ผู้ที่ประกอบธุรกิจต่างก็ต้องดำเนินธุรกิจภายในกฎหมายเพื่อให้ธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้อง ในเรื่องของการว่าจ้างแรงงานก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องทำให้ถูกกฎหมายด้วย เป็นธรรมดาสำหรับทุกธุรกิจที่จะต้องมีการเข้าออกของลูกจ้าง ลูกจ้างเก่าลาออกไปก็ต้องรับลูกจ้างใหม่เข้ามา เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นวัฏจักรของลูกจ้างในแต่ละธุรกิจ
เมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่เข้ามาทำงานในช่วงแรกก็มักจะต้องให้มีการทดลองทำงานก่อน เมื่อผ่านแล้วจึงจะบรรจุเข้าเป็นลูกจ้างประจำ ช่วงทดลองงานจะเป็นช่วงพิสูจน์ว่าลูกจ้างใหม่สามารถรับผิดชอบงานในตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายได้ดีหรือไม่ หากสามารถทำได้ดีบริษัทก็พร้อมที่จะรับเข้าทำงานต่อไป แต่ถ้าไม่เหมาะบริษัทก็อาจจะต้องบอกลาเลิกจ้างกันไป
แน่นอนว่าทุกบริษัทก็อยากทำให้ทุกเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย เรื่องการทดลองงานของลูกจ้างก็เช่นเดียวกัน หากมีการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานนี้ทำได้หรือไม่ และต้องจ่ายเงินค่าอะไรอย่างไรหรือไม่
เรื่องของทดลองงานนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 มาตรา 17 วรรค 2 ตอนท้ายได้กำหนดไว้โดยให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งการจ้างแบบไม่มีกำหนดระยะเวลานี้ทำให้เกิดผล ก็คือ เมื่อจะเลิกจ้างกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า แม้ว่าการทดลองงานนั้นจะมีกำหนดระยะเวลาไว้ก็ตาม แต่ถึงแม้กฎหมายกำหนดให้สัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีข้อห้ามไม่ให้ทำจึงสามารถทำสัญญาว่าจ้างทดลองงานขึ้นได้ โดยมีข้อกำหนดต่าง ๆ ในสัญญาที่เกี่ยวกับระยะเวลาในการจ้าง การประเมินผลการทำงานว่าหากพิจารณาแล้วไม่ผ่านก็สามารถเลิกจ้างได้ ระบุไว้ในสัญญา ดังนั้น นายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างลูกจ้างในช่วงของการทดลองงานนี้ได้ โดยต้องเป็นเหตุผลที่เป็นธรรมกับลูกจ้าง ไม่ใช่เป็นเหตุผลส่วนตัวหรือกลั่นแกล้ง ควรเป็นสาเหตุที่เกี่ยวกับเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบในการทำงานมากกว่า
เพียงแต่เมื่อบอกเลิกจ้างแล้ว นายจ้างต้องต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้กับลูกจ้างทราบก่อนถึงงวดค่าจ้างล่าสุด เพื่อให้การเลิกจ้างมีผลงวดค่าจ้างครั้งถัดไป พูดง่าย ๆ ก็คือ บอกกล่าวให้ครบหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้างนั่นเอง หรือหากต้องการให้ออกจากงานทันที ก็จะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้
สรุปก็คือบริษัทสามารถเลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างทดลองงานได้ เพียงแต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสืออย่างน้อยหนึ่งงวดค่าจ้าง เช่น หากมีการจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือนต้องบอกก่อนสิ้นเดือนนี้ ลูกจ้างก็จะทำงานต่อถึงสิ้นเดือนหน้าถึงค่อยลาออกไป แต่หากบริษัทต้องการให้ลูกจ้างออกทันทีก็ทำได้เช่นเดียวกัน โดยให้จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแทน เช่น หากเราให้ลูกจ้างลาออกสิ้นเดือนนี้เลย ก็จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าถึงแค่สิ้นเดือนถัดไป ก็คือ ค่าจ้างหนึ่งเดือนนั่นเอง
มีตัวอย่างคดีที่มีการฟ้องร้องกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในกรณีของการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานนี้ คดีพิจารณาไปจนถึงขั้นฎีกาเลย ลองมาดูรายละเอียดของเรื่องกันค่ะ
