“การออม” ถือเป็นวิธีการสร้างความมั่นคงทางการเงินที่คนส่วนใหญ่มั่นใจว่ามีความเสี่ยงน้อยที่สุด เนื่องจากการออมคือการสะสมเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ในยามจำเป็นหรือเพื่อวัยเกษียณ โดยเงินออมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น แสดงถึงความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แม้การออมเงินจะสร้างความมั่นใจ อุ่นใจและเป็นหลักประกันที่ดีให้กับชีวิตได้ แต่การออมกลับให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยที่ต่ำจนน่าตกใจ ที่สำคัญหากในอนาคตค่าเงินเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีค่าลดลง การออมเงินที่หลายคนคิดว่าไม่มีความเสี่ยง ก็อาจมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนได้
1.ทำไมการออมจึงอาจมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุน
แม้การลงทุน จะได้ชื่อว่ามีความเสี่ยง แต่ในความเสี่ยงนั้นยังมีโอกาสสร้างผลกำไรและความมั่นคงทางการเงินได้ เนื่องจากการลงทุนคือการนำเงินทุนหรือเงินออมที่เรามีอยู่เป็นทุนในการสร้างผลกำไรและทำให้เงินนั้นงอกเงยเพิ่มมากขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ยิ่งมีความเสี่ยงมาก ผลกำไรยิ่งได้มาก ซึ่งสิ่งเดียวที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ คือในทางกลับกัน การลงทุนอาจเกิดการขาดทุนได้ทุกเมื่อเช่นกัน ดังนั้นปัจจัยนี้ผู้ที่ลงทุนต้องพร้อมยอมรับและไม่กลัวที่จะขาดทุน เพราะในปัจจุบันรูปแบบของการลงทุนถือว่ามีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลางและมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น หากคุณยังไม่เคยลงทุนมาก่อน การลงทุนความเสี่ยงต่ำถือเป็นการเรียนรู้การลงทุนที่ดีและช่วยให้การลงทุนเป็นเรื่องที่สร้างความมั่งคั่งทางการเงิน มากกว่าความเสี่ยงที่จะเสียเงินอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ
โดยซึ่งข้อดีของการลงทุนอีกหนึ่งข้อ คือ เมื่อเราได้รับผลกำไรแล้ว เงินต้นยังคงเหลืออยู่ เราสามารถนำผลกำไรต่อยอดสร้างความมั่งคั่งหรือจะเก็บเป็นเงินออมก็สามารถทำได้ แตกต่างจากการออมเงิน เพราะการออมเงินคือการนำเงินฝากไว้ในธนาคาร แม้มีความปลอดภัยสูงมากและมีความสะดวกสบายในการฝากถอน แต่การออมเงินผ่านธนาคารไม่ส่งผลให้เงินงอกเงยได้เท่ากับการลงทุน แล้วความเสี่ยงอยู่ตรงไหน ความเสี่ยงของการออมเงินอยู่ตรงที่ค่าของเงิน หากค่าของเงินเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีค่าลดลง จะส่งผลให้จำนวนเงินที่เราเคยซื้อข้าว 1 จานได้ อาจซื้อไม่ได้ ต้องเพิ่มจำนวนเงินให้เพียงพอ เพราะฉะนั้นเงินที่เราเก็บไว้และประมาณการว่าจะสามารถใช้ได้ในระยะเวลากี่ปี อาจไม่เป็นไปตามที่กำหนด ที่สำคัญ เมื่อเราเกิดเจ็บป่วยกะทันหันจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เงินออมที่เราสะสมไว้ก็อาจถูกนำมาใช้จนหมดได้ในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม : คำนวณเงินเฟ้อ มูลค่าของเงินตอนนี้กับ 50 ปีก่อน ต่างกันแค่ไหน ?
