หลายคนน่าจะจำภาพเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่เมื่อ 5 ปีที่ผ่านได้เป็นอย่างดี เป็นภาวะน้ำท่วมครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในเมืองไทย ภาพของสนามบินดอนเมืองที่เครื่องบินกว่าหลายร้อยลำต้องจมอยู่ใต้น้ำ ภาพของรถยนต์ใหม่แกะกล่องที่เพิ่งผลิตเตรียมออกวางจำหน่ายตามศูนย์จอดเรียงรายอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมในสภาพโดนน้ำท่วมอย่างหนัก ห้างสรรพสินค้า ถนนหนทาง สวนสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาลต่างก็จมอยู่ใต้บาดาล บ้านเรือนประชาชนแทบไม่ต้องพูดถึงหลายครอบครัวต้องอพยพทิ้งบ้านช่องหนีไปอยู่ยังจังหวัดที่มีพื้นที่สูงแถบภาคอีสาน หรือบางครอบครัวก็เลือกอพยพหนีลงใต้ ภาพของรถยนต์ที่เจ้าของพากันหนีน้ำไปจอดตามสะพานหรือทางด่วน ภาวะน้ำท่วมในปี 2554 นั้นกินเวลาอยู่หลายเดือนกว่าจะบรรเทาลง
หลังน้ำลดมองไปทางไหนก็มีแต่ความสูญเสีย น้ำท่วมใหญ่ในครั้งนั้นต้องเรียกว่าสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยเรานับเป็นมูลค่าเกินกว่าที่จะประมาณการได้ หลายครอบครัวหลังกลับมาพบกับสภาพของบ้านหลังน้ำลด พบกับความเสียหายมากมายที่ต้องทำการแก้ไขเพื่อให้บ้านกลับมาอยู่ได้เหมือนเดิม บางครอบครัวแทบทำใจไม่ได้ เพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน ทุกอย่างภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ถูกน้ำท่วมขังนานจนไม่สามารถใช้การได้ รถยนต์จำนวนมากมายที่หนีไม่ทันต้องปล่อยให้จมอยู่กับภาวะน้ำท่วมจนกว่าน้ำจะลด สร้างความเสียหายให้กับเจ้าของรถยนต์อย่างประเมินค่าไม่ได้ บางคนทำใจแทบไม่ได้และกลัวน้ำท่วมซ้ำรอเวลาหลายปีกว่าจะซ่อมแซมบ้านให้กลับมาน่าอยู่ได้เหมือนเดิม
ว่างเว้นมาหลายปีกับภาวะน้ำท่วมจนมาถึงปีปัจจุบัน 2559 ที่ล่าสุดมีข่าวว่าน้องน้ำเริ่มมา หลายคนเริ่มมีความกังวลว่าภาวะน้ำท่วมนี้จะรุนแรงเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2554 หรือไม่ ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ได้มีการเตือนให้ 7 จังหวัดภาคกลางเตรียมรับมือกับภัยน้ำท่วม เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนมีภาวะของน้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่ง จากนั้นก็มีช่วงที่ฝนตกหนักเป็นเวลาหลายชั่วโมง ส่งผลให้โคราชต้องเจอกับภาวะน้ำท่วมสูงกว่าครึ่งของรถมอเตอร์ไซด์ จากนั้นก็เป็นคิวของอยุธยาที่เริ่มมีน้ำท่วมเพราะน้ำจากเขื่อนชัยนาทเอ่อท่วมสูง รวม 6 อำเภอ
ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา ก็มีข่าวเตือนเรื่องน้ำท่วมทุกวัน ใน กทม. มีการเตือน 5 เขตให้เตรียมป้องกันน้ำท่วมเป็นการเร่งด่วน ก็คือ หลักสี่ ดอนเมือง หนองจอก มีนบุรีและลาดกระบัง ล่าสุดเมื่อมีฝนตกหนักแถวรังสิตก็มีน้ำท่วมขังสูงถึงฟุตบาทแทบจะทันที และจากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกข่าวเตือนเรื่องฝนตกต่อเนื่องทั่วไทยในช่วงวันที่ 4-9 ตุลาคมก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้คนส่วนใหญ่กังวลกันว่าภาวะน้ำท่วมคราวนี้จะรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้วหรือไม่
จากประสบการณ์ที่เราเคยเจอภาวะน้ำท่วมรุนแรงที่ผ่านมาทำให้เราไม่ควรประมาท น้ำท่วมครั้งก่อนหลายคนเตรียมตัวไม่ทันทำให้ต้องเกิดภาวะสูญเสียทรัพย์สินเงินทองจากน้ำท่วมไปอย่างมากมาย ดังนั้น ในครั้งนี้หากเราสามารถวางแผนเตรียมตัวอะไรได้ก่อนเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เราก็ควรทำ
- ติดตามข่าวสารและข้อมูลน้ำท่วมจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และให้ปฏิบัติตามคำเตือนที่มีประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด ต้องติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องว่าภาวะน้ำท่วมในสถานที่ต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง สำหรับแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ก็คือ thaiflood.com เป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เราสามารถติดต่อเพื่อสอบถามถึงบ้านที่เราอยู่อาศัยนั้นว่ามีโอกาสที่จะถูกน้ำท่วมได้มากน้อยเพียงใด
- เตรียมขนสิ่งของขึ้นที่สูง หากมีข้อมูลว่าที่พักอาศัยของเรามีโอกาสที่จะน้ำท่วมสูง เราควรเตรียมพร้อมด้วยการยกสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ชั้นล่างขึ้นไว้บนที่สูงเพื่อหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้นจริง จะได้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด รวมถึงรถยนต์หากสามารถนำรถยนต์ไปจอดในที่สูงก่อนได้ก็ควรจะทำ เพราะเราไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมมาเมื่อไหร่ หากรอให้ถึงเวลานั้นก็อาจจะไม่ทัน
- เตรียมอาหารสำเร็จรูปและน้ำดื่ม เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมเรื่องอาหารการกินจะทำหรือหาก็ยากลำบาก ดังนั้น เราควรเตรียมอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง นม น้ำดื่มให้พร้อมเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะน้ำท่วม
- เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในภาวะน้ำท่วม เช่น ไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย เผื่อว่าไฟดับ วิทยุพร้อมถ่านสำรองสำหรับรับฟังข่าวสาร รองเท้าบู๊ต ถุงมือยาง ยากันยุง ยาสามัญประจำบ้าน ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก (สำหรับบ้านที่มีเด็ก)
- ศึกษาเส้นทางคมนาคมหากจำเป็นต้องอพยพ บางครั้งอาจมีความจำเป็นหรือมีประกาศให้ต้องอพยพจากบ้านหากน้ำท่วมอยู่ในภาวะที่รุนแรง เราจึงควรศึกษาเส้นทางคมนาคมใกล้บ้านที่ใช้ในการเดินทางเพื่ออพยพ และควรศึกษาด้วยว่ามีเส้นทางคมนาคมใดบ้างที่เราควรหลีกเลี่ยง นอกจากนั้นเราต้องลิสต์หรือเตรียมสิ่งของที่มีค่าและสิ่งของที่จำเป็นที่เราสามารถหยิบฉวยได้ง่ายหากเราจะต้องอพยพจริง แต่อย่างไรหากต้องเลือก ชีวิตและความปลอดภัยของคนในครอบครัวก็สำคัญกว่าทรัพย์สินทั้งหมด
- เบิกถอนเงินสดติดตัวไว้บ้าง เมื่อถึงเวลาที่เกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรง ธนาคารอาจปิดให้บริการ รวมถึงตู้เอทีเอ็มต่าง ๆ ด้วย เราควรเบิกถอนเงินสดไว้ให้เพียงพอที่จะใช้จ่ายในภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากน้ำท่วม บางครั้งเราจำเป็นต้องใช้เงินสดในการซื้อสินค้าหรือบริการบางอย่าง หากไม่มีเงินสดติดตัวเลย ถึงเวลาหากธนาคารและตู้เอทีเอ็มปิดก็จะไม่สามารถเบิกถอนเงินสดมาใช้ได้
ทุกคนต่างก็หวังว่าภาวะน้ำท่วมในปีนี้จะไม่หนักหนาและรุนแรงเท่ากับน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ต้องถือว่าเป็นภาวะวิกฤต แต่อย่างไรก็ไม่มีใครตอบได้ว่าน้ำจะท่วมรุนแรงเหมือนกันหรือไม่ สิ่งที่เราสามารถทำได้ดีที่สุดก็คือการเตรียมพร้อมทั้งเรื่องเงินและสิ่งของ เพื่อว่าหากน้ำมาเมื่อไหร่เราก็รับมือได้ทันและเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด