เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยมีความฝันว่าสักวันหนึ่งจะต้องร่ำรวยมีเงินทอง มีเงินใช้หลักหมื่นหลักแสนต่อเดือนโดยที่ไม่ต้องทำงาน สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นไปได้ด้วยการค่อยๆสะสมความมั่งคั่ง แน่นอนว่าในอดีตเคยมีคนที่ทำสำเร็จมาแล้ว เพราะฉะนั้นความฝันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถของเราอีกต่อไปเพียงแค่มีอดทนและมีความพยายามที่มากพอ และนอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญและจะขาดไม่ได้เลยที่จะทำให้คุณไปถึงความฝันนั้น ก็คือ การวางแผนการเงิน การวางแผนการเงินก็เปรียบเสมือนกับเข็มทิศที่จะช่วยให้คุณเดินตรงไปสู่เป้าหมาย โดยที่ไม่ออกนอกลู่นอกทางเสียก่อน มาดูกันครับว่าขั้นตอนพื้นฐานมีอะไรบ้าง และ มือใหม่ หัดวางแผนการเงิน จะสามารถทำตามได้หรือไม่ ไปดูกันครับ
ขั้นแรกจะเป็นการสำรวจตัวเองเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน
ก่อนอื่นเลยคุณต้องรู้ว่าสถานะทางการเงินของคุณเป็นอย่างไร โดยสามารถพิจารณาจากสินทรัพย์ หนี้สิน รายรับ และ รายจ่ายที่คุณมีว่าเมื่อหักลบปรบหนี้กันแล้วเหลือเงินเก็บหรือเป็นหนี้กันแน่ น่าแปลกที่คนส่วนใหญ่เมื่อทำขั้นตอนนี้เสร็จก็จะพบว่าสถานะของตัวเองคือเป็นหนี้ ซึ่งก็ไม่แปลกแต่อย่างใดเพราะคนส่วนใหญ่แค่ค่าผ่อนรถผ่อนบ้านก็ปาเข้าไปครึ่งหนึ่งของรายได้ต่อเดือนแล้ว ซึ่งต้องบอกว่า ถ้าคุณยังมีหนี้สินอยู่ ก็อาจต้องจัดการกับหนี้สินเหล่านั้นให้เรียบร้อยก่อน พอมีเงินเหลือจึงค่อยนำเงินที่เหลือมาทำให้เงินมันงอกเงยต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าคนที่เค้ามีเงินเก็บเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่คุณปลดหนี้ได้และเริ่มมีเงินเก็บบ้างแล้ว ก็คือ การกำหนดเป้าหมาย
ว่าจุดหมายที่คุณต้องการนั้นอยู่ตรงไหน อยากที่จะมีเงินใช้กี่บาทต่อเดือน แต่รู้เพียงแค่นี้ก็ยังไม่เพียงพอคุณต้องรู้ด้วยว่าคุณจะไปถึงเป้าหมายนั้นภายในระยะเวลาเท่าไหร่ เช่น อยากมีเงินใช้เดือนละหนึ่งแสนบาท โดยที่ไม่ต้องทำงานภายใน 20 ปีข้างหน้า เมื่อกำหนดตรงนี้ได้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้
ขั้นตอนที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย หลังจากที่ได้กำหนดเป้าหมายแน่ชัดแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายจะมาเลือกวิธีการว่าจะต้องใช้วิธีการลงทุนและบริหารเงินในรูปแบบไหนที่จะทำให้คุณไปถึงจุดหมายได้
ซึ่งในแต่ละคนจะรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นรูปแบบการวางเงินให้ทำงานของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เปรียบเทียบการวางเงินเหมือนการจัดทัพไปออกรบ โดนสมมุติให้คุณเป็นแม่ทัพ เงินเป็นทหาร ถ้าแม่ทัพสายบู้มากๆ อาจจะส่งทหารทั้งหมดออกจากเมืองไปลุยข้าศึก โดยไม่เหลือทหารไว้ปกป้องเมืองเลย ซึ่งก็อาจถูกข้าศึกลอบโจมตีเมืองจากจังหวะนี้ทำให้ผ่ายแพ้ได้ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งการที่ส่งทหารออกไปรบทั้งหมดก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะชนะข้าศึกในสนามรบ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีแบบไหนถูกหรือผิด การวางเงินก็เช่นกัน เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเสี่ยงที่รับได้ในแต่ละคน แต่ที่แน่ๆก็คือ ยิ่งเราอยากเพิ่มผลตอบแทนจำนวนมากๆในระยะเวลาอันสั้น ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงตามไปด้วย อย่างที่ฝรั่งชอบพูดกันว่า “high risk high return”
การลงทุนมีได้หลากหลายรูปแบบมาก อาจจะลงทุนใน พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้กระทั่งนาฬิกา หรือ พระเครื่องก็สามารถลงทุนได้เช่นกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของสิ่งเหล่านี้ก็คือ มูลค่าของมันสามารถเพิ่มขึ้นตามกาลเวลาที่เพิ่มขึ้นได้
ยกตัวอย่างเช่น หุ้น ตามสถิติของตลาดหุ้นไทยจะสามารถให้ผลตอบแทนได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ซึ่งค่อนข้างจะชัวร์ว่าได้10 เปอร์เซ็นต์ ต่อปีแน่ๆถ้าซื้อเฉลี่ยทุกเดือน 10 ปีขึ้นไปซึ่งจริงๆก็จะมีรายละเอียดมากกว่านี้โดยถ้าหากอยากจะลงทุนในหุ้นจริงก็สามารถที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามเว็บไซต์ต่างๆมากมาย แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ว่าถ้าคุณสร้างผลตอบแทนได้ต่อเนื่องปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ เพียงแค่เราเก็บเงิน เดือนละ 15,000 บาทแล้วซื้อหุ้นทุกเดือนๆแล้วสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเนื่องปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 20กว่าปี เราก็จะมีเงินประมาณ 12,000,000 ซึ่งเงินจำนวนนี้ตอนสิ้นปีถ้าเราทำผลตอบได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อปีอีก เราก็จะได้เงิน1,200,000 หรือ 100,000 ต่อเดือนนั่นเอง ใช่แล้วครับเราบรรลุเป้าหมายที่เราตั้งสมมุติไว้ในขั้นตอนที่2 แล้วครับ ซึ่งตรงนี้เป็นแค่การคำนวณเสมือนว่าเราสร้างผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกปีแต่จริงๆตลาดหุ้นไม่ได้ขึ้นเป็นเส้นตรง แต่มีการเหวี่ยงเป็นรอบๆ ตอนขึ้นก็ขึ้นไปสวรรค์ ตอนลงก็ดิ่งลงนรกเลยครับ บางปีอาจจะขาดทุนบางปีก็อาจได้กำไรมากกว่า 10% เพราะฉะนั้น หัวใจคือ ต้องทนราคาหุ้นที่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาให้ได้ครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
สุดท้ายก็ให้คิดไว้เสมอว่า แผนการเงินที่ทำเอาไว้คงไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากไม่ได้ทำตามสิ่งที่เราวางแผนเอาไว้ หัวใจสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการวางแผนทางการเงิน คือ ต้องมีความตั้งใจ มีวินัย และหมั่นศึกษาหาความรู้ ถ้าคุณทำตามแผน มีวินัยในการออมและลงทุน ก็แทบจะเป็นเครื่องการันตีได้เลยว่าคุณได้ก้าวขาข้างหนึ่งของคุณเข้าไปในเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว