มีเงินเขานับเป็นน้อง…มีทองเขานับเป็นพี่…แล้วถ้ามีหนี้ล่ะ นับเป็นอะไรดี
คำว่า “หนี้” ถ้าให้ดีคงต้องหนีให้ไกล เพราะคงไม่มีใครอยากเข้าใกล้หรืออยากจะมี แต่ถ้าเมื่อไม่อยากมีหนี้เป็นของตัวเอง ก็ต้องพยายามมีสติในการใช้จ่าย ไม่ฟุ่มเฟือย หรือเลือกซื้อของที่ไม่จำเป็นจนเกินตัว โดยเฉพาะทุกวันนี้ที่ความสะดวกสบายอยู่ใกล้แค่มือเอื้อม เงินอนาคตในรูปแบบบัตรเครดิตหรือสินเชื่อเงินสดส่วนบุคคลก็เข้าถึงง่ายดาย จนทำให้หลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก่อหนี้กันอย่างไม่รู้ตัว
จากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้เห็นตัวเลขที่น่าตกใจของระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีสัดส่วนต่อจีดีพีในระดับใกล้ 80% และที่น่าตกใจยิ่งกว่า เมื่อพบว่า คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการก่อหนี้ที่รวดเร็ว และระดับหนี้ไม่ได้ลดลงมากนักแม้จะเข้าสู่วัยเกษียณแล้วก็ตาม
ความน่ากลัวนี้เองที่ทำให้ ธปท. ต้องขอกลับมาทบทวนกฎเกณฑ์การให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อไร้หลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ว่าควรดำเนินไปในทิศทางใด เพื่อให้คนรุ่นใหม่ก่อหนี้ลดลง ซึ่งล่าสุดได้เตรียมออกประกาศเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
-
จำกัดวงเงินสินเชื่อจากที่เคยปล่อยสูงถึง 5 เท่าของฐานเงินเดือน เปลี่ยนเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ 1.5-5 เท่า ตามฐานเงินเดือนของผู้ขอสินเชื่อ
-
ผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000-30,000 บาท จะได้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1.5 เท่าของฐานเงินเดือน และถือบัตรเครดิตได้ไม่เกิน 3 ใบ
-
ผู้ที่มีเงินเดือน 30,000-50,000 บาท จะได้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 เท่า และสามารถถือบัตรได้ไม่เกิน 5 ใบ
-
ผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป จะได้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 เท่า
ซึ่ง ธปท. เชื่อว่าการปรับเกณฑ์ใหม่แบบนี้ จะช่วยให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนชะลอตัวลงได้ ทั้งยังป้องกันไม่ให้คนที่มีรายได้น้อยใช้จ่ายเกินตัวอีกด้วย
ในหลายภาคส่วนต่างออกมาสนับสนุนอย่างเต็มที่กับมาตรการของ ธปท. ในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าจะเป็นการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้แก่คนรุ่นใหม่ไม่ให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินเพดานฐานเงินเดือนที่ตนมี และที่สำคัญที่สุดจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงิน
ในส่วนของสถาบันการเงินต่าง ๆ อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการเพิ่มลูกค้าบัตรเครดิตหรือผู้ขอสินเชื่อรายใหม่อยู่บ้าง แต่ทุกฝ่ายต่างเตรียมรับมือปรับกลยุทธ์มุ่งไปสู่ธุรกิจอื่นที่มีการเติบโต เช่น สินเชื่อบ้าน หรือมุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงแทน
แม้มาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยควบคุมไม่ให้คนรุ่นใหม่ก่อหนี้สร้างสินเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง แต่หากทุกคนรู้จักความพอเพียง และเพียงพอต่อความต้องการ ไม่ใช้จ่ายสิ่งของฟุ่มเฟือยจนไร้ขอบเขตรายรับของตน มีสติยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งของที่กวนใจให้หลงใหลไปกับความอยากได้อยากมี เพียงเท่านี้ ไม่ว่าคุณจะมีรายได้น้อยหรือมาก ก็ปราศจาก “หนี้สิน” ได้อย่างแน่นอน
…เพราะความไม่มีหนี้ สร้างแต่สิ่งดี และมีสุขให้ทุกคนอยู่เสมอ…
ที่มา