ในชีวิตการใช้เงินของผม (และอาจจะสำหรับคนอื่น ๆ ด้วย) คงไม่มีปัญหาอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าปัญหาการออมเงินเลย ไม่ว่าจะได้รับเงินมาเท่าไร ก็ดูเหมือนว่าจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มารออยู่เต็มไปหมด ไหนจะพ่วงมาด้วยสิ่งของต่าง ๆ ที่มาล่อตาล่อใจกันมากมาย จนรู้ตัวอีกทีก็พบว่า เงินที่มีในธนาคารนั้นเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่อาจจะทำอะไรได้นอกเหนือจาก นั่งเสียดายเงินที่เคยมีอยู่เท่านั้น
ผมมีวัฏจักรการใช้เงินในลักษณะนี้มาเป็นเวลานาน และมันก็สร้างปัญหาให้กับผมอยู่ทุกเดือน ยิ่งเดือนไหนมีธุระต้องใช้เงินมากด้วยแล้ว สถานการณ์ในเดือนนั้นก็เรียกได้ว่าย่ำแย่ ตราบจนกระทั่งเมื่อผมได้ลองหันมาศึกษาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างจริงจัง และได้พบว่า มีพระราชดำรัสหลายเรื่องที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และตัวผมก็ได้นำมาปรับใช้ ดังจะขอยกตัวอย่างต่อไปนี้
พระราชดำรัสแรกที่ผมจะขอหยิบยกมานั้น เป็นพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม 2502 ความว่า
“การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”
พระราชดำรัสนี้ เป็นพระราชดำรัสตัวแรก ๆ ที่ผมได้นำมาขบคิด และประยุกต์ใช้ตาม เนื่องจากอย่างที่บอกไปว่า เมื่อก่อนผมเป็นคนใช้เงินค่อนข้างเยอะ อยากได้อะไรก็ซื้อ แล้วก็ต้องมาลำบากยามที่ต้องใช้เงินทุกที แต่เมื่อผมได้อ่านพระราชดำรัสตัวนี้ ก็ทำให้ได้คิด และหันมาใช้เงินให้น้อยลง และเป็นประโยชน์มากขึ้น ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยมากเหมือนเมื่อก่อน ผลก็คือในปัจจุบัน ผมมีเงินเดือนเหลือใช้เวลาจำเป็นมาก เวลาที่ต้องจ่ายเงินเพื่อสิ่งจำเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็มีจ่ายตลอดแล้ว ไม่ต้องลำบาก หรือยืมเงินคนอื่นเหมือนเมื่อก่อน เรียกได้ว่า ตรงตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตรัสไว้จริง ๆ
พระราชดำรัสประการถัดมาที่ผมนำมาใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิต เป็นพระราชดำรัสที่พระองค์ทรงพระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2518 ความว่า
“ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้องทุนแต่ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระวัง เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลง ๆ จนหมด”
ข้อนี้ ถือเป็นอีกข้อหนึ่งที่ผมนำมาปรับใช้มากที่สุด โดยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินจากที่ได้เท่าไร ก็ใช้เท่านั้น จนในที่สุดเงินก็หมด เปลี่ยนมาเป็นการนำเงินฝากธนาคาร แล้วถอนเอาแต่ดอกเบี้ยมาใช้งานโดยที่ไม่ไปยุ่งกับเงินต้นเลย ผลก็คือ แม้สภาพการใช้เงินจะลำบากลงสักหน่อย ไม่สามารถใช้เงินได้เต็มจำนวนเหมือนเมื่อก่อน (เนื่องจากเงินที่จะเอามาใช้ได้เป็นดอกเบี้ยเท่านั้น) แต่ก็ช่วยให้มีเงินเก็บสำรองอยู่เสมอ ต่อให้ใช้ดอกเบี้ยไปมากเท่าใดก็ตาม ไม่ใช่ว่ามีเท่าไรก็หมดเท่านั้นเหมือนเมื่อก่อนโดยไม่เกิดการงอก ซึ่งก็เป็นไปตามพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตรัสไว้ทุกอย่าง
พระราชดำรัสประการสุดท้าย ที่ผมได้ลองปฏิบัติตามแล้ว เห็นจริงตามที่พระองค์ได้ทรงตรัสไว้เลย คือพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานไว้เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541 ความว่า
“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
พระราชดำรัสนี้ น่าจะเรียกได้ว่าตรงกับตัวผมในสมัยก่อนมากที่สุด เพราะแต่เดิมนั้นผมเป็นคนที่ไม่ค่อยยับยั้งความอยากได้ในสิ่งของต่าง ๆ ของตนเอง อยากได้อะไรก็ซื้อเลย และเมื่อซื้อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาจนได้แล้ว ความอยากของผมนั้นกลับไม่ได้ลดลงเลย แต่กลับจะยิ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ พอรู้ตัวอีกทีหนึ่ง ก็พบว่าในเดือน ๆ นั้น ผมเสียเงินไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตเต็มไปหมด จนเมื่อผมได้มีโอกาสรับรู้พระราชดำรัสนี้ ผมก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างสิ้นเชิง เวลาอยากจะได้อะไรต้องคิดเยอะ ๆ ประมวลให้รอบว่าสิ่งนี้มีความจำเป็นต่อชีวิตหรือเปล่า แล้วถ้าซื้อไปจะส่งผลกระทบต่อเงินเก็บ ทำให้เงินมีปัญหาหรือไม่ ผลที่ได้รับก็คือ ผมสามารถตัดเอาสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิตได้หลายอย่าง ทำให้เงินเก็บมีเหลือมากขึ้นตามไปด้วย จนกระทั่งทุกวันนี้ ผมสามารถตระหนักรู้ได้แล้วว่า หากต้องการจะเก็บเงิน ออมเงิน มัธยัสถ์แล้ว การควบคุมความอยากของตนเองให้อยู่ในขอบเขตเป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก็คือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ผมได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อการออมเงิน ใครที่กำลังมีปัญหาเก็บเงินไม่อยู่ ไม่มีเงินเหลือในแต่ละเดือน ผมอยากจะขอแนะนำให้ท่านลองศึกษาพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดู บางทีท่านอาจจะพบกับทางสว่าง เหมือนกับที่ผมได้ประสบมาแล้วก็เป็นได้