“ พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากจะมีสี ” หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดอะไรทำนองนี้มาบ้าง การพูดเป็นการส่งสารจากผู้ส่งไปยังผู้รับสาร ซึ่งการพูดนั้นจะเป็นการพูดแบบหนึ่งต่อหนึ่ง หรือเป็นกลุ่มคณะ กลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ ก็เป็นการสื่อสารจากฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายเสมอ การพูดจึงเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่สามารถตรึงใจคนฟังให้ชื่นชมในผลงานของผู้พูดได้ แต่ทว่าการพูดนั้นก็ใช่ว่าจะพูดออกไปอย่างเดียว และการพูดที่ประสบความสำเร็จนั้นก็เป็นความยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งในชีวิตของคนเรา เคยได้ยินกันไหมคะที่เขาบอกว่า พูดจนได้ดีหรือพูดแล้วรวยนั่นเอง
การพูดในปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญมากในการทำกิจกรรมต่างๆ เพราะมันเป็นทักษะพื้นฐานเบื้องต้นที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจกันและเข้าถึงกันได้ง่าย การพูดที่ดี ได้ใจคนฟัง และประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่การพูดมากยืดยาวไม่ได้สาระ หรือการคุยโว้โอ้อวด สรรพคุณมากไปก็ไม่ใช่เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นแล้ว พูดเก่งไม่ได้หมายความว่าต้องพูดมากเป็นน้ำไหลไฟดับ แต่พูดเก่งคือพูดโน้มน้าวใจคนอื่นได้ มีสาระและเป็นตัวของตัวเองที่สุดต่างหาก
ซึ่งขออนุญาตยกตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จในการพูดที่เห็นภาพกันชัดเจนได้ง่ายที่สุด ก็อย่างเช่น คุณโน้ต อุดม ที่มีผลงานที่สร้างชื่อเสียงจากอดีตจนถึงปัจจุบันก็คือ ผลงานเดี่ยว ไมโครโฟน (ปัจจุบันเดี่ยว 11 หาดูกันได้ ขอแบบที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์นะคะ) หรือนักพูดทอล์กโชว์รุ่นใหญ่ อย่าง อ.จตุพล ชมพูนิช ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และท่านอื่นๆอีกมากมายที่ไม่ได้เอ่ยนาม นี่คือบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการพูด วันนี้เราก็เลยมีเคล็ดลับดีดีที่ พูดแล้วรวย มาฝากกัน จะเป็นอย่างไรมาเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ
1. พูดให้ความรู้
ไม่ว่าจะเป็น การประชุมสัมมนา การปฐากถา สุนทรพจน์ โต้วาที ล้วนเป็นเวทีที่สามารถแจ้งเกิดหรือแจ้งดับได้ในคราวเดียวกัน หากผู้พูดไม่ระมัดระวังให้ดี สำคัญที่สุดคือผู้พูดต้องให้ความรู้ ไม่ใช่อวดรู้ การยกตนข่มท่านไม่ได้มาซึ่งการยอมรับนับถือแน่นอน ฉะนั้นแล้วการพูดในเชิงวิชาการและผู้ฟังเยอะๆแบบนี้ ผู้พูดต้องมีการวางตัวที่เหมาะสม เป็นกลาง และต้องมีสมาธิให้มาก ไม่ควรใช้อารมณ์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง หลีกเหลี่ยงอารมณ์โมโห ให้ใช้มุขตลกขบขันเข้ามาช่วยบ้างในบางสถานการณ์ พยายามพูดในเชิงบวกเข้าไว้ จึงจะประสบความสำเร็จ เมื่อผู้พูดสามารถทำให้ผู้ฟังมีความประทับใจในความรู้ เนื้อหา สาระ และบรรยากาศในงานแล้ว คุณไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศว่าคุณเป็นใคร ก็จะมีคนจดจำและบอกต่อในที่สุด เพราะพวกเขาชื่นชอบในผลงานของคุณนั่นเอง ดังนั้นหากใครที่ชื่นชอบการพูดในเชิงให้ความรู้แบบนี้ก็ควรที่จะหาโอกาสหรือเวทีแสดงความสามารถบ่อยๆ คุณอาจจะเป็นผู้เข้าร่วมก่อน แสดงความคิดเห็นเมื่อมีโอกาส (แบบสร้างสรรค์และกินใจ) สร้างตัวตนในแบบของคุณ ไม่แน่ว่าวันหนึ่งคุณอาจจะถูกเชิญให้ไปบรรยายที่ไหนสักที่ก็ได้ ถ้ามีวันนั้นจงทำมันให้ดีที่สุด
2. พูดเพื่อความบันเทิง
เช่น งานพิธีกร ผู้ประกาศข่าว ผู้แนะนำสินค้า เป็นต้น งานด้านการพูดแบบนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในวัยหนุ่มสาว เป็นทักษะที่อาศัยการสั่งสมประสบการณ์บวกกับความรู้ หลายคนอยากเป็นพิธีกร แต่ติดที่ว่าหน้าตาไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องกังวลไป ภายนอกเป็นสิ่งที่เราสามารถเสริมเติมแต่งกันได้ แต่ทักษะภายในนั้นสำคัญกว่า ถ้าพูดไม่ดี ติดขัด ไม่ลื่นไหล ก็ไม่มีคนอยากได้ตัว เพราะฉะนั้นแล้วการพูดในลักษณะนี้ต้องอาศัยไหวพริบ เพราะอาจมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะงานพิธีกร ที่ถึงมีว่าจะมีสคริปต์ที่เป็นลำดับของการพูดวางไว้อยู่แล้ว ในกรณีที่เป็นรูปแบบของงานอีเว้นท์นอกสถานที่ ถ้าการสัมภาษณ์แขกรับเชิญดูจะกินเวลานานเกินกำหนด พิธีกรเองจะต้องพยายามหาทางสรุปและจบประเด็นเพื่อรักษาเวลา หรือถ้าคนดูเริ่มที่จะไม่ให้ความสนใจ จะต้องมีการปรับการพูดเพื่อดึงดูดผู้คนให้กลับมาสนใจในสิ่งที่เราพูดอยู่
3. พูดเพื่อการขาย
เช่น ขายเครื่องสำอาง ขายประกัน ขายสินค้า ฯ งานขายนั้นต้องอาศัยทักษะในการโน้มน้าวใจผู้คนเป็นอย่างมาก แต่ไม่ใช่ในเชิงอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง การพูดในเชิงธุรกิจต้องมีเรื่องราวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้นๆ ว่าทำขึ้นมาเพื่ออะไร เพื่อใคร ใช้งานอย่างไร แล้วผู้ที่ใช้จะได้รับประโยชน์อะไร นักขายต้องรู้ทุกรายละเอียดของสินค้าอย่างถ่องแท้ และนักขายที่ดีต้องไม่พยายามยัดเยียดสินค้าด้วยการนำข้อเสนอลดแลกแจกแถมมาล่อใจจนเกินงาม การพูดให้ผู้ฟังสนใจสินค้าได้นั้นขึ้นอยู่กับว่า ผู้ขายหรือผู้นำเสนอสามารถพูดให้ผู้ฟังเห็นความสำคัญได้หรือไม่
เทคนิคการพูดจึงเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าคุณทำงานอะไร ขอให้ฝึกทักษะด้านนี้ไว้ การพูดที่ดีจะทำให้เรามีโอกาสขยับเข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น