การใช้จ่ายของแต่ละคนนั้น ไม่เหมือนกัน เพราะความจำเป็นที่ต้องการใช้ และปัจจัยอื่น ๆ จึงต้องรู้จักการวางแผนให้รอบคอบก่อนการซื้อของชิ้นใหญ่อย่างเช่น รถยนต์ เพื่อนำมาใช้กับการทำงาน หรือนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ปัญหาหนึ่งของการซื้อรถใหม่ก็คือ “ไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้” จนเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเงิน เงินไม่พอค่างวดรถ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพนังงานประจำด้วยแล้ว การออกรถใหม่ป้ายแดง จะต้องรับภาระผ่อนชำระที่มากขึ้น จนไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้
ความจำเป็นในการซื้อรถ ควรสอดคล้องกับเงินที่เข้ามาในแต่ละเดือน เนื่องจากการซื้อรถยนต์ 1 คันนั้น ไม่ได้มีแต่ค่าผ่อนรายเดือนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมาย ที่หลาย ๆ คนอาจมองข้ามไป จนทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเงิน ไม่สามารถรถต่อได้ เพราะคุณมีรายจ่ายที่ไม่สามารถควบคุมได้ สำหรับใครที่กำลังคิดว่า ไม่รู้ว่าจะใช้วิธีการใดช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝากค่ะ
ก่อนอื่นเลย ขอแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
-
รายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่าย
เป็นรายจ่ายที่คุณจำเป็นต้องจ่ายทุกเดือน หรือทุกปี อย่างเช่น ค่าผ่อนรถรายเดือน ซึ่งค่าผ่อนรถนั้นเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่คุณต้องผ่อนชำระในทุกเดือน จำนวนเงินผ่อนแต่ละเดือนนั้น อาจจะคิดแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ นั่นหมายถึง เงินต้นรวมกับดอกเบี้ย แล้วหารจำนวนเดือนที่ผ่อน แต่สำหรับใครที่ไม่มีความรู้หรือความสามารถเกี่ยวกับการคำนวณ ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะในยุคปัจจุบันมีโปรแกรมช่วยคุณคำนวณอยู่แล้วค่ะ ทั้งนี้สำหรับใครที่ต้องการคำนวณด้วยตัวเอง เราก็มีวิธีการคิดให้คุณลองทำตามดูได้ ดังนี้ค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น คุณต้องการซื้อรถคันใหม่ในราคา 600,000 บาท มีเงินดาวน์ 300,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 60 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี
วิธีคำนวณ
เงินที่ต้องจ่ายจริง (600,000 – 300,000) = 300,000 บาท
ดอกเบี้ยต่อปี (300,000 x 5) ¸100 = 15,000 บาท
ดอกเบี้ยทั้งหมด (15,000 x 5) = 75,000 บาท
เงินที่ต้องจ่ายทั้งหมด (300,000 + 75,000) = 375,000 บาท
จำนวนเงินที่ต้องจ่ายต่องวด (375,000 ¸ 60) = 6,250 บาท
สรุปยอดที่คุณต้องชำระทุกเดือนเป็นจำนวนเงิน 6,250 บาท หากรวมภาษีอีก 7% จะเป็นเงินทั้งสิ้น 6,688 บาท
ในช่วงนี้หลายคนอาจพบเห็นโปรโมชั่น “ดาวน์น้อยผ่อนนาน” ซึ่งมากระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อรถ เพราะจ่ายเงินดาวน์น้อย ถึงมีเงินไม่มากก็สามารถเอารถออกมาใช้ได้แล้ว แต่เราขอบอกเลยค่ะว่า อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด ซึ่งลองพิจารณาตามตารางนี้ดูค่ะ แล้วคุณจะเห็นว่าดอกเบี้ยที่คุณจ่ายทั้งหมดนั้น เป็นจำนวนเงินที่มากจริง ๆ
ตารางเปรียบเทียบการจ่ายค่างวดรถ