2.เรียนรู้หลักการลงทุนสำหรับมือใหม่
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า รูปแบบของการลงทุนมีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงสูง ดังนั้น นักลงทุนมือใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้หลักการลงทุนสักนิดก่อนการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้การลงทุนได้ผลกำไรและสร้างความมั่งคั่งได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยหลักการลงทุนที่นักลงทุนมือใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้ ได้แก่
- ต้องรู้จักตนเอง
การเริ่มต้นการลงทุนด้วยการเรียนรู้ต้นเองนั้น คือการสำรวจและสอบถามตนเองว่า “อะไรคือเป้าหมายของการลงทุนและคุณต้องการลงทุนเพื่ออะไร” เช่น ลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ลงทุนเพื่อวัยเกษียณ ลงทุนเพื่อสร้างผลกำไร หรือลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งและอิสระทางการเงิน
- ต้องรู้จักเลือกรูปแบบการลงทุน
เพราะความหลากหลายของรูปแบบในการลงทุนส่งผลให้ผลกำไรหรือผลตอบแทนแตกต่างกันตามไปด้วย ดังนั้น หลังจากสำรวจตนเองแล้วพบว่ามีเป้าหมายในการลงทุนเพื่ออะไร สิ่งสำคัญที่สุดต่อมาที่ต้องทำคือการเลือกรูปแบบในการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดกับตนเอง เงินลงทุนที่มีและความเข้าใจในรูปแบบของการลงทุน เพื่อให้รูปแบบของการลงทุนที่เลือกเป็นเครื่องมือในการสร้างผลกำไร ความมั่งคั่งและอิสระทางการเงินตามที่เราได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้
- ต้องพร้อมรับความเสี่ยง
เพราะการลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยง ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจลงทุนรูปแบบใดก็ตาม ผู้ลงทุนควรศึกษารูปแบบในการลงทุน โอกาสสร้างผลกำไรและโอกาสเกิดความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ
- ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง
เพราะการใส่ใจ ให้ความสำคัญและลงมือทำอย่างจริงจังช่วยให้การลงทุนมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงและมีความเสี่ยงลดลง
- ต้องตรวจสอบ ติดตามและทบทวนแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้เราได้ทราบว่ารูปแบบในการลงทุนของเรามีแนวโน้มไปในทิศทางไหน มีโอกาสสร้างผลกำไรหรือมีแนวโน้มว่าจะขาดทุน เพื่อให้เราสามารถปรับแผนการลงทุนให้เอื้อต่อการสร้างผลกำไรและความมั่งคั่งทางการเงินให้สูงขึ้นนั่นเอง
3.ลงทุนในหุ้น เป็นเจ้าของกิจการแม้เงินลงทุนต่ำ
หากให้พูดถึงการลงทุนใน “หุ้น” บางคนอาจยังไม่เข้าใจ ว่าหุ้นคืออะไรและมีรูปแบบในการลงทุนอย่างไร ซึ่งการลงทุนในหุ้นนั้นคือการระดมเงินทุนเพื่อไปใช้ในกิจการ โดยผู้ที่ถือหุ้นจะได้รับตราสารที่กิจการออกให้และมีฐานะเป็น “เจ้าของกิจการ” เช่นเดียวกัน มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการที่ได้ลงทุนไป รวมทั้งเงินปันผลประจำปีตามข้อตกลง ซึ่งประเภทของหุ้นที่สามารถลงทุนได้นั้น ได้แก่ หุ้นสามัญ (Common Stock) เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) โดยผู้ถือหุ้นสามัญมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของบริษัทและมีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือครองอยู่ ส่วนหุ้นประเภทที่ 2 ได้แก่ หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) เป็นตราสารที่ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่เมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับเงินปันผลในอัตราคงที่ (ขอบคุณข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย )
โดยในส่วนของขั้นตอนการลงทุนในหุ้นนั้น ผู้ที่สนใจควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- วางแผนการลงทุน เพื่อให้เหมาะสมกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการลงทุน
- วิเคราะห์เศรษฐกิจ เพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน ซึ่งควรเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจภายในและนอกประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น
- วิเคราะห์อุตสาหกรรม เพื่อทำความเข้าใจภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
- วิเคราะห์บริษัท เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกบริษัทที่จะลงทุนด้วย
