ที่ดิน อาจถือเป็นสิ่งที่หอมหวานสำหรับคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อมีที่ดิน เราก็จะสามารถจัดสรรสิ่งใดก็ได้ตามความประสงค์ ยิ่งเมื่อเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ ที่ที่ดินกลายเป็นของหายาก มีราคาสูง แถมมีกฎการครอบครองที่เข้มงวดเช่นนี้ การได้ที่ดินมาครอบครองสักแปลงหนึ่ง แม้เพียงไม่กี่ตารางวา ก็เป็นยอดปรารถนาสำหรับใครหลายคนแล้ว
ในตอนนี้ ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่ออกอากาศทางช่อง 3 นำแสดงโดยโป๊บ ธนวรรธน์ และเบลล่า ราณี กำลังได้รับความนิยม เกิดกระแส “ออเจ้า” ขึ้นทั่วทั้งพระนคร เอ้ย ทั่วประเทศ เพื่อให้บรรยากาศของบทความดูเข้ากับละครที่กำลังนิยมอยู่ในตอนนี้ ก็จะขอเอาเรื่องการครอบครองที่ดินของคนในสมัยอยุธยามาเปรียบเทียบกันดู ว่าคนสมัยนั้นมีกระบวนการครอบครองที่ดินที่เหมือนหรือแตกต่างจากคนสมัยนี้อย่างไร และสรุปแล้ว การครอบครองที่ดินในยุคใดที่ดีกว่ากัน ว่าแล้วก็อย่าได้รอช้า ไปดูกันเลย
ในสมัยอยุธยา ผู้คนในยุคนั้นยังมีจำนวนไม่มาก และวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นต่างจากปัจจุบันมาก ไม่มีนายทุนที่กว้านซื้อที่ดินทำหมู่บ้านจัดสรร ทำโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีการเวนคืนที่ดินไปตัดถนน เพราะฉะนั้นที่ดินในสมัยอยุธยาจึงเรียกได้ว่า “เหลือเฟือ” ทำให้ผู้คนสามารถเข้าไปจับจองที่ดิน หักร้างถางพง เพื่อใช้ประโยชน์ได้ตามใจชอบ ซึ่งส่วนใหญ่การเข้าไปจับจองที่ดินของผู้คน ก็เพื่อทำเกษตรกรรม หรือทำกิจการประเภทเลี้ยงตัวเอง การเข้าครองที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์จริงๆ จึงกินเนื้อที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับในยุคปัจจุบันที่บรรดานายทุนต้องการครอบครองที่เป็นร้อยๆ พันๆ ไร่ เพียงเพื่อสร้างอาณาจักรที่เป็นของตนคนเดียว
อย่างไรก็ตาม แนวคิดการครอบครองที่ดินของคนในสมัยอยุธยาก็ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกับสมัยนี้ คือ มีแนวคิดว่าที่ดินทุกแปลงล้วนเป็นของหลวง การเข้าไปจับจองที่ดินเพื่อทำกิจการนั้น เป็นแค่การยืมหลวงไปใช้เท่านั้น ส่วนโฉนดที่ดิน ก็เป็นเครื่องบ่งบอกว่าผู้เข้าไปจับจองที่ดินนั้นมีที่ของตัวเองในขอบเขตเท่าไร แต่ละด้านจดกับอะไรบ้าง หากพระมหากษัตริย์ เจ้านาย หรือหน่วยงานชั้นสูงใดต้องการนำที่ดินผืนนั้นคืนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น สร้างวัด สร้างวัง ผู้ที่เข้าใช้ที่ดินอยู่นั้นต้องยินยอมคืนให้อย่างไม่มีข้อแม้ใดๆ หากขัดขืน จะถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรง ซึ่งแนวคิดลักษณะนี้ก็ยังคงมีต่อมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ อย่างที่เรารู้จักกันในแบบที่เรียกว่า “ไล่ที่ทำวัง” คือเมื่อมีเจ้านายต้องการสร้างวังในพื้นที่ใด เจ้าที่ที่อยู่เดิมนั้นต้องถอยออกไปอย่างไม่มีข้อแม้ทันที จนมาถึงในช่วงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า การไล่ที่ทำวังนั้นทำให้ประชาชนเดือดร้อนมาก จึงทรงโปรดฯ ให้ปรับแบบแผนใหม่คือ เมื่อหลวงต้องการที่ซึ่งมีผู้ครอบครองอยู่แล้วคืน จะต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับเจ้าของที่คนนั้นด้วย ถือว่าเป็นการชดเชย และแบบแผนนี้ได้ทำสืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน อย่างที่เราจะเห็นได้ว่าเมื่อหลวงจะตัดถนนผ่านที่ใคร จะมีการเวนคืนที่ส่วนหนึ่ง แล้วจ่ายเงินค่าเวนคืนตามราคาประเมินให้กับเจ้าของที่นั้นนั่นเอง
