สิ่งสำคัญในการทำประกันชีวิต คือ การพิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยประกันและความพร้อมว่าจะสามารถจ่ายเบี้ยประกันไปได้ตลอด
- คำแนะนำทั่วไปสำหรับคนโสด ค่าเบี้ยประกันต่อปีไม่ควรเกิน 15%-20% ของรายได้ต่อปี
- สำหรับคนมีครอบครัว ค่าเบี้ยประกันต่อปีไม่ควรเกิน 10%-15% ของรายได้ต่อปี ซึ่งคำนวณรวมแล้วนับเป็นเงินจำนวนไม่น้อย
การชำระค่าเบี้ยประกันรายปีช่วยประหยัดได้ 5%-8%
คำแนะนำโดยทั่วไปให้การจ่ายเบี้ยประกันในปีแรกควรจ่ายรายปีก่อน หากต้องการจ่ายรายเดือนในปีต่อ ไป สามารถเปลี่ยนเป็นจ่ายรายเดือนได้หรือปรับเปลี่ยนตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละคนก็ได้
จุดเด่นของการ จ่ายเบี้ยประกันแบบรายปี จะทำให้จ่ายเบี้ยในอัตราที่ถูกกว่ารายเดือน ช่วยประหยัดเงินในระยะยาวได้ การจ่ายค่าเบี้ยประกันเป็นรายปีจะทำให้จ่ายเบี้ยในอัตราที่ถูกกว่ารายเดือน เพราะการจ่ายรายปีจะได้รับส่วนลดประมาณ 5%-8% เมื่อเทียบกับการจ่ายแบบรายเดือน แม้ดูไม่มากนัก แต่เมื่อสะสมไปทุกปีจะช่วยประหยัดเงินการจ่ายค่าประกันในระยะยาวได้
อย่างไรก็ดี การจ่ายค่าเบี้ยประกันรายปีนั้นผู้ทำประกันต้องมีเงินก้อนโต เช่น ค่าเบี้ยรายปี 90,000 บาท ตัวเลขควรจะแบ่งย่อยออกเป็นรายเดือน ซึ่งจะเหลือประมาณเดือนละ 7,500 บาท เพื่อจะทยอยเก็บออมให้ได้ตามเป้าหมาย
ผู้ทำประกันต้องใช้ความอดทนและมีวินัยการออมอย่างมาก ผู้ทำประกันอาจเลือกใช้วิธีหักเงินจากบัญชีเงินเดือนทุกเดือนแล้วฝากเข้าบัญชีธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูงเพื่อจะได้ไม่รู้สึกเป็นภาระมากเกินไป ทั้งยังได้ดอกเบี้ยเป็นของแถมด้วย สำหรับผู้ที่มีเงินโบนัสหรือมีรายได้เป็นเงินก้อนโต อาจฝากประจำในระยะเวลาการฝากไม่เกิน 1 ปี ในกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ เช่น ถ้ามีค่าเบี้ยประกันรายปี 90,000 บาท เลือกฝากแบบครั้งเดียว ได้ผลตอบแทน 2% ต่อปี จะได้เงินรวมขณะถอนออก 10,800 บาท
โดยปกติการชำระค่าเบี้ยประกันแบบรายปีเมื่อครบกำหนดชำระแล้ว จะมีระยะเวลาผ่อนผันให้ 30 วัน หรือ 60 วัน นับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระเบี้ยประกัน หากชำระค่าเบี้ยประกันด้วยบัตรเครดิตจะทำให้รอบบัญชีในการชำระเงินเลื่อนออกไปอีกโดยจำนวนวันที่ยืดออกไปนั้นขึ้นอยู่กับรอบการชำระเงินของบัตรเครดิต แม้จะยืดเวลาออกไปแต่ในช่วงระยะเวลาผ่อนผันนั้น ผู้เอาประกันยังได้รับความคุ้มครองเช่นเดิม
หากผู้ทำประกัน จ่ายเบี้ยประกันแบบรายปี แต่เกิดปัญหาทางการเงิน เนื่องจากภาระค่าใช้จ่าย หรือเหตุผลอื่น ๆ เมื่อผ่านมาระยะหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถชำระทั้งก้อนได้ ผู้ทำประกันสามารถติดต่อบริษัทประกันเพื่อขอเปลี่ยนแปลงงวดการชำระค่าเบี้ยประกัน เช่น แบ่งจ่ายเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน หรือราย 6 เดือน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบกรมธรรม์นั้นด้วย การขอเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชำระจะช่วยให้ผู้ทำประกันไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันด้วยเงินก้อนใหญ่ แต่ค่อย ๆ ทยอยจ่ายค่าเบี้ยประกันไปตามรอบชำระนั้น
ทั้งนี้ การประกันชีวิตสามารถนำเบี้ยที่จ่ายในแต่ละปีมาลดหย่อนภาษีนั้นเป็นเพียงผลประโยชน์แฝงที่ได้รับจากการทำประกันซึ่งมีเพดานสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร เช่น ถ้าผู้ทำประกันมีฐานภาษี 10% จ่ายเบี้ยประกันปีละ 100,000 บาท สามารถลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท เพื่อจะนำมารวมกับเงินค่าชำระเบี้ยประกันในปีต่อไปได้เลย