- ประเมินมูลค่าที่แท้จริง เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าควรจะซื้อหรือขายหุ้นตัวไหนดี
- หาจังหวะการลงทุน เพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด
- ตัดสินใจซื้อขาย เพื่อพบว่าช่วงเวลาดังกล่าวเหมาะสมที่จะเทขายทำกำไร
- ติดตามผลการลงทุน เพื่อให้ทราบแนวโน้มความสำเร็จ การได้รับผลกำไรและโอกาสสร้างความมั่งคั่งด้วยการลงทุนประเภทนี้
เพราะฉะนั้น แม้จำนวนเงินในการลงทุนของคุณจะต่ำ แต่คุณก็ยังสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ มีโอกาสเรียนรู้วิธีการสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งทางการเงินได้อย่างไร้ขีดจำกัดวิธีหนึ่ง
4.ลงทุนในกองทุนรวม เงินเติบโตผ่านมืออาชีพอย่างมั่นคง
การลงทุนใน “กองทุนรวม” เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการลงทุนที่กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากการลงทุนในกองทุนรวมนั้น สามารถลงทุนได้แม้มีเงินลงทุนต่ำและผู้ลงทุนไม่เคยมีประสบการณ์ในการลงทุนมาก่อน นั่นเป็นเพราะ “กองทุนรวม” คือการลงทุนกับมืออาชีพที่มีทั้งความชำนาญ ประสบการณ์และความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้การลงทุนในกองทุนรวมมีความเสี่ยงน้อยลงและมีโอกาสสร้างผลกำไรสูงขึ้น ซึ่งรูปแบบของการลงทุนในกองทุนรวมนั้น คือการนำเงินลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยมารวมกันเป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่และนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินหลายๆ ประเภท ส่งผลให้สามารถกระจายการลงทุนได้ดีกว่า โดยผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมนั้น ได้แก่ ส่วนแบ่งกำไรในรูปของเงินปันผล (Dividend) และกำไรส่วนเกินมูลค่าหน่วยลงทุน (Capital Gain)
ในส่วนของประเภทกองทุนรวม มี 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ “กองทุนเปิด” และ “กองทุนปิด” ซึ่งแต่ละประเภทของกองทุนจะเกี่ยวข้องกับสภาพคล่องของผู้ลงทุนแต่ละคน ทั้งในส่วนของระยะเวลา จำนวนเงินลงทุนและความเหมาะสม โดยกองทุนรวมแบบเปิดจะสามารถขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมและต่อเนื่องได้ หลังจากที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนในครั้งแรกไปแล้ว ส่วนกองทุนรวมแบบปิดจะมีการจำกัดและกำหนดอายุของโครงการที่ชัดเจนและแน่นอนมากกว่า
อ่านเพิ่มเติม : กองทุนเปิด กองทุนปิด เป็นอย่างไร
สำหรับการเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวมนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการทำความเข้าใจในรูปแบบของการลงทุน ประเภท วัตถุประสงค์และรูปแบบของการดำเนินงาน เพราะหากผู้ที่มีความสนใจจะลงทุนมีความรู้ในเรื่องของกองทุนรวมน้อยมากหรือยังมีความเข้าใจที่ผิด อาจส่งผลให้ผลกำไรที่ควรจะได้ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้และมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะขาดทุน
5.ลงทุนในตราสารหนี้ เสี่ยงน้อย ให้ผลตอบแทบสม่ำเสมอ
การลงทุนรูปแบบต่อมาที่ทุกคนควรรู้จัก คือการลงทุนใน “ตราสารหนี้” เพราะตราสารหนี้เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการลงทุนที่น่าสนใจ มีความเสี่ยงน้อยและให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยผู้ซื้อตราสารหนี้จะมีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” และได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ซึ่งหากถึงระยะเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อตราสารหนี้จะได้รับทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นคืนทั้งหมด โดยในส่วนของประเภทตราสารหนี้นั้น สามารถแบ่งประเภทได้หลาย ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ที่แบ่งตามผู้ออก ตราสารหนี้แบ่งตามสิทธิในการเรียกร้อง ตราสารหนี้แบ่งตามสิทธิในการใช้ทรัพย์สิน ตราสารหนี้แบ่งตามวิธีการจ่ายดอกเบี้ย ตราสารหนี้แบ่งตามลักษณะการถือกรรมสิทธิ์และแบ่งตามชนิดของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแต่ละประเภทใหญ่ ๆ ยังมีรูปแบบของการลงทุนตราสารหนี้แบ่งแยกย่อยออกเป็นประเภทต่าง ๆ อีกมากมาย ดังนั้น ผู้ที่ให้ความสนใจลงทุนในตราสารหนี้จำเป็นต้องใส่ใจและให้ความสำคัญในการศึกษารูปแบบของการลงทุนอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนจริงเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้นั้น เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเครดิต ความเสี่ยงด้านราคา ความเสี่ยงด้านการลงทุนต่อและความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ อย่างเช่น ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ฯลฯ แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การลงทุนในตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทบสม่ำเสมอ ดังนั้นการลงทุนในตราสารหนี้ก็ถือว่าเป็นรูปแบบของการลงทุนที่น่าสนใจมากเช่นกัน
6.ลงทุนในอนุพันธ์ ผลกำไรต่อเนื่องทุกสภาพการตลาด
การลงทุนในอนุพันธ์อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับบางคน เพราะหากให้ถามคนทั่วไปว่าอนุพันธ์คืออะไร เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าคนส่วนใหญ่ยังตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้จัก ซึ่ง “อนุพันธ์” นั้นคือตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเป็นสัญญาหรือข้อตกลงที่จะซื้อหรือขายสินค้าในราคา ปริมาณ และเงื่อนไขอื่นที่ตกลงกันไว้ โดยสิ่งที่ทำให้อนุพันธ์เป็นการลงทุนที่น่าสนใจคงต้องยกให้โอกาสได้รับผลกำไรที่มีสูงมากนั่นเอง แต่แม้จะกล่าวอย่างนั้น โอกาสขาดทุนก็มีสูงมากเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่จะลงทุนในอนุพันธ์อาจต้องมีความกล้าได้กล้าเสียและพร้อมยอมรับความเสี่ยงที่มีสูงมากกว่าการลงทุนประเภทอื่น ๆ
7.ลงทุนใน ETF ผลตอบแทนตามดัชนี ซื้อง่าย ขายคล่อง
การลงทุนใน ETF เป็นการลงทุนในกองทุนเปิดที่มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อซื้อและขายหุ้นได้อย่างสะดวกมากขึ้น สามารถใช้เงินลงทุนต่ำ หรือแม้แต่การซื้อขายเองก็สามารถซื้อขายได้แม้มีเงินทุนไม่มากนัก ส่งผลให้การลงทุนใน ETF เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากข้อดีในเรื่องของความสะดวกสบายในการซื้อขายและการใช้เงินลงทุนที่ต่ำแล้ว การลงทุนใน ETF ยังมีข้อดีอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น สามารถซื้อขายราคาได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องรอลุ้นราคากองทุน ณ สิ้นวัน มีความเสี่ยงต่ำ มีผู้ดูแลสภาพคล่องในการลงทุน มีความโปร่งใสและสามารถติดตามผลการลงทุนได้ ที่สำคัญที่สุดคือเสียค่าบริหารจัดการต่ำ แต่ได้ผลตอบแทนตามดัชนี
แม้การลงทุนใน ETF จะน่าสนใจมากแค่ไหน แต่ผู้ที่จะลงทุนต้องไม่ละเลยการศึกษาและทำความเข้าใจอย่างละเอียดในรูปแบบของการลงทุนก่อนตัดสินใจ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแม้จะมีน้อยมากก็ตาม
8.ลงทุนใน DW ลงทุนน้อย ได้ผลตอบแทนสูงกว่า
การลงทุนรูปแบบสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือการลงทุนใน DW ซึ่ง DW นั้น คือการลงทุนในตราสารที่ผู้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ให้สิทธิกับผู้ถือในการซื้อหรือขายสินทรัพย์ตามการอ้างอิงราคาและเวลาที่กำหนด โดยการลงทุนใน DW ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรง ซึ่งข้อเสียเดียวที่ทำให้หลายคนไม่กล้าตัดสินใจลงทุนใน ETF คือผลขาดทุนที่มีอัตราสูงกว่าการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรง ส่งผลให้ใครที่จะลงทุนรูปแบบนี้ต้องศึกษาอย่างละเอียดหรือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการลงทุนมาก่อนเท่านั้น
ทั้งหมดนี้คือหลากหลายรูปแบบการลงทุนที่ทุกคนจำเป็นต้องศึกษา ทำความเข้าใจ เริ่มต้นวางแผนและตั้งเป้าหมายทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยง สร้างความมั่นคงและความมั่งคั่ง ด้วยการตั้งเป้าหมายในการลงทุนให้ชัดเจนและตั้งใจลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การออมอาจไม่ใช่ความมั่นคงและมีความเสี่ยงต่ำที่สุดอีกต่อไปอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่กลับมีทั้งความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมากกว่า ดังนั้น เมื่อรู้แล้วว่าการไม่ลงทุนมีความเสี่ยงมากแค่ไหน นับจากนี้ทุกคนจึงต้องมองหารูปแบบการลงทุนที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดเพื่อให้เงินออมไร้ความเสี่ยงอย่างแท้จริงและสร้างความมั่งคั่งจนเกิดอิสระทางการเงินที่ส่งผลให้ทุกช่วงเวลาในชีวิตของเราไม่ติดขัดเรื่องเงินและต้องพบปัญหาการเงินรุมเร้าอย่างที่คนส่วนใหญ่กำลังเผชิญ