ยอดส่งออกข้าวของไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 พุ่งสูงขึ้นกว่า 34% อยู่ที่ 2.85 ล้านตัน สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม ปี 2559 มีปริมาณการส่งออกรวมสูงถึง 2.85 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 44,050 ล้านบาท หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น 34% และมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น 23% โดยประเทศที่นำเข้าข้าวไทยสูงสุด 5 อันดับแรกของปีนี้ คือ อินโดนีเซีย ไอวอรี่โคสต์ เบนิน จีน และแคเมอรูน ส่วนในเดือนเมษายน 2559 ยอดการส่งออกข้าวอาจจำกัดเนื่องจากมีวันหยุดเทศกาลเป็นช่วง ๆ ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนถึงช่วงกลางเดือน ในส่วนของผู้ส่งออกเองก็มีเริ่มมีความระมัดระวังในการรับออเดอร์ข้าว เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ภาวะหน้าแล้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณข้าวที่ออกมาสู่ตลาดไม่ทราบว่าจะเพียงพอหรือไม่ และเรื่องของราคาข้าวของไทยที่ยังถือว่าสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามเนื่องจากค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาข้าวในตลาดโลกคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกทั้ง 3 อันดับ คือ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ต่างก็ต้องประสบกับภาวะความแห้งแล้งที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศของตนเอง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตของข้าวที่จะปลูกได้ในปีนี้ โดยทั้ง 3 ประเทศรวมกันครองส่วนแบ่งตลาดค้าข้าวทั่วโลกมากถึง 60% รวม 43 ล้านตัน ที่ผ่านมาราคาข้าวยังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากทั้งอินเดียและไทยยังมีสต๊อกข้าวอยู่ในปริมาณมาก แต่ปริมาณที่มีอยู่ก็ถือไม่เพียงพอ สุดท้ายภาวะภัยแล้งทั้งจากเอลนิโญที่มีผลกระทบกับความแห้งแล้งในอินเดีย ขณะที่ประเทศไทยเองก็ถือว่าแล้งมากเป็นปีที่สอง เวียดนามเองก็ไม่ต่างกันน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับลดลงเนื่องจากภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้น
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงถึงภาวะสต็อกข้าวของทั้ง 2 ประเทศที่อาจลดลงในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2546 โดยในสิ้นปี 2559 นี้ จะเหลืออยู่เพียงแค่ 19 ล้านตัน เท่านั้น หากเกิดภาวะขาดแคลนขึ้น อาจเกิดผลทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมากเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ที่อินเดียผลิตข้าวไม่เพียงพอเนื่องจากภาวะแห้งแล้งจากเอลนิโญทำให้ต้องประกาศห้ามส่งออกข้าวทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์มาแล้ว
ในส่วนของยางพาราซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทย ที่ประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย การนำเข้ายางพาราจากรายใหญ่อย่างประเทศจีนลดลงอย่างมากตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2558 จากรายงานของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ผลผลิตยางพารารวมในประเทศไทยมีปริมาณ 4.47 ล้านตัน การส่งออกยางพารามีปริมาณ 3.74 ล้านตัน โดยผู้นำเข้ายางพาราจากประเทศไทยสูงสุด 3 อันดับแรก ยังคงเป็น จีน มาเลเซีย และยุโรป ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น โดยมูลค่าการส่งออกยางพาราในปี 2558 ถือว่าลดลงกว่าปีก่อนหน้าประมาณ 20% หากดูเป็นสกุลเงินดอลลาร์และลดลง 10% หากดูเป็นสกุลเงินบาท
สำหรับแนวโน้มการส่งออกยางพาราในปี 2559 ยังถือว่าน่าจะทรงตัว โดยในครึ่งปีแรกนั้นไม่ค่อยดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่แข็งแรง หลายประเทศทั้งจีนและยุโรปเศรษฐกิจยังซบเซาต่อเนื่อง ปริมาณการใช้ยางพาราของประเทศต่าง ๆ ก็เลยยังน้อยไม่เติบโตขึ้น ปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ก็มีผลทำให้ราคายางสังเคราะห์ต่ำลง ราคายางธรรมชาติอย่างยางพาราก็เลยยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ ในประเทศไทยด้วยพื้นที่ปลูกยางพาราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณยางพาราที่ออกสู่ตลาดมีมากจนล้น ทำให้ราคาตกต่ำมาตลอด รัฐบาลก็พยายามหาทางช่วยให้มีการใช้ยางพารามากขึ้น เช่น นำไปผสมสำหรับก่อสร้างถนน แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยได้มากนัก แถมล่าสุดสัญญาที่รัฐบาลจะขายข้าวแบบจีทูจีให้กับบริษัท ไชน่าไหนาน ของประเทศจีน ก็ได้ถูกยกเลิกไป ทำให้ราคายางก็ไม่กระเตื้องไปไหนอีก
ในส่วนผู้ส่งออกยางพาราหลักของโลก อย่างประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ได้มีการตกลงในความร่วมมือกันเพื่อช่วยทำให้ราคายางพาราดีขึ้น โดยการจะร่วมกันลดปริมาณการส่งออกยางพาราในช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม ปี 2559 ลง 6.15 แสนตัน หากทุกประเทศร่วมมือและทำอย่างจริงจัง คาดว่าจะส่งผลทำให้ราคายางพาราในตลาดโลกสามารถขยับตัวสูงขึ้นได้ โดยปริมาณยางพาราที่แต่ละประเทศไม่ได้ส่งออก รัฐบาลของแต่ละประเทศก็ต้องหาทางร่วมกันในการใช้หรือหาวิธีแปรรูปยางพาราเหล่านั้นเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย
ความหวังจากยางพารายังคงอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีน ซึ่งถือเป็นผู้บริโภคยางพารารายใหญ่ของโลก หลัก ๆ ก็คือในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของจีนเติบโตในอัตรามากกว่า 10% มาเป็นเวลานานหลายปี จนมาถึงจุดพีคและเริ่มชะลอตัวในช่วง 2-3 ปีนี้ ทำให้ผลกระทบส่วนใหญ่มาตกอยู่กับยางพาราที่ส่งออกจากประเทศไทย ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตยางพาราในประเทศไทยต้องประสบกับภาวะปัญหาราคายางพาราตกต่ำเทียบกับจุดสูงสุดที่เคยผ่านมา ถือว่าตกลงมาเหลือเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น โดยแนวโน้มราคายางพาราในปี 2559 คาดว่าน่าจะสามารถกระเตื้องขึ้นได้บ้างเล็กน้อยตามความฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างจำกัด ทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ส่วนประเทศจีนคงยังต้องรออีกพักใหญ่กว่าจะพ้นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ราคายางในปี 2559 น่าจะอยู่ในกรอบ 40-45 บาทต่อกิโลกรัม เท่านั้น