RMF ย่อมาจาก (Retirement Mutual Fund) หรือ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ นั่นก็คือ เป็นกองทุนที่มีลักษณะผสมระหว่าง การเป็นกองทุนรวม กับการเป็นเครื่องมือสะสมเงินไว้ใช้ในยามชราภาพ ที่ทางการให้การสนับสนุน โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจ
นอกจากนี้ RMF ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีสวัสดิการสะสมเงินเพื่อวัยเกษียณ อย่างเช่น ผู้ที่ประกอบวิชาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้าง หรือผู้ที่มีสวัสดิการอยู่แล้วแต่ต้องการสะสมเพิ่มเติม ได้มีโอกาสสะสมเงินเพื่อวัยเกษียณ โดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสอดคล้องกับความต้องการของตนเองได้ อย่างเช่น ผู้ที่รับความเสี่ยงได้มาก ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงแบบกองทุนหุ้นได้ ซึ่งก็จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนได้อัตราที่สูงเช่นเดียวกัน ในขณะที่ทางระบบสวัสดิการข้างต้น การเลือกลงทุนจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผู้ดูแลกองทุน
อ่านเพิ่มเติม : โอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำได้ทางไหนบ้าง ?
ทั้งนี้ RMF เปิดโอกาสให้คุณสามารถสะสมเงินได้สะดวกขึ้น เนื่องจากเพียงกำหนดให้คุณซื้อหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเท่านั้น นอกจากนี้ จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องลงทุนก็ไม่สูงมาก คุณสามารถสะสมเงินผ่านเครื่องมือนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 3 ทาง ซึ่งก็คือ
- เงินซื้อหน่วยลงทุน RMF สามารถนำไปยกเว้นภาษีสูงสุดไม่เกิน15% ของเงินในแต่ละปี และเมื่อนับรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ ของข้าราชการ (กบข. ) แล้วไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี
- เมื่อครบกำหนดเงื่อนไขไถ่ถอนการลงทุน เงินที่ได้รับจากการไถ่ถอนจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน
- เป็นประโยชน์ทางอ้อมที่ผู้ลงทุนจะได้รับ เนื่องจาก RMF เป็นกองทุนรวมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่นับเป็นหน่วยภาษี
ดังนั้นผลประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุนของ RMF จึงไม่ต้องเสียภาษี และผู้ลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ในส่วนนี้อย่างเต็มจำนวน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่
ในปีพ.ศ. 2558 ที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่ ให้มีการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) ไปอยู่ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ เพื่อให้มนุษย์เงินเดือนที่ต้องการย้ายงาน หรือนายจ้างที่ยกเลิกกิจาก คงเงินดังกล่าวไว้
วัตถุประสงค์ในการโอนเงินสำรองเลี้ยงชีพไปอยู่ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ก็เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ออกจากงานในทุกกรณี ซึ่งรวมถึงกองทุนฯ เลิกเพราะนายจ้างถอนตัว หรือนายจ้างเลิกกิจการ ทำให้ลูกจ้างต้องนำเงินออกจากกองทุนฯ แม้ว่าในช่วงแรกจะคงเงินไว้ในกองทุนของนายจ้างเดิมได้ระยะสั้น ๆ ตามข้อบังคับกองทุน มีระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่หลังจากนั้นคุณต้องนำเงินออก ทำให้ลูกจ้างกลุ่มนี้เสียโอกาสที่จะออมเงินต่อเนื่องถึงเกษียณ กฏหมายจึงหาทางออกโดยการเปิดช่องทางให้โอนเงินจาก PVD ไปออมต่อระยะยาวใน RMF
การย้ายไปอยู่เฉพาะกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เท่านั้น เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เหมือนกัน โดยกองที่รับโอนเงินจาก PVD ต้องเป็นกอง RMF ที่ระบุในหนังสือชี้ชวน (Fact Sheet) ว่าเป็นระบบ RMF ที่รับโอนเงินจาก PVD ได้เท่านั้น (RMF for PVD) เนื่องจากต้องมีระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ภาษีต่างจาก RMFปกติ และในปัจจุบันก็มีธนาคารที่พร้อมให้บริการบ้างแล้ว อาทิเช่น ธนาคารทหารไทย ปัจจุบันมีกองทุนรวม RMF รองรับ 13 กองทุนด้วยกัน และธนาคารทิสโก้ ก็เริ่มเปิดให้บริการด้วยเช่นกัน
ขั้นตอนการโอนย้าย
ขั้นตอนในการโอนย้ายนั้น ลูกจ้างจะต้องแสดงเจตนาหรือแจ้งกรรมการกองทุนว่าจะขอโอนเงินไปยัง RMF ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่สิ้นสมาชิกภาพ ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดเวลาที่ช้าที่สุดที่ลูกจ้างสามารถแสดงเจตนาได้ หากเลยเวลาที่กำหนดและลูกจ้างยังไม่แจ้ง บริษัทจัดการต้องจ่ายเงินออกจากกองทุนให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้น หากลูกจ้างจะแจ้งก่อน ก็สามารถทำได้ แต่การโอนเงินไป RMF ทางบริษัทจะต้องดำเนินการภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ ได้รับเอกสารครบถ้วนจากกรรมการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกจ้างลาออกจากกองทุน และมีวัตถุประสงค์โอนเงินไป RMF ลูกจ้างต้องไปติดต่อกับบริษัท จัดการกองทุนรวมเพื่อ ขอรับคำแนะนำ ในการลงทุนจากเจ้าหน้าที่บริหารจัดการ กรณีตัดสินใจโอนย้ายเงิน PVD ไปยัง RMF นั้น ลูกจ้างต้องนำเอกสารจากบริษัทจัดการ RMF ไปแสดงให้บริษัทจัดการ PVD ทราบข้อมูลเพื่อโอนเงินไปได้ถูกต้อง
นอกจากนี้ กรณีเรื่องของการหักภาษี สำหรับเงิน PVD ที่โอนไปยัง RMF นั้น คุณไม่สามารถนำไปหักภาษีได้ เนื่องจากเงิน PVD ไม่ถือเป็นเงินลงทุนใหม่เหมือน RMF ทั่วไป ซึ่งเงินที่โอนจาก PVD นั้นทางกรมสรรพกรได้ให้สิทธินำไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีแล้ว
เกี่ยวกับภาษี
ส่วนกรณีผู้ที่อยู่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมานาน ทำให้มีเงินก้อนมาก แต่เมื่อย้ายไปอยู่กองทุนรวมเพื่อเลี้ยงชีพแล้วหลักการก็เสมือนกับการคงเงินไว้ใน PVD นั่นก็คือสมาชิกไม่ต้องซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม อายุสมาชิกจะนับต่อเนื่องจากอายุการเป็นสมาชิกใน PVD ที่โอนไปกับอายุการถือหน่วยลงทุนใน RMF ในส่วนของสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็เช่นเดียวกับ PVD นั่นก็คือ เมื่อมีอายุสมาชิกที่นับรวม PVD และ RMF ไม่น้อยกว่า 5 ปี + อายุตัวของสมาชิกไม่น้อยกว่า 55 ปี หากนำเงินออกจาก RMF ก็ได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งจำนวน แต่ในกรณีที่สมาชิกทำผิดเงื่อนไขขายคืนก่อนกำหนดเวลา ก็ต้องนำเงินที่ได้รับรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย
ค่าธรรมเนียม
สำหรับค่าธรรมเนียมกองทุน RMF กำหนดโดยบริษัทจัดการ ซึ่งแตกต่างกันตามนโยบายการลงทุนอยู่แล้ว อย่างเช่น นโยบายตราสารหนี้จะถูกกว่านโยบายหุ้น หรือต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้นการโอนย้ายเงินจาก PVD มา RMF ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนย้าย เพราะถือว่าเป็นการจ่ายเงินให้กับสมาชิกที่สิ้นสมาชิกตามปกติ จึงไม่มีค่าธรรมเนียมพิเศษในการโอนย้ายจาก PVD ไป RMF ซึ่งผู้ที่ขอโอนเงินไป RMF นั้นควรศึกษาข้อมูลหรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ที่ขายกองทุนให้ละเอียด อย่างเช่น นโยบายเป็นอย่างไร ความเสี่ยงอยู่ในระดับไหน ค่าธรรมเนียมมีอะไรบ้าง เท่าใด เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะซื้อหน่วยลงทุนกองใดที่เหมาะสมกับลูกจ้างแต่ละรายนั่นเอง
ประโยชน์ของการย้ายกองทุน PVD ไป RMF
ทำให้คุณมีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอย่างแท้จริง เพราะเป็นการหาช่องทางนำเงินที่เก็บไปวางไว้ในที่ที่เหมาะสม และทำให้เงินดังกล่าวอยู่ในระบบ ยิ่งนานเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เนื่องจากหากนำเงินออกมาเร็วกว่ากำหนด เงินจะถูกนำไปใช้จ่ายอย่างรวดเร็วนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก http://www.wci.co.th/article/All/174/มนุษย์เงินเดือน-จะได้อะไร-เมื่อย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป-กองทุน-RMF