จากตารางคุณลองพิจารณาตัวเลขที่อยู่ในช่องสีน้ำเงินดูค่ะ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า หากคุณเลือกที่จะวางเงินดาวน์น้อย คุณต้องเสียทั้งดอกเบี้ยที่มากขึ้น แถมยังต้องรับภาระหนี้ จ่ายต่องวดสูงขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม รถทุกคันจะต้องมี พ.ร.บ. ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกปี เป็นการทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ต้องจ่ายปีละประมาณ 600 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นค่าต่อทะเบียน ค่าภาษีรถยนต์เป็นรายจ่ายที่คุณต้องจ่ายทุกปี โดยมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 1,500 – 6,000 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับขนาดของรถ หากรถยนต์ของคุณมีขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีที่แพงขึ้น
สำหรับประกันภัยรถยนต์ เป็นการโอนความเสี่ยงให้กับประกันภัยรับผิดชอบ โดยประกันมีให้เลือกประกันชั้น 1 – 3 ซึ่งรายละเอียดนั้น ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละบริษัท ยิ่งรถมีราคาแพง ค่าเบี้ยประกันก็จะแพงตามไปด้วย (จากตัวอย่างราคารถยนต์ 600,000 บาทค่าเบี้ยประกันชั้น1 จะประมาณ 15,000 บาทต่อปี) และค่าเชื้อเพลิง เช่น ค่าน้ำมัน, ค่าแก๊ส ก็ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในขณะนั้นและลักษณะการใช้งาน ซึ่งส่วนมากจะอยู่ประมาณ 3,000 บาท ต่อเดือน
-
รายจ่ายอื่น ๆ
เป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ตกแต่งและอำนวยความสะดวกในการเดินทางต่าง ๆ อย่างเช่น ค่าเปลี่ยนยาง (ทุก 2 ปี หรือ 50,000 กิโลเมตร) เข้าศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์ ค่าที่จอดรถ (ในห้างสรรพสินค้า หรือออฟฟิศใจกลางเมือง) ค่าทางด่วน ค่าล้างรถ ค่าตกแต่งรถ ค่าปรับที่ทำผิดกฎจราจร ฯลฯ
คำถามหนึ่งคือ “คุณจะผ่อนรถไหวหรือไม่”
หลาย ๆ ท่านที่เห็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีรถแล้ว อาจจะเกิดความสับสน และกังวลว่าจะสามารถรับภาระนี้ได้ในทุกเดือนหรือไม่ และจะสามารถผ่อนชำระได้ตรงตามกำหนดหรือไม่ สำหรับใครที่กำลังพบกับปัญหาดังกล่าว แนะนำให้ลองออมเงินดูก่อน ว่าคุณจะสามารถปรับสภาพกับการดำเนินชีวิตที่ต้องใช้เงินน้อยลงได้หรือไม่ อย่างเช่น คุณต้องการซื้อรถยนต์ราคา 600,000 บาท วางดาวน์ 300,000 บาท ผ่อน 60 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5% คุณต้องจ่ายค่างวดรถ 6,250 บาทต่อเดือน ค่าน้ำมัน 3,000 บาทต่อเดือน ค่า พ.ร.บ. ค่าต่อทะเบี้ย ค่าประกันภัยรถยนต์ จ่ายรายปีเฉลี่ยเก็บรายเดือนละ 1,450 บาท รวมแล้ว คุณจะต้องมีเงินออมไว้ทั้งสิ้น 10,700 บาท (ยังไม่รวมรายจ่ายทั่วไป)
อ่านเพิ่มเติม : จะซื้อรถยนต์ ดาวน์น้อย กับ ดาวน์มาก ดอกเบี้ยต่างกันไหม ?
ทั้งนี้จะต้องแยกออมเงินไว้ต่างหาก อาจจะเป็นการฝากบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง เมื่อเงินเดือนเข้ามาคุณก็ต้องสั่งโอนไปเก็บไว้อีกบัญชีทันที โดยฝากอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ๆ ละ 10,700 บาท ใครที่เกิดความกังวลและไม่มั่นใจว่าจะสามารถกันเงินส่วนนี้ไว้ได้ แนะนำให้ทดลองฝากเป็นประจำอย่างนี้สัก 1 ปี เพื่อเป็นการปรับตัวในการใช้เงินที่น้อยลง การทำเช่นนี้นอกจากคุณจะสามารถปรับตัวและวางแผนการใช้เงินได้แล้ว ยังมีเงินออมไว้วางดาวน์อีกด้วยค่ะ