เชื่อว่าหลายๆคน ประมาณเกือบ 80% เป็นมนุษย์เงินเดือน แต่ต้องบอกว่าน้อยมากนักของมนุษย์เงินเดือน ที่จะรู้ว่าตัวเองมีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง จากการที่ตนต้องโดนหักเงินทุกๆเดือน รู้แต่เพียงเบื้องต้นว่า เป็นประกันสังคมแต่ไม่รู้เลยมีอะไรบ้าง และต้องการดูข้อมูลสิทธิประโยชน์ที่เราได้ทำอะไรกับหน่วยงานราชการ หลายคนพอพูดถึงเรื่องราชการต้องมีความเห็นเดียวกันว่า รอช้า นาน ยุ่งยาก และลำบากเพราะต้องเดินทางไปยังสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ไกลบางทีก็ไม่สะดวกเท่าไหร่ ล่าสุด สำนักงานประกันสังคม หรือคนจะเรียกติดปากว่า สปส ได้เปิดตัว Application บนมือถือที่ชื่อว่า My SSO Smart Life ให้ได้ใช้งานบอกข้อมูลทุกอย่างที่เราต้องการจะรู้เกี่ยวกับ ประกันสังคมที่เราใช้อยู่
MY SSO แอพพลิเคชั่นสำหรับระบบ iOS และ Android เป็นแอพพลิเคชั่นจากผลงานของ CAT Telecom Public Co., Ltd. หรือ กสท ของประเทศไทย ที่ออกมาเพื่อมนุษย์เงินเดือนอย่างแท้จริงสำหรับผู้ประกันตนกับทางประกันสังคม ม.33 (ลูกจ้าง) ม.39 (ประกันตนเอง) เพื่อความสะดวก สบาย ในการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน เพียงแค่ทำการเข้าสู่ระบบด้วยเลขบัตรประชาชนเท่านั้นก็จะสามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์, เงินสมทบ, เงินสะสมชราภาพของตัวเองได้ง่ายๆ
Apps หน้าแรกทั้ง iOS หรือ Android จะหน้าตาคล้ายๆ
หลังจากโหลดแอพพลิเคชั่น ตามลิงค์ด้านล่าง
หลังจากโหลดเสร็จแล้วขั้นแรกคุณต้องเข้าสู่เมนูหลัก แล้วกรอกรหัสบัตรประชาชน ซึ่งคุณสามารถกดเข้าไปดูข้อมูลได้ โดยการลงทะเบียน ซึ่งต้องใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก โดยกดไปที่ลงทะเบียน เพื่อเข้าใช้ระบบ โดยจะต้องใส่คำนำหน้า, ชื่อ, นามสกุล, อีเมล์, เบอร์โทรศัพท์ รวมไปถึงการตั้งรหัสผ่านที่ต้องการจะใช้ภายใน Apps นี้
หลังจากนั้นข้อมูลจะปรากฏขึ้นมาทั้งหมด ดังนี้
1.ข้อมูลเป็นข้อมูล ที่เรากรอกเข้าระบบ รวมไปถึง สิทธิ์เราใช้มาตรา อะไรอยู่ และสถานที่รักษาพยาบาลที่เราสามารถใช้ประกันสังคมได้
2.ยอดเงินสะสมชราภาพ หลายคนสงสัยว่ามาจากไหนแล้วเราจะได้เงินก้อนนี้เมื่อไหร่ จะแสดงยอดเงินสะสมชราภาพ ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน และยอดรวมว่าตอนนี้เราได้มาแล้วเท่าไหร่
นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2546 เป็นต้นไป ผู้ประกันตนกับประกันสังคมซึ่งอายุครบ 55 ปี จะได้รับบำนาญชราภาพ หลังจากที่สะสมมาจนครบ 15 ปี หรือ 180 เดือน
โดยผู้ประกันตนที่หักเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเกินกว่า 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญ โดยมีวิธีคิดคือ
- ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นมาตราฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพตามข้อ 1 ขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน
- ค่าจ้างที่ใช้คำนวณเงินสมทบไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิกรณีบำนาญชราภาพต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้
– จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
– มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
– ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
ถ้าส่งเงินมาไม่ถึงหรือทำงานมีประกันสังคมไม่ถึง 15 ปีละ สามารถรับเงินส่วนนี้ได้ไหม?