ทีนี้ เมื่อคนอยุธยาสามารถเข้าจับจองที่ดินได้ตามใจชอบ ก็อาจจะเกิดปัญหาการแย่งกันครองที่ให้ได้ปริมาณมากๆ ในครอบครัวเดียว จนอาจเป็นปัญหาได้ในอนาคต ดังนั้นจึงได้มีการออกระบบศักดินาขึ้นในรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ว่าคนในชั้นใด สามารถมีที่ดินได้จำนวนเท่าใดบ้าง เช่น หากเป็นเจ้าพระยา หรือพระยาชั้นสูง ตัวอย่างจากในละครก็อย่างเช่น
-
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก, ปาน) เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นต้น สามารถมีนาได้สูงสุดถึง 10,000 ไร่ เทียบกับปัจจุบันก็เท่ากับพื้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.แพร่เลยทีเดียว
-
ส่วนขุนนางชั้นผู้น้อย อย่างในละครก็เช่น หมื่นเรือง สามารถมีที่นาในครอบครองได้ตั้งแต่ 400 ไร่ขึ้นไป เทียบกับปัจจุบันก็ประมาณพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
-
ส่วนพลเรือนทั่วไปที่ไม่ได้มียศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ สามารถครอบครองที่ดินได้ 25 ไร่ เทียบกับปัจจุบันก็เท่ากับที่ตั้งของสถานทูตอังกฤษ ถนนวิทยุ ที่ทาง Central เพิ่งจะประมูลไปด้วยราคาแพงหูฉี่นั่นเอง การกำหนดระบบศักดินานี้ขึ้นมา ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งที่ดินกันอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว
ในส่วนของการซื้อขายที่ดินในสมัยอยุธยา นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า สมัยนั้นน่าจะยังไม่มีการซื้อขายที่ดินเป็นกิจจลักษณะเหมือนอย่างสมัยนี้ เนื่องจากที่ดินมีอยู่เป็นจำนวนมาก แม้จะมีการกำหนดศักดินาการครอบครองที่ดินแล้ว และพื้นที่หลายแห่งถูกจับจองเพื่อสร้างเป็นวัด พื้นที่รกร้างว่างเปล่าก็ยังมีอยู่มาก เพียงพอต่อการให้คนที่ยังไม่มีที่ดินสามารถเข้าไปหักร้างถางพง ปรับพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรมได้สบาย มีข้อแม้เพียงว่าต้องไม่เป็นที่ที่พระมหากษัตริย์ และเจ้านายมีพระราชประสงค์จะใช้ประโยชน์เท่านั้น
จะเห็นได้ว่า การครอบครองที่ดินสมัยอยุธยานั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เนื่องด้วยคนยังมีอยู่น้อย ที่ดินเพียงพอต่อการเข้าจับจองใช้ประโยชน์ มีเงื่อนไขเพียงว่าต้องไม่เป็นที่ๆ พระมหากษัตริย์จะทรงใช้ประโยชน์เท่านั้น อีกทั้งในสมัยอยุธยา วิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่เป็นแนวเกษตรกรรม และทำกิจการเพื่อเลี้ยงตัวเองเท่านั้น ดังนั้นที่ดินที่ต้องใช้งานจริงๆ มีไม่มาก ต่างจากสมัยปัจจุบันที่อะไรๆ ก็เป็นอภิมหาโปรเจคส์ไปหมด ทำให้ที่ดินค่อยๆ หายไป กลายเป็นของหายากและมีราคาแพงเข้าไปทุกที
ที่มา : เอกสารประกอบการสอนเรื่องเศรษฐกิจ “บทที่ 3 สมัยอยุธยา” จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง