ข่าวทุกวันนั้นที่มีออกมาหนีไม่พ้นในเรื่องของการถูกหลอกลวงหรือถูกต้มตุ๋นกันมีให้เห็นกันไม่เว้นในแต่ละวัน กลลวงนั้นก็มีในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เรียกได้ว่ามีหลอกลวงกันทั่วทุกแขนงในสังคมไทยเลยก็ว่าได้ ไม่เฉพาะแต่คนที่มีอายุน้อยประสบการณ์การใช้ชีวิตน้อยเท่านั้นที่จะถูกหลอก แม้แต่คนในวัยทำงานหรือแม้แต่คนแก่ ผู้สูงอายุก็ถูกหลอกกันได้แบบถ้วนหน้า ต่อให้มีเงินมีฐานะหรือมีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีดีแค่ไหน บางทีก็ยังมีโอกาสถูกหลอกได้เหมือนกัน
สำหรับเหตุการณ์การหลอกลวงที่เป็นข่าวนั้น ก็เป็นเรื่องราวดังนี้
- แก๊งค์ call center ที่เน้นหลอกลวงผู้สูงอายุให้โอนเงินเข้าบัญชี โดยหลอกว่าคนในครอบครัวหรือลูกหลานกำลังประสบภาวะเหตุการณ์บางอย่างอยู่
- แชร์ลูกโซ่ ที่มาในรูปแบบที่แตกต่างกันไป อย่างที่เห็นล่าสุดก็จะเป็นการหลอกลวงให้เหยื่อนำเงินมาลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูง พร้อมกับให้ชักชวนคนในครอบครัวและเพื่อนฝูงมาสมัครเป็นสมาชิกด้วย
- หลอกให้โอนเงิน เป็นรูปแบบของการติดต่อจากชาวต่างชาติโดยใช้ระยะเวลานานเพื่อให้เหยื่อตายใจ โดยมากเป็นเรื่องรักใครทำนองชู้สาว มีการหลอกว่าส่งของมีมูลค่ามากหรือเป็นเงินสกุลต่างประเทศมาให้ โดยเราต้องโอนเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับของศุลกากรไปยังบริษัทที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเหยื่อโดยเฉพาะ
- หลอกให้ซื้อบัตรเติมเงินของทรู เป็นการอ้างชื่อของคุณตัน อิชิตัน ว่าเราเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลเป็นเงินสดมูลค่า 1 ล้านบาท แต่ก่อนรับรางวัลจะต้องมีขั้นตอนในการเสียภาษีโดยให้ซื้อบัตรสลิปหรือบัตรเติมเงินของทรูมูฟ 1,000 บาท จำนวน 5 ใบ แล้วให้ถ่ายรูปส่งไป หลังจากนั้นจะนำหลักฐานการเสียภาษีไปติดต่อเพื่อรับเงินรางวัลมามอบให้เรา กว่าเหยื่อจะรู้ตัวว่าโดนหลอกบัตรเติมเงินที่ซื้อไว้ก็ถูกใช้จนเงินหมดเรียบร้อยแล้ว
- หลอกพาไปทำงานต่างประเทศ เสียเงินเสียทองไปมากมาย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไปเป็นพวกเอเย่นต์ผี
- หลอกว่าให้เรียนฟรี 15 วัน จากสถาบันสอนภาษา แต่เมื่อเดินทางไปกลับพบว่าเป็นการพยายามที่จะขายคอร์สเรียนภาษาอังกฤษราคาแพงมาก เมื่อขอตัดสินใจก็จะให้ลงทะเบียนไว้ก่อนโดยมีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน 500 บาท
- หลอกขายตัวละครโปเกมอน มีการพยายามหลอกขายตัวละครในเกมโปเกมอน โดยผู้เล่นจะต้องให้ข้อมูลส่วนตัว
- หลอกขายสินค้าในเฟซบุ้ก โดยให้ลูกค้าโอนเงินให้ก่อน อาจมีการส่งสินค้าให้ในงวดแรก ๆ เมื่อออเดอร์สินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงหลังก็กำเงินที่ลูกค้าโอนเงินค่าสินค้าให้ก่อนหายเข้ากลีบเมฆไปเลย
- หลอกหารายได้เสริมผ่านเน็ต เป็นอีกช่องทางหนึ่งของกลโกลในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หากินบนความต้องการในการหารายได้เสริมของผู้คน เมื่อสมัครก็อาจมีค่าสมัครและต้องเดินทางเข้าไปเข้าอบรมฟัง เมื่อไปก็จะเป็นแผนธุรกิจการหาสมาชิกเพื่อให้ได้เงิน ไม่ใช่เป็นการทำงานผ่านเน็ตแต่อย่างใด
- หลอกให้ทำประกัน โดยให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนหรืออาจมีข้อมูลที่ผิดพลาดเบี่ยงเบนไปด้วยซ้ำ อาศัยว่าลูกค้าประกันส่วนใหญ่ไม่ค่อยอ่านหรือเช็คกรมธรรม์ในภายหลัง กว่าจะรู้ว่าประกันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดก็ส่งค่าเบี้ยประกันไปหลายงวดแล้ว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงยังมีเรื่องราวที่หลอกลวงกันมากกว่านี้อื่น รูปแบบแต่ละอย่างของการหลอกลวงก็มีความเสียหายของเหยื่อที่แตกต่างกันไป บางอย่างก็ไม่ได้ผลกระทบอะไรมากนักเป็นแค่เพียงการแชร์ข้อมูลแบบผิด ๆ หรือเกิดเป็นอีเมลขยะ แต่ความเสียหายบางอย่างก็ถือว่าใหญ่หลวงต้องเสียเงินเสียทองมากมาย บางคนหลงเชื่อทำให้ต้องสูญเสียเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตก็มีข่าวมาให้เห็นแล้วเช่นกัน
เมื่อมานั่งวิเคราะห์ดูกลโกงในรูปแบบต่าง ๆ ว่าเพราะเหตุใดจึงยังมีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่บางรูปแบบก็เห็นกันมานานหลายสิบปี ก็ยังมีเหยื่อให้ถูกหลอกอยู่ได้เรื่อย ๆ ขนาดแม้แต่คนที่เรียนจบมาสูง มีการศึกษาดี มีความรู้ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นอย่างดี ก็ไม่พ้นที่จะถูกหลอกตกเป็นเหยื่อได้เช่นเดียวกัน
คนที่จะโดนหลอกหรือตกเป็นเหยื่อได้ง่ายนั้น ที่จริงไม่ได้มีสูตรสำเร็จว่าจะต้องหลอกคนที่มีอายุมาก คนที่มีเงินน้อยหรือคนที่ไม่มีการศึกษาถึงจะสำเร็จได้มากกว่า เรื่องการถูกหลอกง่ายหรือยากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยามากกว่า คนทุกวัย ทุกฐานะและทุกระดับการศึกษามีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อและถูกหลอกได้เหมือนกัน เพราะผู้ที่ต้องการหลอกนั้นเขาต้องสรรหาวิธีการแทบทุกชนิดเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ คนเหล่านี้รู้ดีว่าคนส่วนใหญ่ต้องการอะไร ก็จะใช้จุดนั้นมาเป็นกลลวงในการชักจูงเพื่อให้เหยื่อปฏิบัติตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ
ในเชิงจิตวิทยาบางสถานการณ์มนุษย์เราก็ไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุด้วยผล ทั้งที่จริงแล้วเราเป็นคนมีเหตุผลก็ตาม อย่างที่เคยมีการทดลองในเรื่องให้เลือกภาพว่าเส้นใดจาก 3 เส้นที่ยาวที่สุด เมื่อเรามองและตัดสินใจก็จะเห็นว่าต้องตอบเส้นที่ 2 แต่หากคนที่เข้าร่วมกลุ่มการทดลองกับเราทุกคนตอบเส้นที่ 1 คนส่วนใหญ่ก็มักจะเปลี่ยนไปเลือกเส้นที่ 1 ตามโดยละทิ้งความมีเหตุมีผลของคำตอบเพื่อไปเลือกตามคนส่วนใหญ่ เรื่องจิตวิทยานี้แหละที่เป็นสิ่งอธิบายถึงการกระทำของคนส่วนใหญ่ที่บางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวว่าเราทำอะไรลงไป
คนส่วนใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อให้กับเหล่ามิจฉาชีพพวกนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะเหตุผลต่อไปนี้
- โลภ อยากรวย ทุกคนก็ย่อมอยากรวย อยากมีเงินมากกันจนบางครั้งทำให้เหมือนกันลืมมองเหตุผลและความเป็นไปได้ของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ จึงเหมือนเป็นคนตาบอดที่สุดท้ายก็ต้องถูกหลอกเสียเงินมากน้อยกันไป
- รู้ไม่เท่าทัน กลโกงที่มักมาในรูปแบบใหม่ ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อหลอกทำให้ดูน่าเชื่อถือมาก บางกลโกงมีกลยุทธ์หรือวิธีการที่ทำให้เหยื่อตายใจและหลงเชื่อก่อน แล้วจึงค่อยหลอกในภายหลัง วิธีนี้ทำให้หลายคนถูกหลอกเอาได้ง่าย ๆ เช่นกัน
- ไม่ใช้เหตุผล เมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องเฉพาะหน้าคนส่วนใหญ่มักใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลและมักขาดสติในการไตร่ตรองเรื่องราวและเหตุการณ์อย่างรอบคอบเสียก่อน
- เชื่อคนง่าย คนส่วนใหญ่ใจอ่อน หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ ลืมคิดลืมตั้งคำถามกับตัวเองว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นไปได้หรือไม่ พอเชื่อหรือไว้ใจแล้วก็ลืมขั้นตอนในการตรวจสอบไป
- ทำตามคนอื่น เมื่อเห็นว่ามีคนส่วนใหญ่ทำกันมากมายก็ทำตามโดยไม่ได้หาข้อมูล เรียกว่าเขาเฮไหนก็เฮตาม สุดท้ายก็โดนต้มกันยกแก๊งค์
- ไม่มีข้อมูล ขาดการติดตามข่าวสาร บางคนไม่สนใจติดตามข่าวสารข้อมูลในเรื่องกลโกงเหล่านี้ ซึ่งที่จริงแล้วถือเป็นประโยชน์มาก ทำให้กลโกงแบบซ้ำ ๆ ที่ทำกันมานานจึงสามารถยังใช้หลอกคนได้อยู่เรื่อย ๆ
คราวนี้เราไปลองดูมุมมองของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ที่เคยให้สัมภาษณ์ลงในหนังสือสารคดีเมื่อปลายปีที่ผ่านมา อาจารย์ได้บอกไว้ว่าให้เราการดำเนินชีวิตของเราในทุกวันนี้ก็อยู่ภายใต้การถูกหลอกลวงอยู่แล้วในทุกวัน ทั้งจากการโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริงต่าง ๆ อาจารย์ได้อ้างคำกล่าวของมาร์ก ทเวน ว่าการหลอกคนนั้นง่ายกว่าการทำให้คนถูกหลอกยอมรับว่าตัวเองโดนหลอก ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงทีเดียว เรื่องที่แชร์กันในโลกออนไลน์ในทุกวันนี้นั้น กว่า 80-90% ก็แทบจะไม่เป็นความจริง เมื่อเราต้องพบเจอกับเหตุการณ์ใดก็ตามอาจารย์ได้ให้คำแนะนำว่าให้เราทำตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องคอยตั้งข้อสังเกต คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเป็นตรรกะ คิดให้มาก ๆ ตั้งคำถามให้เยอะ ๆ ว่าหากเราทำแบบนี้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ อย่าแค่เพียงทำตามคนส่วนใหญ่ โลภ อยากรวย โดยไม่หาข้อมูลหรือศึกษาหาความรู้ก่อน มิเช่นนั้นก็มีโอกาสที่จะโดนหลอกกันได้ง่าย ๆ
สิ่งที่ต้องระลึกอยู่เสมอ ก็คือ ของฟรีไม่มีในโลกและไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย ๆ สำหรับการหลอกลวงที่ใช้ความอยากรวยเป็นที่ตั้ง ท่องไว้เลยจริง ๆ อะไรที่มันง่ายนักมักจะมีอะไรที่แอบแฝง บางครั้งก็ต้องหัดมองโลกในแง่ไม่ดีไว้บ้าง หากเช็คหรือตรวจสอบข้อมูลก่อนได้ ให้ทำก่อนเสมอ ไม่มีอะไรเสียหายหากจะเสียเวลาเช็คเพียงเล็กน้อย ดีกว่าเราต้องสูญเสียอะไรที่มากมายกว่าเวลาแน่นอน อย่าแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้ใครที่เราไม่รู้จัก โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ คิดให้มาก ตั้งคำถามให้มาก หากเรารู้ว่าเราเชื่อคนง่าย ให้ปรึกษาคนใกล้ตัว ปรึกษาหลาย ๆ คน บางคนมีข้อมูลมีประสบการณ์มากกว่าเราก็จะให้คำแนะนำเราได้ สุดท้ายคือต้องเปิดหูเปิดตาอยู่เสมอ อ่านข่าวสารเพื่อให้มีข้อมูลอัพเดทในเรื่องกลโกงในรูปแบบต่าง ๆ จะได้ไม่โดนหลอกซ้ำ
อ้างอิง