เราเคยมองภาพเราในอนาคตกันบ้างหรือเปล่า ว่าเมื่อถึงวันที่เรา ไม่ทำงานแล้ว หรือวันเกษียณอายุนั่นแหละ เราจะเอาเงินจากที่ไหนมาใช้กับบ้าง ถ้าเรายังไงไม่เคยนึกถึงภาพนั้นบทความนี้มีข้อมูลมาฝาก เพื่อที่เราจะได้ใช้วางแผนให้กับตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่จะได้เป็นผู้เกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เป็นเงินที่ภาครัฐจ่ายให้กับคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทุกคน ซึ่งเรียกว่า “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” โดยจะจ่ายตามช่วงอายุ คือ 60-69 ปี ได้รับเดือนละ 600 บาท อายุ 70-79 ปี ได้รับเดือนละ 700 บาท อายุ 80-89 ปี ได้รับเดือนละ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไปได้รับเดือนละ 1,000 บาท เห็นตัวเลขคงเดากันได้ไม่ยากว่าเราจะมีเงินพอใช้ในแต่ละเดือนหรือเปล่า หากเราอยู่ในวัยชรากันแล้ว
กองทุนประกันสังคม
มักจะเป็นเงินกองทุนที่ถูกลืมกันว่าเราสามารถรับเงินจากกองทุนประกันสังคมไว้ใช้ยามเกษียณอายุได้ ซึ่งกองทุนประสังคมนั้นเราในฐานะที่เป็นลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างของบริษัทเล็กๆ หรือบริษัทใหญ่ๆ จะต้องมี “ประกันสังคม” กันทุกคน เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ แต่คนส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจแค่ว่าประกันสังคมมีประโยชน์แค่สามารถใช้บริการรักษาพยาบาลฟรีเวลาเจ็บป่วยเท่านั้น แต่เราจะไม่ค่อยรู้กันว่าเงินประกันสังคมที่เราจ่ายไปรวมกับส่วนที่นายจ้างสมทบในแต่ละเดือนแล้ว จะแบ่งส่วนหนึ่งออกไปเป็นเงินออมเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งเมื่อเราอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เราก็มีสิทธิเลือกรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคมได้ 2 แบบ คือ บำนาญ หรือ บำเหน็จ ซึ่งเมื่อคิดตามเงื่อนไขของประกันสังคมแล้วเราจะได้รับเงินโดยประมาณสี่พันกว่าบาทต่อเดือน
อ่านเพิ่มเติม : เกษียณแล้ว อย่าลืม ขอคืนเงินออมประกันสังคม นะ !
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นด้วยความใจดีของนายจ้างที่ตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา เพื่อให้เป็นเงินออมสำหรับลูกจ้างไว้ใช้ในยามที่ไม่ได้ทำงานกับบริษัทแล้วหรือในยามที่เกษียณอายุ เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ไม่ได้มีกฎหมายบังคับว่านายจ้างทุกรายจะต้องมีให้กับลูกจ้าง แต่ถ้าเป็นหน่วยงานราชการบางหน่วยงานก็มีกองทุนแบบนี้เหมือนกัน แต่จะเรียกว่ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยทั้งสองกองทุนจะมีวิธีการจัดสรรเงินกับลูกจ้างคล้ายๆ กัน อาจจะต่างกันที่สัดส่วนการหักเงินของลูกจ้าง และการจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง ซึ่งโดยมากแล้วจะหักเงินจากลูกจ้างทุกเดือน เดือนละ 2-15% ของเงินเดือน และนายจ้างก็จะจ่ายสมทบด้วยอัตราสูงสุดตามแต่นโยบายของแต่ละบริษัท แต่ส่วนใหญ่เงินสมทบที่บริษัทจะจ่ายให้ก็จะประมาณ 10-15% ของเงินเดือนของเรา ซึ่งเงินส่วนนี้ยิ่งอยู่นานเราก็จะได้จำนวนเงินที่มากพอสมควร เพราะมีบางคนที่ได้รับเงินเป็นหลักล้านบาทก็มี
กองทุนรวมเพื่อการสำรองเลี้ยงชีพ (RMF)
เป็นกองทุนที่ออกแบบมาเพื่อช่วยทำให้คนในวัยทำงานมีวินัยในการออมระยะยาว เพื่อเอาไว้เป็นรายได้หลักเกษียณเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเงินที่จะได้รับจากรัฐบาลและนายจ้างของตนเอง โดยนำสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีมาเป็นแรงจูงใจในการเริ่มออมและออมแบบจริงจัง ดังนั้นในแผนการออมเพื่อการเกษียณของเรา เราก็น่าจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) ด้วยอีกหนึ่งทาง เพราะนอกจากจะบังคับให้เราได้ออมเงินตามแผนของเราแล้ว สิ่งที่ได้ตามมาอีกอย่าง คือ สิทธิที่จะได้ลดหย่อนภาษีอีกต่อนั่นเอง โดยจำนวนเงินที่ได้รับเมื่ออายุ 55 ปี ขึ้นไปแล้วนั้นก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่เราลงทุนไปเองในแต่ละครั้ง รวมกับนโยบายของกองทุนที่เราเลือกลงทุน เพราะถ้าเราลงทุนไว้มากเงินที่จะได้รับยามเกษียณก็มากตามด้วย
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
อาจจะไม่ได้เป็นการออมเพื่อการเกษียณอายุโดยตรงเลยซะทีเดียว เพียงแต่การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นการออกระยะยาว ที่เรามักจะได้รับการเชิญชวนก็จะอยู่ที่ประมาณ 10-15 ปี ซึ่งอาจจะให้ผลตอบแทนไม่มากเท่าไร เมื่อเทียบกับการลงทุนหรือการออมแบบอื่นๆ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เรามีเงินออมได้ตามเป้าหมายเหมือนกัน เพราะเราจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยทุกเดือนจนกว่าจะครบจำนวนปีตามกรมธรรม์ที่เราซื้อ อีกทั้งยังนำเงินส่วนนี้ไปลดหย่อนภาษีได้อีกต่างหาก
ประกันชีวิตแบบบำนาญ
ออกมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เราสามารถมีเงินใช้ในยามเกษียณจริงๆ เป็นประกันแบบระยะยาว คือ เราต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเหมือนกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ แต่จะต่างกันที่การจ่ายเงินคืน โดยประชีวิตสะสมทรัพย์จ่ายคืนเมื่อครบกำหนอายุตามกรมธรรม์ แต่ประกันชีวิตแบบบำนาญนี้จะจ่ายเงินคืนให้เรา เมื่อมีอายุ 55 หรือ 60 ปี ขึ้นไปแล้วเท่านั้น และจะทยอยจ่ายเป็นงวดๆ เพื่อให้เรามีเงินใช้ในแต่ละเดือนนั่นเอง