ระบบการศึกษาของไทยในวัยเด็ก ไม่ค่อยได้มีการสอนเรื่องเงินๆทองๆ ไม่ค่อยมีการปลูกฝังนิสัยการเก็บออมเงินให้กับเด็ก ยิ่งกว่านั้นพ่อแม่บางคนยังส่งเสริมนิสัยเกี่ยวกับการเงินให้ลูกแบบผิดๆ เช่น ซื้อของเล่นแพงๆให้ลูก ตามใจลูกทุกอย่าง ไม่ว่าลูกอยากได้อะไร จำเป็นหรือไม่จำเป็น พ่อแม่จะประเคนให้ลูกทุกอย่าง โดยไม่รู้ตัวว่า การทำแบบนั้นเป็นการทำร้ายลูก หากการซื้อของเล่นให้ลูก การตามใจลูกในเรื่องเงินทองเป็นสิ่งที่ผิด ที่ถูกต้องนั้นจะต้องทำอย่างไร และจะเริ่มปลูกฝังนิสัยการเงินที่ดีให้กับลูกได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่
พ่อแม่สามารถสอนลูกเรื่องการเงินได้ตั้งแต่เด็กๆ เริ่มตั้งแต่เขาสามารถสื่อสารกับเราได้ วิธีการสอนที่ดีที่สุดคือ การทำให้ลูกดู การเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น ตอนเป็นเด็กเล็กเมื่อเห็นเด็กเล่นขายของ พ่อแม่ก็สามารถเข้าไปเล่นด้วย เล่นไปตามสมมติกับเขาด้วย เด็กอาจใช้ก้อนหินเป็นสินค้า ใช้ใบไม้แทนเงิน เมื่อเด็กขายของได้ พ่อแม่ก็สอนให้เด็กรู้จักเก็บซ่อนใบไม้เอาไว้ หรือถ้าจะต้องจ่ายใบไม้ออกไป ก็บอกให้เขาต้องเก็บใบไม้เอาไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ให้จ่ายเงินใบไม้ออกไปทั้งหมด และสอนเขาว่า ระวังอย่าทำหาย เก็บไว้ให้ดีๆ เพราะอาจมีคนอื่นมาขโมยไป
เมื่อลูกโตขึ้น ไปโรงเรียนได้แล้ว เมื่อพ่อแม่ให้เงินลูกไปซื้อขนมที่โรงเรียน ให้สอนเขาว่า ต้องแบ่งเงินที่ได้เป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเอาไว้ซื้อขนมกินสำหรับวันนี้ อีกส่วนหนึ่งจะต้องเหลือเอามาเก็บไว้ เก็บใส่กระปุกออมสิน หรือสะสมไว้ฝากธนาคาร และทุกครั้งที่เขาเหลือเงินกลับมาบ้านหรือหยอดกระปุกออมสิน พ่อแม่ต้องแสดงความชื่นชม อาจเป็นการเข้าไปกอดหรือพูดจาชม ให้เด็กได้รับการเสริมแรงทางด้านจิตใจด้วย ก็จะทำให้เด็กรู้จักเก็บออมเงินตั้งแต่เด็กๆ
เมื่อเด็กโตขึ้นถึงระดับมัธยม เขาอาจขอเงินเป็นรายสัปดาห์ พ่อแม่ก็ต้องยังคงกฎกติกาเดิมคือ ลูกต้องแบ่งเงินเป็น 2 ส่วนเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งไว้ใช้ และอีกส่วนหนึ่งต้องเหลือเอามาเก็บ ในวัยที่เด็กโตมากแล้ว เขาจะสังเกตเรื่องการใช้เงินของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องวินัยการเงิน การซื้อชิ้นใหญ่ๆของเข้าบ้าน เช่น โทรทัศน์ รถยนต์ มอเตอร์ไซด์ หรือสิ่งของใดๆที่ซื้อในโอกาสพิเศษ ต้องอธิบายถึงความจำเป็น และสัดส่วนรายรับกับรายจ่าย เพื่อให้ลูกได้เห็นว่า สิ่งที่พ่อแม่สอนลูกไปนั้น พ่อกับแม่ก็ต้องทำเหมือนกัน แม้ว่าลูกๆจะยังไม่ใช่ผู้ใหญ่ ยังเป็นวัยที่หาเงินเองไม่ได้ พ่อแม่ก็ต้องเคร่งครัดกับเรื่องการใช้จ่ายเงินของเขา ต้องตรงไปตรงมา ไม่ว่าพ่อแม่จะมีเงินร่ำรวยแค่ไหนก็ตาม ก็ต้องสอนลูกเรื่องการใช้เงินอย่างเป็นเหตุเป็นผล หากพ่อแม่มีรายได้น้อย หาเงินมาไม่พอจ่าย ครอบครัวเข้าขั้นขัดสน ก็ต้องบอกความจริงให้ลูกรับรู้ ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะอายเพื่อนๆ อย่าไปคิดแทนเด็ก ทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันประหยัดและประคับครองฐานะการเงินของครอบครัว
อ่านเพิ่มเติม : เปลี่ยนวัยเรียนเป็นนักออม มีเงินเก็บแบบภาคภูมิใจ
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญต่อการปลูกฝังเรื่องการเงินกับลูกๆคือ เงินในส่วนที่เหลือเก็บของลูกๆ พ่อแม่ไม่ควรนำมาใช้เพราะคิดว่า เงินลูกลูกก็คือเงินของพ่อแม่ โดยเฉพาะกับเด็กโต ให้บอกกับลูกว่า เงินที่เหลือเก็บนั้น เป็นเงินของลูก หรือเงินที่ลูกใช้เหลือ ส่วนที่เหลือนั้นเป็นของลูก และพ่อแม่ต้องไม่นำเงินส่วนนี้ของลูกมาใช้เด็ดขาด หากจำเป็นต้องหยิบยืม ก็ให้ทำอย่างถูกต้องคือ มีการพูดจา สัญญากันว่าจะนำมาคืนเมื่อไหร่ เพราะถ้าพ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกๆรู้จักเก็บเงิน แล้วลูกๆไม่มีสิทธิในเงินนั้น หรือไม่ได้รู้สึกว่าตัวเขาเป็นเจ้าของเงินอย่างแท้จริง สิ่งที่ปลูกฝังมาอาจพังครืนลงมาก็ได้
สรุปคือพ่อแม่สามารถปลูกฝังนิสัยการออมเงินให้ลูกได้ตั้งแต่เด็กๆ โดยใช้หลักการและกติกาง่ายๆคือ เมื่อเด็กๆได้เงินมา ต้องแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งไว้ใช้ อีกส่วนหนึ่งต้องเอามาเก็บ และเงินที่เด็กเก็บไว้จะต้องเป็นของเด็กโดยสมบูรณ์ พ่อแม่จะไปเอามาใช้ไม่ได้ การปลูกฝั่งด้วยวิธีง่ายๆแค่นี้ จะส่งผลดีต่อนิสัยทางการเงินของลูกอย่างแน่นอน