สำหรับการซื้อประกันชีวิตที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นกรมธรรม์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 10 ปี ส่วนอนุสัญญาหรือประกันเพิ่มเติมประเภทประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
อ่านเพิ่มเติม >> ทำประกันไว้ อย่าลืมเอาเบี้ยประกันภัยมา ลดหย่อนภาษี <<
ในกรณีของการประกันสุขภาพและการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การชำระเบี้ยประกันเป็นแบบปีต่อปี สำหรับเบี้ยประกันและทุนประกันมีความแตกต่างกันตามลักษณะของอาชีพของผู้ทำประกัน ทางบริษัทประกันมีการแบ่งชั้นอาชีพเป็น 3 ระดับตามความเสี่ยงและเหมาะสม เช่น
- อาชีพที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุน้อยที่สุด เช่น ครู แพทย์ เสมียน พนักงานประจำ
- อาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอาชีพที่ 1 เช่น เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ เกษตรกร หัวหน้าคนงาน ช่างประเภทต่าง ๆ
- อาชีพที่มีความเสี่ยงมาก เช่น ช่างไฟฟ้า คนขี่จักรยานยนต์รับจ้าง ไต๋กงเรือ
การชำระค่าเบี้ยประกันรายเดือนเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเงินก้อน
นอกเหนือจากการชำระเบี้ยประกันเป็นรายปี ผู้ทำประกันสามารถเลือกงวดการชำระค่าเบี้ยประกันแบบอื่น ๆ เช่น แบ่งจ่ายเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน หรือราย 6 เดือน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบกรมธรรม์นั้นด้วย ช่วยให้ผู้ทำประกันไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันด้วยเงินก้อนใหญ่ แต่ค่อย ๆ ทยอยจ่ายค่าเบี้ยประกันไปตามรอบชำระนั้น
เมื่อเกิดความไม่แน่นอนที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ การแบ่งจ่ายเป็นงวดเป็นหนทางออกที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและช่วยให้ผู้ทำประกันไม่ยืดเวลาชำระเนิ่นนานไปจนขาดอายุกรมธรรม์ ทำให้ต้องต่ออายุกรมธรรม์และอาจต้องเสียประโยชน์ความคุ้มครองในช่วงเวลานั้นไปอย่างน่าเสียดาย
การทำประกันชีวิตเป็นการบังคับออมเงินอัตโนมัติ ผู้ทำประกันต้องรู้ว่าจะจ่ายค่าเบี้ยประกันเวลาใดและจำนวนเท่าไร แล้ววางแผนเก็บเงินเพื่อจะได้มีเงินชำระเบี้ยตรงเวลา หากวางแผนไม่ดีเมื่อถึงเวลาชำระค่าเบี้ยแต่ละงวด อาจไม่เหลือเงินพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ดี การแบ่งชำระเบี้ยประกันเป็นงวด ๆ จ่ายค่าเบี้ยประกันก้อนเล็กลง แต่มีผลให้เบี้ยรวมในแต่ละปีสูงกว่าการชำระครั้งเดียว ยิ่งแบ่งงวดชำระย่อยลงมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มียอดรวมสูงขึ้นเท่านั้น ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องปรับทุนประกันชีวิตให้เหมาะสมกับความสามารถในการจ่ายเบี้ย เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นค่อยเพิ่มทุนประกันให้สูงขึ้นในอนาคต
ผู้ทำประกันจะสะดวกหรือพอใจแบบใดคงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคน พิจารณาข้อดีข้อด้อยและเลือกอย่างระมัดระวัง เพราะการทำประกันไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์ประเภทใดย่อมต้องการให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ทางที่ดีควรเตรียมแผนการเงินสำรองไว้ กรณีที่การชำระค่าเบี้ยประกันไม่เป็นไปตามแผน สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงที ดีกว่าไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน