หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ทางกระทรวงการคลังเตรียมนำร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันปี 2560 ตามแผนที่วางไว้
ปลัดกระทรวงการคลัง (นายสมชัย สัจจพงษ์) เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ระหว่างการพิจารณาภายในเดือน ตุลาคมนี้ โดยคาดว่ากฎหมายภาษีจะมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2560 กฎหมายได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราก้าวหน้าได้ไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมิณกรมธนารักษ์
โดยทางกฎหมายได้แบ่งการเก็บภาษีเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ภาษีประเภทที่อยู่อาศัย, ประเภทกลุ่มพื้นที่เกษตรกรรม, ประเภทกลุ่มพาณิชย์ และประเภทที่ดินเปล่าและไม่ใช้ประโยชน์
- ประเภทที่อยู่อาศัย กรณีบ้านหลังเดียว มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี ขณะราคาที่อยู่อาศัยเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียภาษีโดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 0.5% แต่จัดเก็บจริงจะเก็บตามขั้นบันได ส่วนกรณี มีที่อยู่อาศัยหลายหลัง หรือมีบ้านตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไป จะเสียภาษีทันทีในบ้านหลังที่ 2 ตั้งแต่บาทแรก โดยอัตราเพดานสูงสุดที่ 0.5% เช่นกัน
- ประเภทกลุ่มพื้นที่เกษตรกรรม กลุ่มพื้นที่เกษตรกรรม มีอัตราเพดานสูงสุดที่ 0.2%
- ประเภทกลุ่มพาณิชย์ อุตสาหกรรม จะจัดเก็บภาษีอัตราเพดานสูงสุดที่ 2%
- ประเภทกลุ่มที่ดินเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะจัดเก็บภาษีโดยมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 5% ในปีที่ 1 – 3 หลังจากนั้นหากไม่ได้มีการทำประโยชน์ในปีที่ 4 – 6 จะจัดเก็บเพิ่มอีกเท่าตัว
ซึ่ง รมช.คลัง (นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ) ได้กล่าวไว้ว่า กระทรวงการคลังได้พยายามผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินมา 11 รัฐบาลแล้ว ตั้งแต่ปี 2535 จนรัฐบาลในปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศเป็นรัฐบาลที่ 12 รวมแล้ว 24 ปี 2 รอบ 2 ทศวรรษ และได้มีนโยบายดังกล่าว เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจประเทศ และขยายฐานภาษี โดยเริ่มจากภาษีมรดก จนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ทั้งนี้ ในการจัดเก็บภาษีนั้น จะต้องให้ผู้มีรายได้และเข้าเกณฑ์เสียภาษีน้อยที่สุด ซึ่งในครั้งแรกได้เสนอประเภทที่อยู่อาศัยให้มีการจัดเก็บตั้งแต่บาทแรก แต่ในท้ายที่สุด เนื่องจากบ้านถือเป็นปัจจัย 4 จึงได้ปรับให้มีการจัดเก็บบ้านที่มีราคา 50 ล้านบาทเป็นต้นไป โดยการจัดเก็บภาษีที่ดิน ผู้ดูแลและจัดเก็บจะเป็นหน้าที่ของ อปท.เพื่อเพิ่มรายได้นำไปพัฒนาท้องถิ่น และเป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐบาลที่ต้องเข้ามาสนับสนุนอีกด้วย
นอกจากนี้ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ยอมรับว่า การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรูปแบบใหม่นี้ จะส่งผลกระทบให้บริษัททั้ง 650 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเสียภาษีในส่วนของตัวอาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ปัจจุบันหากคำนวณภาษีโรงเรือน ภาษีสิ่งปลูกสร้างและภาษีบำรุงท้องที่แล้ว ในแต่ละปีต้องเสียภาษีประมาณ 8 ล้านบาทต่อปี แต่หากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ในแต่ละปีตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 64% หรือประมาณ 13 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ขณะเดียวกัน กรมธนารักษ์ยังจัดทำราคากลางเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการคำนวณอัตราการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะมีการปรับในทุก 4 ปี ทำให้ราคาที่ดินมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยผู้เสียภาษีจะต้องเสียภาษีตามมูลค่าการตลาดที่แท้จริง
อ่านเพิ่มเติม : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2560 ใครต้องจ่ายบ้าง ?
ด้านผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (นายอธิป พีชานนท์) นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า เชื่อว่า พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะประกาศใช้ไม่ทันตามที่กำหนดไว้วันที่ 1 ม.ค. 2560 เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายลูกยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ในขณะที่ อปท.ก็ยังไม่มีความพร้อมทางด้านการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเท่าที่ทราบยังไม่มีการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อทำการจัดเก็บภาษีดังกล่าว รวมถึงการประเมินประเภทที่ดิน โดยคาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ในปี 2560 ขึ้นกับการเตรียมความพร้อมให้ท่องถิ่น และการร่างกฎหมายลูก
ในการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีประเด็นที่ยังไม่เป็นธรรมกับผู้ถือครองที่ดิน และยังไม่ได้รับการแก่ไขอย่างเช่น ที่ดินตาบอดเป็นที่ดินที่ไม่มีทางเข้าออก จึงไม่สามารถขายให้กับผู้อื่นได้ และไม่สามารถทำประโยชน์ได้จนกลายเป็นที่ดินเปล่าที่ไร้ประโยชน์ หากถูกเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพิ่มอีก หรือที่ดินถูกรอนสิทธิตามกฎหมายผังเมืองควบคุมไม่ให้สร้างอะไรเลยจนไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ อย่างเช่น ที่ดินบางกระเจ้า ที่ดินตามแนวรับน้ำ โดยที่ดินดังกล่าวควรจะได้รับการลดหย่อนในการเสียภาษี
รวมทั้งที่ดินที่เตรียมไว้สำหรับพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรและอาคาร ซึ่งจะได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 3 ปี แต่เป็นการยกเว้นให้ตั้งแต่ซื้อที่ดินแปลงนั้นมาก ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร ดังนั้น ควรจะต้องยกเว้นตั้งแต่การได้ใบอนุญาตจัดสรร ส่วนการพัฒนาคอนโดมิเนียมก็ยกเว้นตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตต่อสร้าง
ทั้งนี้ อธิป ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้เจ้าของที่ดินนำที่ออกมาเสนอขายมากขึ้น เพื่อลดภาระที่จะต้องจ่ายภาษี โดยส่วนใหญ่เป็นที่ดินสำหรับการพัฒนาบ้านจัดสรร เนื่องจากที่ดินประเภทนี้ในแต่ละปีราคาจะไม่ค่อยขยับขึ้นมาก เก็บไว้ก็มีแต่ภาระภาษี ส่วนที่ดินในเมืองส่วนใหญ่ราคาขยับสูงขึ้นมากกว่าภาระที่ต้องจ่ายภาษี จึงไม่ค่อยมีใครนำที่ดินออกมาขาย
อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการหารือและสร้างความชัดเจนในส่วนของการจัด เก็บภาษี โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ว่าจะมีการคำนวณการจัดเก็บภาษีอย่างไร และการจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่นี้จะต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับผูเสียภาษีด้วย เป็นคำกล่าวของ อภิชาติ จูตระกลู ประธานอำนวยการ บริษัทแสนสิริ
ที่มา : สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559