สุภาษิตไทยบทหนึ่งกล่าวว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รอง เอากระดูกมาแขวนคอ” เป็นบทที่อธิบายสถานะของคน ค้ำประกันเงินกู้ ได้อย่างดีที่สุด นอกจากจะไม่ได้กินเนื้อแล้ว หนังก็ไม่ได้เอามารองนั่ง แต่กลับเอากระดูกมาแขวนคอให้เป็นภาระ ก็เหมือนกับคนค้ำประกัน เพราะนอกจากไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากก้อนหนี้นั้นแล้ว กลับยังต้องเป็นภาระ หากเจ้าของก้อนหนี้นั้นเบี้ยวหนี้อีกต่างหาก หนี้บางก้อนผู้ค้ำอาจชำระแทนได้อย่างไม่ลำบากกาย แต่ก็ลำบากใจ หากหนี้ก้อนนั้นไม่ใหญ่เกินกำลัง แต่หากก้อนนั้นใหญ่มากเกินกำลังแล้ว ชีวิตของผู้ค้ำประกันอาจต้องเปลี่ยนไปตลอดชีวิต
หลายคนอาจสงสัย เวลากู้เงินทำไมต้องมีผู้ค้ำด้วย ให้ลองคิดถึงเราเป็นธนาคารผู้ปล่อยกู้ ธนาคารต้องการหลักประกันการันตีว่าหนี้ที่ได้ปล่อยไปนั้นจะไม่สูญเปล่า หลักประกันที่ธนาคารต้องการอาจเป็น บ้าน โฉนดที่ดิน รถยนต์ สิทธิบัตร ใบหุ้น หรือแม้แต่ L/C แต่ในบางกรณีเมื่อทรัพย์สินและหลักประกันทุกอย่างของผู้กู้รวมแล้วยังไม่ครอบคลุมจำนวนหนี้ได้ ก็จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน โดยผู้ที่เป็นผู้ค้ำได้นั้นอาจใช้ตำแหน่งทางราชการ หรือเป็นบุคคลที่เชื่อได้ว่ามีเครดิต (ตามหลักฐานทางการเงิน) ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ค้ำประกันมักเป็นพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องกับผู้กู้
การกู้ที่ต้องมีผู้ค้ำประกันนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้กู้มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอหรือไม่มีเลย เนื่องจากสินค้าทางการเงินปัจจุบันมีมากมายหลายแบบและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น แม้แต่เงินกู้ก็ยังมีเฉพาะเจาะจงเช่นกัน แต่ละสถาบันการเงินก็ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความสะดวก ง่าย แต่ก็รัดกุมไว้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานเงินกู้ที่ไม่ใหญ่มาก แต่ในหลายกรณีเงินกู้มีขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เพื่อธุรกิจ การเขียนแผนธุรกิจ (Business Plan) ไปคุยกับธนาคารพร้อมทั้งสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้จัดการแผนกสินเชื่อ จะเป็นตัวกำหนดแผนการเงิน วงเงิน และคนค้ำประกันได้ หากเข้าไปขอกู้แบบไม่มีแผนธุรกิจก็อาจถูกปฏิเสธได้
หากมีแผนธุรกิจที่ดี แต่ผู้กู้กลับให้ข้อมูลที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับธนาคารได้เลยว่าจะทำธุรกิจได้สำเร็จ ก็อาจถูกปฏิเสธได้เช่นกัน บางกรณีที่แผนธุรกิจดีมาก น่าสนใจมาก พิจารณาผู้กู้แล้วก็มีศักยภาพมากด้วย ธนาคารนอกจากจะพิจารณาปล่อยกู้ให้แล้ว ก็อาจจะไม่ต้องมีคนค้ำประกันก็ได้เช่นกัน ดังนั้น ในฐานะที่กำลังจะเป็นคนค้ำประกันนั้น จงระลึกไว้เสมอว่าโอกาสเสี่ยงที่หนี้อาจต้องผิดนัดชำระ และธุรกิจอาจล่มได้นั้น ธนาคารย่อมต้องการคนค้ำประกันหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากแผนธุรกิจที่ผิดพลาด ถ้าเราเชื่อสายตาและวิจารณญาณของผู้จัดการสินเชื่อที่เห็นแผนธุรกิจและได้คุยกับนักธุรกิจมาแล้วนับร้อยเป็นพัน เราอาจมีความระวังเป็นพิเศษกับธุรกิจที่เราเกี่ยวข้องเข้าไปเป็นคนค้ำ
ส่วนใหญ่เราจะตกเป็นคนค้ำประกันก็เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคนที่มาขอให้ค้ำส่วนมากเป็นลูกหลานพี่น้อง ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นญาติสนิทก็ต้องระมัดระวัง
เคยมีกรณีที่เกิดขึ้นจริงกับคนใกล้ตัวผู้เขียน เกิดขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 30 ปีก่อน น้องชายของแม่เพื่อนสนิททำธุรกิจค้าไม้ส่งแอฟริกา ครั้งหนึ่งได้ลูกค้าใหม่รายใหญ่ ทำให้ธุรกิจต้องการเงินเพื่อหมุนเวียน จึงขอกู้เป็นเงิน 8 ล้านบาท โดยให้แม่ของเพื่อนผู้ซึ่งเป็นพี่สาวของผู้กู้แท้ ๆ เป็นผู้เซ็นค้ำประกัน สุดท้ายธุรกิจผิดพลาดถูกโกงเงิน ตัวผู้กู้ต้องหนีหัวซุกหัวซุนออกนอกประเทศ ภาระหนี้ทั้งหมดจึงตกกับแม่ของเพื่อนแต่เพียงผู้เดียว ผู้หญิงหม้ายตัวคนเดียวอาชีพแม่บ้านต้องเลี้ยงลูกสองคน กลับต้องมีภาระหนี้ขนาดมหึมา 8 ล้านบาทเมื่อ 30 ปีก่อน (ทองบาทละ 400) เป็นหนี้ที่มากเกินกำลัง ถึงแม้จะมีมรดกพอสมควร รวมถึงที่ติดทะเลเลยหัวหินไปสัก 5 นาทีตามระยะทางรถขับ ก็ยังไม่เห็นทางจะปลดหนี้ลงได้ ระหว่างการติดตามผู้กู้ ดอกเบี้ยก็งอกเงยขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะช่วงก่อนวิกฤตปี 2525 นั้นอัตราดอกเบี้ยเกินสิบเปอร์เซ็นต์ ไม่ทราบการเจรจาประนอมหนี้เกิดขึ้นและจบลงอย่างไร จนถึงรุ่นของลูกที่เพิ่งจบหมอใหม่ ๆ หนี้ก็งอกเลย 50 ล้านไปแล้ว การดำเนินการปลดหนี้จริงจังของผู้ค้ำที่ค้ำให้กับอา และเป็นแม่แท้ ๆ ของเพื่อนผู้เขียนเพิ่งได้รับการจัดการอย่างจริงจังก็ขณะนี้นี่เอง ที่ดินพร้อมรีสอร์ทติดทะเลขนาดย่อมถูกขายออกไปเพื่อใช้หนี้ เจรจาประนอมหนี้หยุดการเติบโตของดอกเบี้ย Refinance ใหม่โดยมีบ้านขนาด 300 ตรว.ที่ย่านสุทธิสารเป็นหลักค้ำประกัน โดยแหล่งรายได้จ่ายหนี้คือรายได้จากอาชีพหมอของเพื่อนผู้เขียนเพียงอย่างเดียว ถึงวันนี้ผ่านมาสิบปีแล้วก็ยังคงต้องผ่อนต่อไป
จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า ผลกระทบจากการค้ำประกันนั้นไม่ได้ตกกับตัวผู้ค้ำเพียงคนเดียว แต่ภาระหนี้ยังส่งผลกระทบมาถึงลูกหลานด้วย หากไม่มีหนี้ก้อนนี้ รีสอร์ทหัวหินก็ไม่ต้องขาย (ขณะนี้ราคาคงประเมินแล้วยิ่งเจ็บใจ) เพื่อนอาชีพหมอซึ่งนับว่าเป็นอาชีพที่หารายได้ได้ดี สามารถสร้างตัวได้เร็ว ก็กลับต้องทำงานใช้หนี้แทนอาของตัวเอง เพียงแต่ถ้าทุกอย่างไม่เกิดข้อผิดพลาด ชีวิตของทุกคนที่อยู่ในวงจรนี้ก็คงไม่ต้องลำบากตรากตรำถึงขนาดนี้
อ่านเพิ่มเติม >> เทคนิคแก้ปัญหาเมื่อต้อง เป็นหนี้เพื่อน <<
การค้ำประกันโดยเฉพาะกับการประกันทางธุรกิจ เปรียบเสมือนคนค้ำเป็นผู้กู้เอง เพียงแต่เงินไม่ได้ใช้ รับผิดอย่างเดียวคือใช้หนี้แทนกรณีผู้กู้หนีหรือตายไม่สามารถชำระหนี้ได้ ดังนั้นหาจำเป็นต้องเป็นผู้ค้ำประกัน จะต้องประเมินตัวเองก่อนว่ามีศักยภาพแค่ไหน ศึกษารายละเอียดให้เข้าใจ อย่าใช้การไว้ใจเป็นเหตุผลให้เราไม่ศึกษาเอง เพราะหากมีความผิดพลาดไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม ผู้ชดใช้อาจไม่ใช่เราที่เป็นผู้ค้ำแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังส่งผลไปถึงลูกหลานและชีวิตของลูกหลานอีกยาวนานค่อนชีวิตอีกด้วย