ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับสินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันกันก่อน ซึ่งก็หมายถึงสินเชื่อที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันอาจเป็นในรูปของอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน คอนโดหรือสังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์หรือบัญชีเงินฝากธนาคาร เป็นต้น สินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่า หากกรณีลูกค้าเกิดผิดนัดชำระหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารหรือสถาบันการเงินสามารถยึดหลักทรัพย์ที่ลูกค้านำมาค้ำประกันเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้ได้
สินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี ก็มีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ ทั้งสองกรณีเมื่อธนาคารหรือสถาบันการเงินให้ลูกค้ากู้ บ้าน คอนโด อาคารพาณิชย์หรือรถยนต์ ก็จะเป็นหลักทรัพย์ที่ลูกค้านำมาค้ำประกันวงเงินสินเชื่อนั้น ๆ
วันนี้เราจะมาคุยกันเป็นพิเศษถึงเรื่องสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกัน เมื่อเราทำการขอสินเชื่อเพื่อกู้ซื้อบ้านหรือคอนโดกับทางธนาคาร ช่วงเวลาที่เราผ่อนชำระค่างวดอยู่นั้น เราจะยังไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโดนั้นอย่างเต็มตัว แม้เราจะเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริงก็ตาม เราจะเป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโดนั้นอย่างเต็มตัวก็ต่อเมื่อเราผ่อนชำระค่างวดสุดท้ายครบตามระยะเวลาในสัญญาเงินกู้ การคิดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก แม้ค่างวดที่ส่งในแต่ละเดือนจะเป็นยอดเงินที่เท่ากัน แต่ค่างวดที่จ่ายจะค่อย ๆ ไปลดเงินต้นมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากทุกครั้งที่จ่ายค่างวดเงินต้นของเราจะลดลง ค่างวดเดือนต่อไปก็จะเป็นส่วนของดอกเบี้ยน้อยลงจ่ายเงินต้นคืนมากขึ้น ดังนั้น หากเรามีเงินก้อนสามารถมาชำระคืนเงินกู้ได้เร็ว ก็จะทำให้หนี้หมดเร็วขึ้นด้วย
กรณีที่เรา ขาดส่งค่างวดสินเชื่อบ้าน หรือคอนโดจะเกิดอะไรขึ้น
ปกติในสัญญาเงินกู้จะมีกำหนดไว้ว่าจะต้องจ่ายค่างวดในวันที่เท่าไร่ของเดือน ลูกค้าควรจ่ายค่างวดไม่เกินวันที่กำหนดไว้นี้ ควรจ่ายค่างวดตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ค่างวดไปตัดดอกเบี้ยและเงินต้นตามที่กำหนดไว้ จ่ายก่อนได้แต่ไม่ควรจ่ายช้า เพราะหากจ่ายช้าค่างวดจะถูกแบ่งไปจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านจะคิดเป็นรายวันที่สำคัญอีกอย่างคือแต่ละธนาคารจะมีข้อกำหนดจำนวนวันที่ลูกค้าสามารถจ่ายค่างวดบ้านช้าได้โดยที่ยังไม่คิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด บางธนาคารก็ 75 วัน บางธนาคารอาจกำหนดไว้เร็วหรือช้ากว่านี้ หมายความว่า หากเราขาดส่งค่างวดบ้านเกินกว่า 75 วัน ธนาคารจะเริ่มคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดที่จะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติมาก เช่น อัตราดอกเบี้ยปกติของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ประมาณ 6-8% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสูดจะอยู่ที่ 15-18% แล้วแต่ธนาคาร ทำให้พอขาดส่งไปเกินกำหนดจะโดนคิดที่อัตราดอกเบี้ยผิดนัดนี้
ในกรณีที่ขาดส่งแค่งวดเดียวอาจจะเพราะลืมหรือจ่ายไม่ทัน เมื่อส่งค่างวดเข้าไปใหม่ค่างวดนั้นจะโดนตัดดอกเบี้ยเยอะจนเหลือไปตัดเงินต้นแค่นิดเดียว งวดถัดไปก็ต้องจ่ายให้ตรง หากจ่ายไม่ตรงอีกเกินกำหนดก็จะโดนอัตราดอกเบี้ยผิดนัดนี้อีก กลายเป็นเงินค่างวดที่ส่งไปเหมือนจะไปจ่ายแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น บางครั้งจ่ายดอกเบี้ยยังไม่พอ กลายเป็นดอกเบี้ยเป็นหนี้ทบต้นเข้าไปอีกทุกครั้งหากขาดส่งค่างวดเพราะลืม เมื่อทราบควรรีบจ่ายทันทีและต้องจ่ายสำหรับงวดต่อไปให้ตรงตามกำหนดด้วย เพื่อทำให้การผ่อนชำระกลับมาเป็นปกติ พูดให้เข้าใจง่ายก็คือหากลืมจ่ายค่างวดในเดือนใด ก็ให้จ่ายค่างวดในเดือนต่อไปพร้อมกัน 2 งวดเลย
ปกติหากขาดส่งค่างวดตั้งแต่งวดที่ 1 ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารก็จะโทรมาเตือนแล้ว แต่หากขาดส่งค่างวดบ้าน 3 งวดติดต่อกัน ทางธนาคารจะถือว่าหนี้กลายเป็นหนี้เสียและจะส่งข้อมูลไปยังเครดิตบูโรก็จะมีประวัติการเป็นหนี้ที่ไม่ดี ในขณะที่ดอกเบี้ยผิดนัดรวมถึงค่าปรับและค่าทวงหนี้ต่าง ๆ กรณีจ่ายค่างวดล่าช้าก็จะถูกคิดคำนวณไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลาที่เรายังค้างชำระหนี้อยู่ หนี้สินก็จะมีดอกเบี้ยพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นตัวเลขหนี้ที่น่าตกใจ