เราเคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารมาเสนอสินเชื่อให้ มักจะพูดคำว่าให้ดอกเบี้ยถูกว่าที่อื่นๆ เราให้ MLR-2 หรือจะเป็น MLR-1 แล้วเราเคยรู้กันหรือเปล่าว่า MLR คืออะไร แล้วจะมีดอกเบี้ยแบบอื่นๆ อีกหรือเปล่า เรามาดูกันเลย
ซึ่งตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้นั้น จะให้ธนาคารพาณิชย์มีอัตราดอกเบี้ย 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ MLR MRR และ MOR โดยที่
- MLR หรือ Minimum Loan Rate คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารจะเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา เช่น มีประวัติการเงินดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ มักจะใช้กับเงินกู้ที่มีระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ
- MOR หรือ Minimum Overdraft Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี
- MRR หรือ Minimum Retail Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น
แต่บางธนาคารก็อาจจะมีอัตราดอกเบี้ยนอกเหนือจาก 3 ตัวนี้ก็เป็นได้ เช่น ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ ที่จะมี Minimum Housing Rate หรือ Housing Loan Rate ซึ่งก็อาจจะเป็นมาตรฐานของธนาคาร แต่ส่วนใหญ่ที่เราจะคุ้นเคยกันก็จะเป็น 3 ตัวหลักๆ ก็คือ MLR MOR และ MRR
โดยที่ธนาคารแห่งประเทศมีกฎบังคับให้ธนาคารทุกแห่งจะต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยให้ชัดเจน แต่ไม่ได้ใช้กับธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพราะเป็นธนาคารของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งเป็นพิเศษ เรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะฉะนั้นถ้าเราไปที่สาขาของธนาคารออมสิน เราอาจจะไม่เห็นประกาศอัตราดอกเบี้ยที่สาขาของธนาคารออมสินก็เป็นได้
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าของธนาคารที่ขอกู้สินเชื่อเหมือนกัน แต่อาจจะได้อัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน นั่นก็คือ ความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินของธนาคาร เช่น ส่วนต่างระหว่างรายรับกับรายจ่าย ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละรายที่มีไม่เท่ากัน ประเภทของหลักทรัพย์ที่นำมาใช้คํ้าประกันในการกู้ยืม (เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ รถยนต์ หรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์) เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมลูกค้าบางคนได้อัตราดอกเบี้ย MLR ไม่มีบวกไม่มีลบ หรือบางคนได้ MLR-2% หรือ MLR+2% นั่นเอง
โดยทั่วๆ ไป MRR จะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดเสมอตามมาด้วย MOR และสุดท้ายคือ MLR จะตํ่าที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการที่เราได้ดอกเบี้ยในอัตรา MLR จากธนาคารแล้วจะหมายความว่าเราได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดแล้ว เราจะต้องมาดูที่ตัวบวกหรือตัวลบที่ตามมาด้วย เพราะไม่แน่บางธนาคารที่ใช้ MRR ในการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อแล้ว แต่ที่เห็นส่วนใหญ่ก็จะเป็น MRR ลบ ซึ่งทำให้บางครั้ง MRR ลบ ของธนาคารหนึ่งอาจจะต่ำกว่า MLR บวกก็เป็นได้
ดอกเบี้ยแต่ละประเภท ก็ใช้สำหรับสินเชื่อแต่ละประเภทเหมือนกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคาร สำหรับ MOR จะใช้กับสินเชื่อเงินหมุนเวียน หรือวงเงินเบิกเกินบัญชีผ่านบัญชีกระแสรายวัน ซึ่งดอกเบี้ย MOR นี้จะสูงกว่าดอกเบี้ย MLR เนื่องจากสินเชื่อเงินหมุนเวียนนั้นเป็นสินเชื่อที่ไม่จำกัดวัตถุประสงค์ มีความไม่แน่นอนในการเบิกถอน ทำให้ธนาคารต้องเตรียมเงินสำรองไว้ตลอดเวลา ดังนั้นธนาคารจึงต้องคำนวณความเสี่ยงเข้าไปในอัตรา MOR ด้วย
สินเชื่อบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อบัตรเครดิต จะใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สูงสุดไม่เกิน 28% ต่อปี ซึ่งแต่ธนาคารก็อาจจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน เช่น กำหนดตามฐานรายได้ กำหนดตามวงเงินที่ลูกค้าได้รับ หรือโปรโมชั่นแต่ละช่วงที่ออกมา
สินเชื่อบ้านส่วนมากจะใช้ MLR และ MRR เพราะเป็นสินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน และธนาคารก็จะกำหนดเป็น MLR บวก หรือ MRR ลบ ก็แล้วแต่นโยบายของแต่ละธนาคาร ส่วนสินเชื่อประเภทบ้านแลกเงิน ส่วนใหญ่ก็จะใช้ MLR หรือไม่ก็ MRR เหมือนกัน แต่บางธนาคารก็อาจจะแบ่งเป็นวงเงิน 2 ส่วน ส่วนที่เป็นวงเงินกู้สินเชื่อบ้านก็ให้เป็น MLR ส่วนที่เป็นวงเงินเบิกเกินบัญชีก็จะคิดด้วย MOR
ทีนี้เราก็รู้จัก ดอกเบี้ยแต่ละประเภท กันแล้ว… จะได้ไม่งงเวลาเจ้าหน้าที่ธนาคารมาเสนอสินเชื่อให้เรา หรือว่าเราจะเข้าไปหาข้อมูลอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกันแล้ว