แต่หากคุณส่งเงินประกันสังคมมาไม่ถึง 15 ปี หรือ 180 เดือน คุณจะได้รับเป็นเงิน “บำเหน็จ” แบ่งเป็น 2 กรณี
– กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
– กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำเหน็จชราภาพ
– จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
– ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
– มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน
– แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
– สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกันตนและของทายาทผู้มีสิทธิ (กรณีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพถึงแก่ความตาย)
– ใบมรณะบัตรพร้อมสำเนา (กรณีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพถึงแก่ความตาย)
– สำเนาสมุดบัญชี เงินฝากธนาคารหน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน 9 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน)
ส่วนเงินสมทบผู้ประกันตน ยอดเงินสมทบผู้ประกันตน โดยจะสามารถเลือกปีในการแสดงได้ว่าจะดูของปีไหน ตัวนี้หมายความว่า เงินสมทบที่ต้องนำส่งสำนักงานประกันสังคมเดือนละ 750 บาทต่อเดือน เงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือเงินเดือน เดือละ 15,000 บาท โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 5% (15,000x 5% = 750 บาทต่อเดือน) ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี (กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ) ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
การเบิกสิทธิประโยชน์ สามารถตรวจสอบการเบิกสิทธิประโยชน์ได้ว่าเราใช้อะไรในปีไหนบ้าง ข้อมูลก็จะโชว์ขึ้นมาว่าเราใช้สิทธิอะไรบ้าง
สิทธิที่ผู้ประกันตนจะได้รับ
บริการทางการแพทย์รวมถึงค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดการรักษาโรคตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานแบ่งเป็น 10 กรณี
- เจ็บป่วยปกติ
- เจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ
- ค่าบริการทางการแพทย์ กรณีทันตกรรม (ถอนฟัน อุดฟันและขูดหินปูน)
- กรณี บำบัดทดแทนไต ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาแบบถาวร การผ่าตัดปลูกถ่ายไต การผ่าตัดเปลี่ยนไตและการให้ยาอิธิโธรปัวอิติน (Erythropoietin)
- กรณีปลูกถ่ายไขกระดูก (วงเงิน 750,000 บาท)
- กรณีเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา (วงเงิน 25,000 บาท)
- ค่าอวัยวะเทียมและ อุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค (เช่น เท้าเทียม แขนเทียม ไม้ค้ำยัน เป็นต้น เบิกได้ตามรายการประกาศที่สำนักสังคมกำหนด)
- กรณีโรคเอดส์ (ผู้ประกันตนสามารถรับยาต้านไวรัสเอดส์ทั้งพื้นฐาน สูตรทางเลือกและสูตรดื้อยา รวมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล โดยไม่เสยค่าใช้จ่าย)
- กรณีที่มีสิทธิแต่ยังไม่ มีบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล (เบิกได้เช่นเดียวกันกับกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน หากจำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเกิน 72 ชั่วโมง ให้รับแจ้งสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา เพื่อสามารถเบิกค่ารักษาได้ถึงวันที่ออกจากโรงพยาบาล)
- กรณีไม่มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ (14 โรคยกเว้น)
ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ได้แก่
- ค่าตรวจวินิจฉัยโรค
- ค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
- ค่าบำบัดทางการแพทย์และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ
- ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล
- ค่ายาและค่าเวชภันฑ์
- ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย
- ค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เมื่อสำนักงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้วให้สำนักงานมีสิทธิไล่เบี้ัยแก่ผู้กระทำผิดได้ และ ค่าบริการอื่นๆ ที่จำเป็น
หลักเกณฑ์ที่จะทำให้ท่านมีสิทธิ คือ
- ต้องอยู่ในสถานประกอบการที่ไม่ได้รับการลดส่วนเงินสมทบในกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย
- จ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์
- การคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้คำนวณโดยนำค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบสูงสุด 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิ มารวมกันเป็นฐานในการคำนวณแล้วหารด้วย 90 วัน ในกรณีผู้ประกันตนมีค่าจ้างไม่ครบ 3 เดือน ให้คำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ยเป็นรายวัน
หมายเหตุ สำหรับผู้ประกันตนที่ลาออกจากงานหรือความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงและย้าย กลับภูมิลำเนาสามารถเปลี่ยนโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้ เรียกว่า เปลี่ยนบัตรรับรองสิทธิฯ มาตรา 38 ซึ่งสิทธิจะคุ้มครอง 6 เดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สิทธิการคุ้มครองมี 4 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต
สุดท้ายแอพนี้ยังมีในส่วนของการสอบถามข้อมูลประกันสังคม รวมทั้งมีคู่มือการใช้งาน Application อีกด้วย
เป็นประโยชน์อย่างมากเลยที่เราเริ่มที่จะเข้าถึงการใช้สิทธิ เห็นแบบนี้ก็โล่งใจหน่อยว่าเงินที่เราจ่ายไป ไม่ได้สูญเปล่าเรามีเงินคุ้มครองจากหลากหลายโรงพยาบาลที่เราจะเลือกรักษา รวมถึงเงินสะสมในยามชราอีกด้วย เห็นเป็นไม่ได้ที่ทุกคนต้องมี แอพพลิเคชั่นดีๆ แบบนี้ในเครื่องสำหรับใครที่ยังไม่มีรีบๆโหลดกันเลยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.sso.go.th/