ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เขียนถึงเรื่องเงินที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เงินที่เป็นค่าสินสอด กับเงินที่ใช้จ่ายในงานแต่งงาน และได้เขียนในส่วนแรกไปแล้วในเรื่องสินสอดทองหมั้น ในส่วนนี้จะเขียนถึง เงินในส่วนที่ 2 คือ เงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในงานแต่งงาน ที่มีหลายอย่างจุกจิกเต็มไปหมด และเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเหมือนกัน จำนวนเงินที่จะใช้จ่ายสำหรับงานแต่งงานนั้น ขึ้นอยู่กับฐานะของคู่บ่าวสาว เหมือนกันกับเงินสินสอด ถ้าฐานะดีทั้งคู่ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่มีด้วยกันทั้งคู่ ก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ ถ้าไม่รู้จักวางแผนและเลือกจ่ายในสิ่งที่คุ้มค่า
ในการแต่งงานถ้าไม่รวมค่าสินสอด งบประมาณของการแต่งงานส่วนใหญ่จะเป็นค่าจัดเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน ทั้งงานที่บ้านฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย สมัยเมื่อ สามสิบสี่สิบปีก่อน ครอบครัวของคนไทยยังเป็นครอบครัวใหญ่ ใช้ชีวิตในชนบทมากกว่าในเมือง เมื่อมีงานอะไรเพื่อนบ้านหรือคนในหมู่บ้านก็จะมาช่วยงานกัน ไม่ต้องจ้าง แต่สมัยนี้คนรุ่นใหม่มุ่งสู่เมือง มีชีวิตที่เร่งรีบและใช้เงินซื้อความสะดวกสบาย อยากได้อะไรก็จ้างเขา ทำให้สิ้นเปลืองเงินทองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และสมัยนี้ก็มีกิจกรรมอื่นๆเพิ่มขึ้นมาอีก เช่น การถ่ายรูปคู่ก่อนแต่งงาน งานเลี้ยงบางคู่ก็จะจัดสองรอบ คือรอบญาติผู้ใหญ่ที่ต่างจังหวัด กับรอบเพื่อนฝูง ถ้าใครมีเงินมากพอ จะจัดงานแต่งงานใหญ่โตสิ้นเปลืองเงินทองแค่ไหนก็สามารถทำได้
แต่ถ้าเรามีงบประมาณที่จำกัด จะจัดสรรเงินกันอย่างไรดี ผู้เขียนมีแนวการจัดงานแต่งให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่มีจำกัดดังนี้
ข้อหนึ่ง ต้องวางแผนเรื่องงบประมาณ
ผู้ชายกับผู้หญิงต้องรู้ว่า จะใช้เงินสำหรับจัดงานแต่งงานนี้เท่าไหร่ โดยคำนึงถึงกิจกรรมที่จำเป็นและเป็นสาระสำคัญตามประเพณี เพราะเราไม่ได้มีเงินมากมาย ก็ต้องเลือกเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เพราะงบประมาณจะเป็นกรอบให้เราตัดสินใจว่าจะเชิญแขกมาในงานกี่คน อย่าหวังว่ายิ่งแขกเยอะก็จะได้เงินค่าช่วยซองเยอะ อย่าลืมว่า ถ้าคนเยอะค่าอาหารและสถานที่ก็ต้องเยอะขึ้นด้วย และส่วนใหญ่เงินที่ได้จากการช่วยซองจะน้อยกว่าค่าจัดเลี้ยงแน่ๆ
ข้อสอง เลือกกิจกรรม พิธีการที่จำเป็นจริงๆ
ในงานเลี้ยงพิธีการสำคัญของคู่บ่าวสาวคือ การที่ผู้ใหญ่มาร่วมกล่าวคำอวยพร และการกล่าวคำขอบคุณของคู่บ่าวสาวต่อแขกผู้มีเกียรติ ในส่วนของการแสดงดนตรี จ้างนักร้อง สามารถใช้วิธีการเปิดจากเครื่องเสียงได้ ก็ไม่จ้างนักดนตรีจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้มาก
ข้อสาม ลงมือทำในส่วนที่สามารถทำเองได้
สิ่งของบางอย่างเราสามารถทำได้ด้วยตนเอง ก็ให้ลงมือทำเอง เช่น การ์ดและของชำร่วย ลองหาไอเดียทำมือด้วยตนเองหรือหาซื้อส่วนประกอบ มาทำเองก็จะลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้มาก ซุ้มดอกไม้หรือฉากหลังสำหรับถ่ายรูปก็ไม่จำเป็นต้องสวยอลังการ เพียงใช้ความคิดสร้างสรรค์ก็สามารถทำออกมาดูดีได้ ถ้าเราไม่มีฝีมือ ก็วานให้พี่น้องเพื่อนฝูงมาร่วมด้วยช่วยกันก็ได้
ข้อสี่ ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป
ปัจจุบันงานแต่งงานจะพิธีการและกิจกรรมต่างๆที่ชอบทำตามๆกันเป็นกระแส บางสิ่งไม่จำเป็นและไม่ใช่สาระสำคัญของงานแต่ง ให้ตัดกิจกรรมหรือขั้นตอนพิธีการนั้นออก เช่น การถ่ายรูปก่อนแต่งงาน ถ้าไม่มีงบมากพอ ตัดออกไปก่อนก็ได้ ซุ้มดอกไม้ การตัดเค้ก การโยนช่อดอกไม้ สิ่งเหล่านี้แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อรวมๆกันก็ต้องใช้เงินทั้งนั้น