในประเทศเพื่อนบ้านและสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในอาเซียนให้ดีขึ้นได้.
- อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.thairath.co.th/content/631178
- โดยผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