เป็นคำพิพากษาฎีกา 9046/2551 โจทก์ที่เป็นลูกจ้างได้ฟ้องจำเลยที่เป็นนายจ้างว่าเลิกจ้างในช่วงทดลองงานโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ อีกทั้งค่าจ้างก่อนหน้านั้น 2 เดือน โจทก์ยังได้หักไว้เดือนละ 1,000 บาท รวมเป็น 2,000 บาท โดยบอกว่าเป็นประกันการทำงาน เมื่อเลิกจ้างก็ไม่คืนให้ด้วย รายละเอียดในการจ้างงาน จำเลยเริ่มทำงานในวันที่ 2 มกราคม 2557 มีอัตราเงินเดือนที่ 25,000 บาท ค่าจ้างจ่ายทุกสิ้นเดือน ระยะเวลาการทดลอง 119 วัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 โดยไม่ได้ทำหนังสือบอกกล่าว แต่เป็นการโทรศัพท์มาบอกและได้มีคนนำใบลาออกมาให้เซ็นแต่โจทก์ไม่ได้เซ็นไป และโจทก์จึงไม่ไปทำงานในวันถัดไป 1 มีนาคม 2547 นอกจากนั้นปกติงวดค่าจ้างจะตัดทุกวันที่ 25 ของเดือน แต่สำหรับงวดเดือนกุมภาพันธ์ 2557 โจทก์ได้รับค่าจ้างเต็มเดือนจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งก็เป็นการแสดงถึงเจตนาว่าจำเลยต้องการเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า
ในขณะที่จำเลยก็บอกว่าในช่วงที่โจทก์ทดลองงานอยู่ก็ได้มีการประเมินผลและเห็นว่าการทำงานไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรับเข้าเป็นพนักงาน แต่ก็ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด แต่โจทก์เป็นคนละทิ้งงานไปเอง โดยไม่ได้มาทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์เรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวจากจำเลย คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาให้จำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งให้คืนเงิน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ด้วย
จำเลยทำเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่าจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้น จำเลยก็ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับโจทก์ตั้งแต่งวดเงินเดือนนี้ถึงงวดเงินเดือนหน้าคือสิ้นเดือนมีนาคม 2557 ก็คือ ค่าจ้างหนึ่งเดือน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนเรื่องอื่นเช่นเงิน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยก็ให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาลแรงงานกลาง
จากกรณีนี้แม้จำเลยจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน แต่หากดูจากเจตนาก็ถือว่าเป็นความตั้งใจที่จะเลิกจ้าง โดยจำเลยก็ยืนยันเองว่าประเมินผลการทำงานแล้วว่าไม่เหมาะกับตำแหน่งงาน ถ้าไม่เลิกจ้างแล้วจะให้ทำงานต่อไปเพื่ออะไร ดังนั้น การเลิกจ้างระหว่างทดลองงานนี้ หากไม่บอกกล่าวล่วงหน้าก็จะต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทย์เท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนเรื่องที่บริษัทส่วนมากกำหนดระยะเวลาการทดลองไว้ไม่ถึง 120 วัน เช่น กรณีนี้ คือ 119 วัน ก็เพื่อที่หากเลิกจ้างจะไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้าง 30 วันสุดท้าย เป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างนั่นเอง แต่อย่างไรเสียแม้ระยะเวลาการทำงานจะไม่ถึง 120 วันก็ตาม หากเป็นการเลิกจ้างแบบไม่บอกกล่าวล่วงหน้า อย่างไรก็จะต้องมีเงินค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างหนึ่งงวดถัดไปอยู่ดี อันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่อยากจ่ายก็มีวิธีเดียวคือหลังจากบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วก็ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปอีกหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้างเท่านั้นเอง
อ้างอิง http://www.parameelaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539363592&Ntype=6″