หลังจากที่ได้รู้จักกับประเภทของนักลงทุน (Value Investor : VI และ Speculators) ไปเมื่อภาคที่แล้ว (อ่านได้ที่นี่) ในภาคนี้เรามาดูกันว่า นักลงทุนแนว Value Investor : VI ผู้มีหลักการลงทุนแบบผู้ประกอบการ เค้ามีวิธีการในการเลือกหุ้นอย่างไรกันบ้างค่ะ
Top – down approach : ใหญ่ –> เล็ก
การเลือกหุ้นวิธีนี้ จะเริ่มจากการมองภาพรวมเศรษฐกิจ การเมือง และอุตสาหกรรม ในภาพใหญ่หรือระดับระหว่างประเทศ (macro) ก่อน แล้วจึงค่อยเจาะเข้ามาภายในประเทศ (micro) และไล่ไปจนถึงระดับบริษัท และงบการเงิน ตามลำดับ
** หรืออาจจะเริ่มจาก Trend ของโลกก่อนเลยก็ได้ **
ตัวอย่าง หลังจากที่นาย A ได้ทำการหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มของโลก พบว่า แนวโน้มที่สำคัญที่มีข้อมูลทางสถิติบ่งชี้อย่างชัดเจน ได้แก่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในแถบเอเชียและตะวันออกกลาง นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วย นาย A มองว่าเมื่อผู้สูงอายุมีมากขึ้นความต้องการทางด้านสุขภาพ และการแพทย์ น่าจะเพิ่มขึ้นด้วย จึงได้เริ่มมองหาอุตสาหกรรมภายในประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากประเด็นดังกล่าว และก็พบว่าอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จากนั้นนาย A ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหาปัจจัยและความเสี่ยงอื่น ๆ และพบว่า กลุ่มโรงพยาบาลมีความน่าสนใจมากกว่า เนื่องจากมีความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ต่ำกว่า อีกทั้งยังพบว่า มีโรงพยาบาล 3 แห่งในประเทศไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับโลก ที่สำคัญโรงพยาบาลทั้งสามแห่งมีกลุ่มผู้ป่วยหลักจากประเทศแถบเอเชียและตะวันออกลางอีกด้วย จากนั้นนาย A ได้วิเคราะห์งบการเงินของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง พบว่ามี 1 แห่งประสบปัญหาการขาดทุน 2 ปีซ้อน จึงเหลือ 2 แห่งสำหรับตัดสินใจในขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนสุดท้าย คือการประเมินมูลค่าหรือราคาของหุ้นว่าแพงเกินไปหรือไม่ โดยวิธีการประเมินมีอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่เป็นที่นิยมคือ การดูอัตราส่วนที่สำคัญทางการเงิน เช่น อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E ratio), ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV ratio) เป็นต้น หากพบหุ้นที่มี P/E หรือ P/BV ต่ำๆ แสดงว่าหุ้นยังมีราคาต่ำเมื่อเทียบกับความสามารถในการทำกำไร หรือมูลค่าทางบัญชี ตามลำดับ ซึ่งเมื่อนาย A ได้ทำการวิเคราะห์ดูแล้ว ปรากฏว่าเหลือโรงพยาบาลเพียง 1 แห่งที่มีอัตราส่วน P/E, P/BV ที่ต่ำ จึงตัดสินใจซื้อหุ้นของโรงพยาบาลนี้เพียงแห่งเดียว
Buttom – up approach : เล็ก –>ใหญ่
การคัดเลือกหุ้นวิธีนี้ จะตรงกันข้ามกับ Top-down approach โดยจะไล่จากภาพเล็กไปหาภาพใหญ่ ซึ่งจะให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์บริษัทเป็นหลัก หลังจากนั้น การวิเคราะห์ อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ จะเป็นตัวช่วย support การตัดสินใจซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ อีกครั้ง
ตัวอย่าง นาย B คนเหนือ เป็นพนักงานประจำอยู่ในกรุงเทพ ช่วงเวลาทำงานนาย B นั่งอยู่ในออฟฟิซติดแอร์ กลับถึงที่พักก็เปิดแอร์ วันไหนไม่ต้องทำงานก็พาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีแอร์ เช่น ห้างสรรพสินค้า, ร้านกาแฟ, ห้องสมุด ฯลฯ นาย B เริ่มสังเกตเห็นว่าตัวเองเริ่มจะขาดแอร์ไม่ได้ นอกจากนี้นาย B ยังสังเกตเห็นญาติ ๆ ที่อยู่ภาคเหนือ เริ่มมีการติดตั้งแอร์ตามที่พักอาศัยมากขึ้น จากประสบการณ์ตรงดังกล่าว นาย B คิดว่าด้วยอากาศที่ร้อนขึ้นทุกวัน บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่าย/ติดตั้งแอร์ หรือธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุสร้างบ้านที่ทำให้อุณหภูมิของบ้านเย็นขึ้น น่าจะมีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้มากขึ้น จากนั้นนาย B ก็หาข้อมูลบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทนี้ และเลือกมา 4 – 5 บริษัทที่น่าสนใจ แล้วเข้าไปดูงบการเงินต่าง ๆ เช่นงบดุลเพื่อดูความแข็งแกร่งทางการเงิน งบกำไรขาดทุนเพื่อดูศักยภาพในการทำกำไร รวมถึงอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ เช่น P/E ratio เพื่อดูว่าราคา ในปัจจุบันของหุ้นตัวนี้ถูกหรือแพง
ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้น นาย B ไม่ลืมที่จะพิจารณาภาพใหญ่ทั้งในและต่างประเทศประกอบด้วย นาย B มองว่า แม้ภายในประเทศจะเกิดปัญหาการเมือง, ภัยธรรมชาติ ฯลฯ หรือในต่างประเทศจะเกิดการสู้รบ ดอกเบี้ยต่ำ ฯลฯ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อุณหภูมิของโลกก็ยังคงสูงขึ้นอยู่ดี และทุกคนต่างก็พยายามหาวิธีดับร้อนด้วยกันทั้งนั้น น้อยคนที่จะมีเงินมากพอที่จะหนีร้อนไปเที่ยวต่างประเทศได้นานๆ ส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัยอยู่ในบ้านหรือในอาคารภายในประเทศเป็นหลัก จึงคิดว่าธุรกิจดังกล่าวน่าจะสามารถดำเนินต่อไปได้ แม้จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นก็ตาม