การจอดรถในบริเวณที่ห่างไกลผู้คนนั้น โอกาสที่รถจะหายก็มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างมากับทรัพย์สินของคุณ และปัญหาใหญ่ก็จะตามมา นั่นเป็นเพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์รถหายในช่วงที่ยังผ่อนชำระค่างวดอยู่ คำถามคือ “คุณต้องจ่ายค่างวดต่อไปหรือไม่” เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากเข้าใจว่า ยังจะต้องทำการผ่อนชำระค่างวดรถต่อไปเรื่อย ๆ จนหมด แต่ความเป็นจริงแล้วคุณต้องทำอย่างไร ลองมาดูกันค่ะ
ความจริงที่ถูกเปิดเผย
สำหรับผู้คนส่วนมากยังมีความเชื่อที่ผิด ๆ เกี่ยวกับการผ่อนรถต่อไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่ารถจะไม่มีอยู่แล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง เมื่อรถของคุณถูกขโมย หรือหายไป คุณไม่จำเป็นต้องผ่อนต่อ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณไม่ต้องทำการผ่อนค่างวดต่อนั้น เนื่องจาก รถที่คุณเช่าซื้อได้เกิดการสูญหายไปแล้ว สัญญาเช่าซื้อต้องทำการถูกระงับทันที แต่ก็จะมีประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่คุณต้องจ่ายให้กับทางบริษัทเจ้าของรถนั้น ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่
ในส่วนของเรื่องนี้ ทางศาลฎีกาเคยวางบรรทัดฐานไว้ว่า “ถ้าเกิดรถที่ทำการเช่าซื้อสูญหาย” คุณก็ต้องมาดูว่ารถที่สูญหายนั้นมีราคาเท่าไหร่ ผู้ที่ทำการเช่าซื้อได้ทำการจ่ายค่างวดมาแล้วเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ และทางบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับบริษัทลิสซิ่งสำหรับรถที่หายไปนั้นเป็นจำนวนเงินเท่าใด หากเงินทั้งสองจำนวนรวมกันแล้ว เกินกว่าราคารถที่บริษัทลิสซิ่งซื้อมา ผู้ที่เช่าซื้อก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเสียหาย
อีกหนึ่งกรณีในส่วนของสัญญาเช่าซื้อที่มีข้อตกลงให้บริษัทสามารถเรียกค่าเช่าซื้อที่ขาดอยู่ได้แม้ว่าทรัพย์ที่เช่านั้นสูญหายก็ตาม ในตรงจุดนี้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดให้ผู้เช่าซื้อ ชำระหรือไม่ชำระก็ได้ แต่ถ้าศาลสั่งให้ชำระ คุณต้องชำระเต็มสัญญาหรือไม่ คำตอบคือการที่ผู้เช่าซื้อต้องชำระนั้น คุณจำเป็นต้องดูก่อนว่าเงินค่าเช่าซื้อที่บริษัทลิสซิ่งนั้นได้รับชำระมาแล้ว รวมกับค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทประกันภัยได้จ่ายให้นั้น มีความเพียงพอต่อความเสียหายที่ผู้ให้เช่าซื้อนั้นได้รับหรือไม่ ศาลก็จะกำหนดความเสียหายให้ตามความสมควร แต่ไม่ใช่ให้ชำระจนครบสัญญา แต่ถ้ามีการจับกุมได้รถกลับคืนมาในภายหลัง รถนั้นต้องตอกเป็นของบริษัทประกันภัยมิใช่ของเรา เพราะสัญญาการเช่าซื้อนั้นได้มีการจบสัญญาไปแล้วนั่นเอง
ยกตัวอย่าง ในกรณีที่ได้เช่าซื้อรถจากบริษัทลิสซิ่งหรือไฟแนนซ์ ผ่อนไปได้ 1 ปี รถถูกขโมยหรือหายไปอย่างไร้ร่องรอย แจ้งให้ทางบริษัททราบ ทางบริษัทฯ ก็บอกว่ามันเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ให้ผู้เช่าซื้อผ่อน (กุญแจ) ต่อไปจนครบกำหนดสัญญา เราขอแนะนำให้คุณทำตามขั้นตอนดังนี้
- ถ้ารถของคุณมีประกันภัย คุณก็ให้ประกันเป็นผู้จัดการ ถ้าไม่มี คุณก็ไม่ต้องผ่อนต่อ เพราะว่าสัญญาเช่าซื้อ ประกอบไปด้วย การให้เช่า บวกกับ คำมั่นว่าจะขาย ดังนั้นเมื่อทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาย่อมระงับ ผู้เช่าซื้อไม่ต้องส่งค่างวดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อยังคงต้องส่งค่างวดที่ค้างเท่านั้น อย่างเช่น ส่งไป 13 งวด แต่ค้างงวดที่ 10 ต่อมางวดที่ 14 รถหาย ผู้เช่าซื้อต้องส่งค่างวดที่ค้าง คือ งวดที่ 10 เท่านั้นไม่ใช่ส่งงวดที่ 14 – 48 (กรณีผ่อน 48 งวด)
- หากคุณถูกไฟแนนซ์บังคับให้ผ่อน (กุญแจ) ต่อไปจนครบสัญญา คุณก็ไม่ต้องผ่อนต่อ ปล่อยให้เขาฟ้องศาลมาเอง แล้วพอหมายศาลมา ก็ไปให้การในชั้นศาล ทางศาลจะนำเรื่องเช่ามาวินิจฉัยด้วยเช่นกัน ซึ่งเรายืนยันเลยว่าคุณไม่ต้องผ่อนต่อ เพราะมีไม่น้อยที่โดนไฟแนนซ์บอกให้ผ่อน (กุญแจ) ต่อทั้งที่สัญญาได้ถูกระงับไปแล้ว
การขึ้นศาลไม่น่ากลัวอย่างที่ใครหลายคนคิด ซึ่งหากคุณมองมุมกลับจะพบว่าศาลช่วยให้คุณไม่ต้องเสียเงินเพิ่มหรือมากเหมือนตอนที่คุณผ่อนชำระตามที่ไฟแนนซ์บอกเอาไว้
ตามมาตราของกฎหมาย
ทางกฎหมายได้วางบรรทัดฐานเอาไว้ใน ประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์
- มาตรา 567 ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมด ไซร์ท่านว่าสัญญาเช่าก็ย่อมถูกระงับไปด้วย
- มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดย เงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้น เท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ
- มาตรา 573 ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาในเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของ โดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4601/2533
- ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 นอกจากนี้ ตามหนังสือบอกกล่าวของบริษัทถึงทั้งสองก็ระบุชัดว่า บริษัทเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อแล้ว จึงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว คุณจึงไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอีกต่อไป
- แม้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 จะระบุให้ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าซื้อจนครบในกรณีที่ทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูก โจรภัยก็ตาม แต่คุณไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป ก็ถือได้ว่าคุณได้ตกลงชำระค่าเสียหายเท่ากับ ค่าเช่าซื้อที่ค้างให้แก่บริษัทในกรณีนี้ ซึ่งมีลักษณะเป็น “เบี้ยปรับที่ศาลมีอำนาจลดหย่อนลงไปหากเห็นว่าค่าเสียหายที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินควร”