ตัวการหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจนั้นมาจากความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ แต่ทว่าการคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและไม่ง่ายเลยที่ผู้ประกอบการจะสามารถคาดคะเนได้อย่างแม่นยำ ทำให้เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาดบ้าง ล้นตลาดบ้าง คละเคล้าสลับกันไป
Philip Kotler กูรูการตลาดระดับโลก นักการตลาดชั้นเซียนได้อธิบายระดับความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคไว้ได้อย่างน่าสนใจว่ามีอยู่ด้วยกัน 8 ระดับด้วยกัน อย่างที่เราได้บอกไปในบทความที่แล้วนะคะ มาต่อกันที่ระดับ 5 กันค่ะ
อ่านเพิ่มเติม >> เปิดแนวคิด Philip Kotler กูรูด้านการตลาด <<
สำหรับระดับความต้องการที่ 5 Irregular Demand หรือ ระดับความต้องการที่ผันผวน
ส่วนหนึ่งมาจากการไม่สามารถควบคุมปริมาณสินค้าในแต่ละช่วงได้ หรือไม่ก็จังหวะของความต้องการในสินค้าและบริการนั้นในแต่ละช่วงสูงหรือต่ำต่างกันมากจนยากจะควบคุม ซึ่งธุรกิจที่เข้าข่ายการตลาดของความต้องการในระดับนี้มากที่สุดก็คือ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม เพราะจะมีช่วงธุรกิจ High Season และ Low Season อย่างชัดเจน โดยมากก็จะเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เป็นตัวกำหนด และวันหยุดตามเทศกาล ทำให้กิจการกลุ่มนี้จะเต็มแน่นในช่วง Hi Season ฤดูท่องเที่ยวและบางตามาก ๆ ในช่วงนอกเทศกาล ผู้ประกอบการหลาย ๆ รายจึงพาเหรดกันจัดแคมเปญเที่ยววันธรรมดาคุ้มกว่าขึ้นมา เพื่อกระตุ้นความสนใจของลูกค้าให้หันมาเติมเต็มความต้องการในช่วง Low Season และเป็นการสร้างสมดุลย์ให้กับการดำเนินธุรกิจอีกด้วยค่ะ
ความต้องการระดับที่ 6 Full Demand มาจากความต้องการเต็มลิมิตแล้ว
หรือถ้าจะมองว่าเป็นตัวชี้วัดผลสำเร็จของการทำการตลาดที่ผ่านมาก็ได้ เพราะจุดที่ความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคนั้นตรงกับความต้องการขายของผู้ผลิตพอดี เรียกว่าอิ่มตัวเต็มลิมิตกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่ความท้าทายของผู้ประกอบการและนักการตลาดก็คือ จะทำอย่างไรให้สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดไว้ให้ได้ในระดับนี้ต่อไป จึงเป็นระดับความต้องการที่ผู้ประกอบการต้องตามให้ทันว่ารสนิยมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปทางไหนและในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันสัดส่วนการตลาดของคู่แข่งที่จะมาท้าชิงอีกด้วยค่ะ
ระดับความต้องการที่ 7 Overfull Demand หรือ ความต้องการล้นทะลัก
ซึ่งผู้ประกอบการบางรายอาจจะนั่งอมยิ้มว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงดีไม่น้อยที่ลูกค้าต้องการซื้อสินค้ากันเป็นอย่างมากจนโรงงานผลิตสินค้าได้ไม่ทัน แต่ผู้ประกอบการก็ไม่ควรชะล่าใจปล่อยให้เกิดภาวะสินค้าขาดตลาดกันอยู่บ่อย ๆ เพราะนั่นอาจจะกลายเป็นความรู้สึกติดลบและทำให้ลูกค้าหันไปเลือกซื้อสินค้าแบรนด์อื่นทดแทนได้ค่ะ การรับมือกับความต้องการที่ท่วมท้นนี้ก็คือการปรับขยายปริมาณการผลิตสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาองค์รวมสภาพแวดล้อมของธุรกิจควบคู่ไปด้วยว่า เป็นความต้องการสินค้าเพียงชั่วคราวหรือไม่ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนระยะยาวค่ะ
ระดับความต้องการที่ 8 Unwholesome Demand หรือ ความต้องการที่ไม่ปรารถนา
ฟังดูงง ๆ ใช่มั๊ยคะ ระดับความต้องการนี้จะครอบคลุมถึงสินค้าหรือบริการที่คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าไม่ดี ไม่ควรใช้สินค้ากลุ่มนี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ สินค้าประเภทของมึนเมา บุหรี่ และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ ที่เจอโจทย์ยากต้องแสดงภาพที่น่ากลัวบนบรรจุภัณฑ์ หรือ ต้องบอกว่าการใช้สินค้าชนิดนี้เป็นโทษ ดังนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงเลือกเบนการตลาดมาทางด้านอารมณ์ในแง่บวก (positive emotional marketing) เช่น ความสุขที่คุณดื่มได้ หรือ การให้คำจำกัดความของสินค้าที่เป็นภาพลักษณ์ของนักธุรกิจที่ยังคงก้าวไปข้างหน้า ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้าดูดีและลบภาพสินค้าไม่พึงประสงค์ในสายตาของสังคมออกไปบ้างนั่นเองค่ะ