ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมาธนาคารเริ่มเปิดให้บริการในการลงทะเบียนระบบพร้อมเพย์แบบใหม่ทุกแห่งพร้อมกันทั่วประเทศ โดยระบบพร้อมเพย์นี้เป็นระบบการผูกบัญชีธนาคารเข้ากับบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เกิดความสะดวกและคล่องตัวในการโอนเงินและรับเงิน โดยไม่จำเป็นต้องรู้เลขที่บัญชี ในช่วงแรกนี้จะเป็นการลงทะเบียนในฝ่ายของผู้รับเงินก่อน คือ หากผู้โอนรู้เพียงเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้รับโอน ก็สามารถโอนเงินได้ นอกจากนั้นการคิดค่าธรรมเนียมในการโอนผ่านระบบพร้อมเพย์นี้ต่ำกว่าค่าธรรมเนียมในการโอนเงินต่างธนาคารในปัจจุบันอีกด้วย
ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนระบบพร้อมเพย์นี้ รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ถึงระบบการโอนเงินและรับเงินแบบใหม่นี้ โดยเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นถึงข้อดีและประโยชน์ที่จะได้รับไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะดวกและคล่องตัวในการโอนและรับเงิน โดยใช้เพียงเลขที่บัตรประชาชนหรือเบอร์มือถือของผู้รับเงินเท่านั้น ค่าธรรมเนียมในการโอนก็ถูกลง นอกจากนั้นการให้บริการพร้อมเพย์นี้ยังครอบคลุมบัญชีเงินฝากของทุกธนาคารทุกสาขาอีกด้วย ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องการโอนต่างสาขาหรือต่างธนาคารจะต้องเสียค่าธรรมเนียมแพงอีกต่อไป ที่สำคัญภาครัฐยังประกาศให้ระบบพร้อมเพย์จะเป็นระบบ National E-payment ของประเทศไทยในอนาคตที่จะครอบคลุมในทุกเรื่องของการชำระเงิน การจ่ายเงินค่าสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐให้กับประชาชน หรือการคืนภาษีให้กับประชาชนของกรมสรรพากรในอนาคตก็จะทำผ่านระบบนี้ทั้งสิ้น
อ่านเพิ่มเติม : PromptPay ระบบการชำระเงินอีเพย์เมนท์ระดับประเทศ
อย่างไรก็ตามยังมีหลายภาคส่วนรวมถึงประชาชนบางส่วนที่ยังรีรอมีความไม่แน่ใจในระบบพร้อมเพย์ใหม่นี้ว่าจะมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด เมื่อต้องมีการลงทะเบียนเพื่อผูกบัญชีกับบัตรประชาชนและเบอร์มือถือ โดยเฉพาะบัตรประชาชน จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยหรือความผิดพลาดอะไรขึ้นได้หรือไม่ แม้แต่ใน pantip.com ที่เป็นชุมชนออนไลน์ ก็ยังมีผู้สงสัยเข้ามาตั้งกระทู้ในเรื่องนี้กันอย่างมากมาย เพื่อถามความเห็นของผู้คนว่าจะลงทะเบียนกันหรือไม่ หรือถามถึงข้อดีข้อเสียของระบบนี้ที่บางครั้งตัวเราอาจนึกไม่ถึงหรือมองข้ามไป
อย่างกระทู้ http://pantip.com/topic/35345441 ผู้ตั้งกระทู้เข้ามาถามว่าคุณจะสมัครพร้อมเพย์กันไหม และเหตุผลที่สมัครและไม่สมัคร รวมถึงข้อดีข้อเสีย หลายคำตอบก็ต่างเข้ามาบอกถึงความไม่แน่ใจในเรื่องของความปลอดภัยและยังมีความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง มีคนนำกรณีของธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งที่มีข้อความระบุในการลงทะเบียนพร้อมเพย์ว่าจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่ธนาคารให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งรวมถึงกรณีถูกแฮกข้อมูลด้วยทำให้ประชาชนเกิดความไม่แน่ใจว่าที่ธนาคารต้องออกมาเขียนแบบนี้ แสดงว่าแม้แต่ธนาคารเองก็ยังไม่มั่นใจในระบบเลยหรือไม่ เลยต้องกันตัวเองออกไปก่อน
ในขณะที่บางคนก็เข้ามาให้ความเห็นว่าระบบพร้อมเพย์ก็ไม่ต่างอะไรกับระบบออนไลน์แบงค์กิ้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแค่เปลี่ยนจากการใช้เลขที่บัญชีในการโอนเงินเป็นเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์มือถือเท่านั้น หากมีคนคิดจะแฮกระบบจริง ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์แบงค์กิ้งหรือพร้อมเพย์ก็โดยเหมือนกันหมด
นอกจากนี้ยังมีบางท่านเข้ามาให้ความกังวลในเรื่องของความเป็นส่วนตัว ทั้งเลขที่บัตรประชาชนหรือแม้แต่เบอร์มือถือก็ไม่ได้อยากจะเปิดเผยให้เป็นสาธารณะ รวมถึงธนาคารก็จะรู้ข้อมูลทั้งหมดของลูกค้า ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าธนาคารจะสามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปวิเคราะห์หรือทำอะไรต่อได้มากน้อยเพียงใด และสามารถที่จะนำข้อมูลไปให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐได้หรือไม่ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกรมสรรพากร เป็นต้น
ภายหลังแม้มีการออกมาชี้แจงจากธนาคารใหญ่ดังกล่าวว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด และทางธนาคารได้ให้ฝ่ายกฎหมายแก้ไขข้อความดังกล่าวแล้ว โดยระบุว่าธนาคารจะพร้อมรับผิดชอบทุกกรณีรวมถึงกรณีถูกโจรกรรมข้อมูลจากแฮกเกอร์ด้วย ก็ตาม แต่ก็ยังคงมีความแคลงใจในเรื่องความปลอดภัยอยู่ดี
นักวิชาการที่มีสังกัดและนักวิชาการอิสระต่างก็ออกมาให้ความเห็นในเรื่องของระบบพร้อมเพย์ด้วยว่ารัฐบาลต้องมีการทบทวน โดยเฉพาะในความกังวลเรื่องของ Single Payment Gateway เป็นการผูกขาดระบบการชำระเงินของประเทศไทย ซึ่งอาจมีผลกระทบกับความมั่นคงของประเทศ รวมถึงหากเป็นการบริการเต็มรูปแบบในอนาคตไปถึงหากมีการประกาศยกเลิกการใช้เงินสดก็จะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน เนื่องจากธุรกรรมการเงินทุกอย่างที่ต้องผ่านระบบเพียงระบบเดียวก็จะทำให้ธนาคารสามารถล่วงรู้ทุกพฤติกรรมของลูกค้าได้ทั้งหมด เหมือนกับในปัจจุบันที่ธนาคารสามารถนำข้อมูลการใช้จ่ายในบัตรเครดิตของลูกค้าไปวิเคราะห์ได้
ที่จริงถ้ารัฐบาลต้องการให้เป็นระบบ National E-payment ในระดับประเทศจริง นอกจากการประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีและประโยชน์อย่างในช่วงที่ผ่านมา ก็ควรต้องมีการให้ความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งานด้วย รวมถึงนโยบายในความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประชาชนด้วย คือต้องมีการพูดถึงมากกว่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงกังวลและอยากรู้รายละเอียด อย่างที่กูรูด้านความปลอดภัยในการใช้งานสารสนเทศ อาจารย์ปริญญา หอมอเนก ก็ยังให้ความเห็นไว้เลยว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงปลอดภัยและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น รัฐบาลอาจมีนโยบายหรือแนวทางไว้อยู่แล้ว แต่ต้องออกมาประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย