เมื่อเราดูบุพเพสันนิวาส สิ่งหนึ่งที่เราคงจะได้เห็นในละคร ก็คือ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เน้นไปในทางเกษตรกรรม และการค้าขาย ส่วนพวกชนชั้นสูง ก็จะเป็นข้าราชการ รับใช้พระมหากษัตริย์ไปเลย แต่ด้วยความสงสัยของตัวผู้เขียนเองว่า สมัยก่อนมีการลงทุนเพื่อหาสินทรัพย์เพิ่มเติม เหมือนอย่างที่คนสมัยนี้นิยมทำกันหรือไม่ และหลังจากที่ไปหาคำตอบมา ก็ได้ผลเป็นดังนี้
ด้วยความที่เป็นสังคมเกษตรกรรม ทำให้ในสมัยก่อน ชาวอยุธยาจะนิยมหารายได้ด้วยการค้าขายผลหมากรากไม้ในสวน หรือไม่ก็จับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำในสวน หรือแม่น้ำลำคลองขึ้นมาขาย และด้วยความที่เวลาชาวอยุธยาทำสวนแต่ละครั้ง ก็จะปลูกไว้ทีละเยอะๆ จนไม่ใช่แค่ขายได้ แต่ยังสามารถเลี้ยงตัวเองไปได้ด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับคนในสมัยอยุธยา แม้จะมีรายได้ไม่มาก แต่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยสิ่งของที่มีอยู่ในนาของตน การลงทุนเพิ่มเติม จึงมีเกิดขึ้นมาบ้าง และส่วนใหญ่ก็เป็นการลงทุนแบบง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน
การลงทุนในสมัยอยุธยา
ส่วนใหญ่จะเป็นการเพาะปลูกสิ่งต่างๆ เพิ่มเติมในพื้นที่ที่บุคคลผู้นั้นเข้าถือครองเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การปลูกพืชสวนเพิ่มเติม นอกเหนือจากการทำนาเพียงอย่างเดียว โดยในยุคตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นยุคที่ยังเก็บภาษีแยกกัน นาส่วนนา สวนส่วนสวน เพราะฉะนั้นเจ้าของที่ดินจึงสามารถลงทุนเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่ เงินลงทุนนั้นจะเสียไปกับค่าภาษีต่างๆ ซึ่งเมื่อคิดหักกับรายได้ต่างๆ ก็นับว่าคุ้มค่า แต่เมื่อเข้าสู่รัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏว่ามีการแก้กฎหมายให้เก็บภาษีที่นาแบบเต็มผืน สมมติว่ามีที่ 25 ไร่ แม้จะใช้ทำนาเพียงแค่ 5 ไร่ ก็จะถูกเก็บภาษีนาทั้งหมด 25 ไร่ การที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงออกกฎหมายเช่นนี้ ก็เพื่อจะบังคับให้ประชาชนต้องทำนาจนเต็มพื้นที่ เนื่องจากในขณะนั้นเป็นช่วงที่ข้าวขาดแคลน การออกกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้การลงทุนเพาะปลูกอย่างหลากหลายลดลงไป จนกระทั่งในช่วงปลายรัชกาล มีการแก้กฎหมายให้มีความยุติธรรมมากขึ้น การเพาะปลูกแบบหลากหลายจึงกลับมาอีก
นอกเหนือจากการเพาะปลูก ยังปรากฏอีกว่าชาวอยุธยานิยมทำอย่างอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติมด้วย เช่น การลงทุนทำโลหะ เป็นช่างทอง ช่างทองเหลือง ช่างมีด ตัวอย่างก็เช่นจีนฮง ในละครบุพเพสันนิวาส ที่เปิดร้านตีเหล็ก แล้วแม่การะเกดไปสั่งทำกระทะหมูกระทะนั่นเอง มีหลักฐานว่าสมัยอยุธยา ผู้คนในแถบที่สามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ ต่างนำโลหะมาใช้ทำเครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้ และอาวุธเพื่อการวางขายเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเพาะปลูกอย่างปกติ ด้วยเหตุนี้ ชาวอยุธยาจึงมีกิจกรรมการลงทุนที่หลากหลาย สามารถหาเงินเข้ากระเป๋าของตนได้ในเวลาอันรวดเร็ว
การลงทุนอีกอย่างที่ชาวอยุธยามักทำกัน นั่นก็คือ การทอผ้า หลายคนอาจจะคิดว่าผ้าในสมัยอยุธยา ต้องเป็นของที่มาจากต่างประเทศเท่านั้น แต่อันที่จริง ในอยุธยาเองก็มีการปักผ้าบางชนิดจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น และทรัพยากรที่จะเอามาใช้ปักผ้านั้นก็มีทั้งจากสวนของตนเอง และลงทุนซื้อจากที่อื่นๆ กว่าจะได้อุปกรณ์ที่เพียงพอแก่การทอผ้าก็นับว่าลงทุนมากพอควร แต่เมื่อทอผ้าเสร็จแล้วส่งขาย พอหักภาษาการขายของในตลาดไปแล้ว ก็นับว่าถอนทุนคืนได้ทั้งหมด
ส่วนเรื่องการเก็งกำไรสิ่งของเพื่อให้เพิ่มมูลค่าในอนาคต
ไม่ปรากฏว่าชาวอยุธยาจะทำกัน ส่วนใหญ่เท่าที่พบก็คือ เมื่อได้สิ่งของมีค่ามาแล้ว เจ้าทรัพย์จะปล่อยของนั้นออกไปในเวลาไม่นาน ทำให้ราคาของที่ขายได้จะเท่ามูลค่าเดิม หรืออาจสูงกว่าเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับความหายากของสิ่งของนั้น ความแปลกประหลาดของสิ่งของนั้น และความสวยงามต่างๆ ตัวอย่างการได้ของมาแล้วขายไป ก็อย่างเช่นพระยาโกษาเหล็กในละครบุพเพสันนิวาส ท่านมักจะได้ของกำนัลที่เป็นของมีค่าต่างๆ อยู่เสมอ เมื่อได้มาแล้วก็ขายไป ทำให้ท่านมีรายได้มากอยู่พอสมควร แต่ทีนี้ หลายคนอาจจะถามอีกว่า ถ้ารีบขายไป แล้วมันไม่เท่าทุนก็ไม่ล่มจมหรือ ขอให้ท่านโปรดอย่าลืมว่า สิ่งของที่โกษาเหล็กได้มานั้นล้วนแต่เป็นของบรรณาการ ท่านไม่ได้ลงทุนซื้อเอง เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่า ราคาของที่ขายไปนั้นจะเท่าทุน ขาดทุน ได้กำไรประการใด เพราะท่านไม่ได้ลงทุนเลยแม้แต่แดงเดียว ดังนี้เป็นต้น
การลงทุนในสมัยอยุธยา หลักๆ ก็จะมีอยู่เพียงเท่านี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการลงทุนแบบง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ต้องมาคอยคำนวณหุ้น หรือวิเคราะห์ของเก็งกำไรว่าราคาจะขึ้นหรือจะตก ไม่ต้องคร่ำเครียดกับทอง หรือราคาหุ้นที่หล่น ขึ้นดอยอยู่ทุกวันอ่างเช่นปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสมัยอยุธยาก็มีจุดอ่อนอยู่คือ การที่จะได้กำไร หรือเติบโตในทุนนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากชาวอยุธยาไม่ได้เคร่งเครียดเรื่องกำไร ขาดทุน เหมือนอย่างสมัยรัตนโกสินทร์ ได้เท่าไร ก็ขายไปเท่านั้น หากนำหลักการนี้มาใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ต้องแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา ก็เห็นว่าจะต้องล่มจม แต่สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนสมัยนี้ได้ ก็คือ การปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามเหตุปัจจัย เราแค่คอยประคองไม่ให้การลงทุนของเรามันล่มจมก็พอ อย่าคิดแต่จะเอาให้ได้กำไรอย่างเดียว แล้วก็เคร่งเครียดไปต่างๆ นาๆ เมื่อถึงเวลา มันก็จะมาเอง
- ที่มา : เอกสารประกอบการเรียน เรื่องเศรษฐกิจ “บทที่ 3 สมัยอยุธยา” มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- https://pantip.com/topic/32800034