สำหรับคุณแม่ยุค 2016 นี้ นอกจากที่ต้องเลี้ยงลูกเองแล้วเมื่อลูกเริ่มจะเดินได้ ก็มักจะต้องช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านโดยการออกไปทำงาน เพราะเป็นที่รู้กันว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่มีอะไรแน่นอน หรือจะรอให้สามีเลี้ยงก็ไม่แน่เช่นกันว่าเขาจะดูแลเราตลอดไปหรือไม่ การที่คุณแม่มีงานทำจะทำให้เกิดความมั่นใจ หรือเกิด Self-Esteem ถึงแม้ว่าจะคิดถึงลูกบ้าง แต่ก็เห็นแก่อนาคตของลูก ดังนั้นงานที่ทำควรสามารถนำงานกลับมาทำที่บ้านได้ (ในเวลาลูกหลับ) หรืองานที่สามารถคุยกับหัวหน้า หรือประเภทงานที่กลับเร็วได้ซักหน่อย จะได้มีเวลากลับไปเล่น ไปอาบน้ำ ไปให้นม ส่งลูกเข้านอนได้
ส่วนคุณแม่ยุคเดิมนั้นมักจะเลี้ยงลูกด้วยตนเอง ไม่ได้ทำงาน เป็นแม่บ้านเต็มตัว ดูแลลูกตลอดเวลาทำให้มีความเชี่ยวชาญ และมีความอดทนมากกว่าแม่สมัยใหม่มากกว่าทั้งเรื่องการคลอดลูกธรรมชาติ การคัดนม หรือการอดหลับอดนอน แม่ยุคเดิมมีความอดทนอีกทั้งมีลูกหลายคนที่ต้องดูแลอีกด้วย
คุณแม่ยุคใหม่หลายคนโชคดีมีญาติพี่น้องที่ไว้ใจได้ช่วยดูแล เช่น ปู่ย่า ตายาย พี่ป้าน้าอา เป็นต้น แต่ว่าทฤษฎีเก่าและใหม่ย่อมมีความแตกต่างกัน คุณแม่นั้นต้องหนักแน่น แต่บางครั้งก็ต้องยอมทำตามเพราะบางครั้งจำเป็นต้องเชื่อคำโบราณผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน ตัวอย่างความเชื่อที่แตกต่างกัน เช่น
1) อาหารแช่แข็งนั้นไม่ดี
ส่วนใหญ่คุณแม่ยุคใหม่มักไม่มีเวลา การทำอาหารแบ่งไว้ในล็อกน้ำแข็ง เช่นข้าวตุ๋น อาหารบดละเอียดผสมผัก อาจจะทำเก็บไว้ในล็อกน้ำแข็งอาทิตย์ละครั้งหรือสองครั้ง ถึงแม้จะเก็บได้เป็นเดือน แต่ว่าเพื่อความสดใหม่ทำอาทิตย์ละสองครั้งน่าจะเป็นความคิดที่ดีกว่า ส่วนน้ำซุปอาจจะทำอาทิตย์ละครั้งใส่ชามหรือฟรีซไว้ก็ได้ ส่วนใหญ่คนโบราณจะทำตื่นเช้ามาทำทีเดียวใส่หม้อตุ๋นไว้ อุ่นร้อน หรือบางคน hard core มากๆ ทำสดใหม่ทุกมื้อ แต่ถ้าถึงเวลา 1 ขวบกิน 3 มื้อต้องทำทุกมื้อก็จะเหนื่อยมาก แต่ไปกินข้าวนอกบ้านอาจเลือกร้านอาหารที่มีข้าว หรือไข่ตุ๋น หรืออาจจะนำข้าวใส่กระติกไปกินเอง
2) การแปรงฟันเด็ก
คุณหมอยุคใหม่มักให้คุณพ่อคุณแม่แปรงฟันเด็กเมื่อเริ่มมีฟันขึ้น แต่ว่าคุณย่าคุณยายมักให้กินแต่น้ำล้างปาก หรือใช้ผ้ากอสชุบน้ำเช็ด วิธีที่คุณหมอแนะนำคือใช้แปรงสีฟันเด็ก บีบยาสีฟันสำหรับเด็กปริมาณเท่าเม็ดถั่วเขียว ค่อยๆ แปรง และเอาผ้ากอสเช็ด เหตุผลที่ปู่ย่าตายายไม่อยากให้แปรงฟันเพราะกลัวฟันของหลานจะล้มนั่นเอง แต่คุณพ่อคุณแม่มีวิธีแปรงที่ถูกต้องคือ จับล็อกให้หัวคุณลูกอยู่ระหว่างขาของคุณพ่อคุณแม่และค่อย ๆ แปรงขึ้นลง
3) การพาเด็กเล็กออกนอกบ้าน
ปู่ย่าตายายมักไม่อยากพาเด็กๆ ออกนอกบ้านเพราะกลัวเชื้อโรคจะติดหลาน อยากให้เล่นอยู่แต่ในบ้าน แต่ถ้าเป็นพ่อแม่ยุคใหม่มักจะพาลูกออกไปเปิดหูเปิดตา บางคนพออายุ 2 เดือนก็พาออกไปห้าง หรือสวนสาธารณะแล้ว แต่ถ้าเป็นคนโบราณอาจจะต้องรอให้ถึง 6 เดือน การพาเด็ก ๆ ออกไปข้างนอกจริง ๆ แล้วมีข้อดีที่ทำให้เด็กได้เห็นสิ่งอื่น ๆ นอกจากสภาพแวดล้อมที่บ้าน เห็นผู้คน ทำให้ไม่กลัวคน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องระวังความสะอาดเช่นกัน บางครั้งเด็ก ๆ เป็นโรคทำให้มีภูมิแต่ก็ได้ไม่คุ้มเสียเช่นกันเพราะเด็กป่วยทีค่าใช้จ่ายสูงมาก ถ้าไม่มีประกันคุ้มครองคุณพ่อคุณแม่อาจจะกระเป๋าฉีกได้ ที่สำคัญช่วงหน้าฝนและช่วงรอยต่อเข้าหน้าหนาวโรคมือเท้าปากกำลังระบาด โดยโรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หืออุจจาระของผู้ป่วยทางตรงหรือทางอ้อม สัมผัสผ่านของเล่น มือของผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งโรงนี้มักระบาดในโรงเรียน ชั้นอนุบาลเด็กเล็ก หรือ สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรงนี้ การป้องกันคือหมั่นทำความสะอาดมือ, ของเล่น, พื้นปู, คอกกั้นของเด็ก ถ้าเด็กเป็นแล้วควรงดไปโรงเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
4) การใส่ถุงเท้า
คนโบราณมักให้เด็ก ๆ ใส่ถุงเท้า ทั้งขณะเล่นหรือตอนนอนเพื่อให้ความอบอุ่น พวกเขามีความเชื่อว่าถ้าเท้าเย็นจะทำให้เป็นหวัด แต่คนยุคใหม่ก็กลัวว่าจะทำให้เท้าไม่โต หรือร้อนได้ ทางที่ดีควารเดินทางสายกลาง การใส่ถุงเท้าควรใส่ในห้องแอร์ หรือ ควรมีปุ่มกันลื่นเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
5) การนั่งคาร์ซีท (Car Seat)
คุณย่าคุณยายมักมองว่าการให้นั่งคาร์ซีทเป็นการทรมานเด็ก เพราะเป็นที่รู้กันว่าเด็ก ๆ มักจะร้องไห้ไม่ยอมนั่ง หรือต้องหลอกล่อ เมื่อเด็กร้องไห้ คุณย่าคุณยายมักใจอ่อนสั่งให้คุณแม่อุ้มออกมานะ แต่บางทีขณะขับรถไปต่างจังหวัดอาจจะต้องบังคับนั่ง คุณหมอมักกล่าวว่าเด็กสามารถร้องไห้ได้ติดต่อเป็นชั่วโมงได้ แต่ความเป็นจริงผู้ใหญ่มักไม่อยากให้เด็กร้องไห้มักอ้างว่าการร้องไห้ของเด็กทำให้เด็กเติบโตมาอารมณ์ไม่ดี วิธีแก้ปัญหาอาจจะอุ้มโอ๋ ๆ เล็กน้อย เสร็จแล้วค่อยให้เล่นของเล่นและนำกลับเข้าไปนั่งและถือของเล่นที่เขาชอบเพลิน ๆ ถ้าฝึกเขาให้เป็นนิสัยก็จะทำให้เกิดความเคยชินและไม่กลัวการนั่งคาร์ซีท
หลายความเชื่อ หลายความคิด คุณแม่อาจจะต้องชั่งน้ำหนักและความเหมาะสม เพราะถึงอย่างไรปู่ย่าตายายนั้นก็รักหลานของเขาไม่น้อยกว่าคุณพ่อคุณแม่ แต่อาจจะปรับตามความเหมาะสมเพราะความสบายใจของทุกฝ่าย เพราะท่านช่วยเลี้ยงหลานและแบ่งเบาภาระการเลี้ยงลูกจากเรา ต้องคุยหาทางสายกลางเพื่อความเข้าใจ เพราะทุกคนต่างก็หวังดีกับเจ้าตัวน้อยทั้งนั้น และที่สำคัญเพื่อความสุขของทุกฝ่าย ถ้าผู้ใหญ่มีความสุข กระแสของความสุข ความยิ้มแย้มก็จะส่งถึงเด็ก และทำให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดีตามไปด้วย
ผู้เขียน: