เมื่อสมัยที่เราเรียนอยู่นั้น ผู้มีอำนาจต่อการใช้จ่ายของเราคือพ่อและแม่ เพราะท่านทั้งสองเป็นผู้ส่งเสียทั้งค่ากิน ค่าเล่าเรียนและดูแลทุก ๆ เรื่องให้กับเรา เมื่อเงินหมดเราเองก็สามารถขอท่านได้เรื่อย ๆ โดยท่าพ่อแม่สามารถให้ลูกได้โดยที่ไม่มีวันหมด แต่เมื่อย่างก้าวเข้ามาสู่ชีวิต วัยทำงาน ทุกอย่างในชีวิตย่อมเปลี่ยนไป เพราะผู้ที่มีอำนาจทางการเงินนั้นคือ บริษัทที่เราทำงานด้วย
หากเงินที่เราใช้หมดไปเราจะไม่สามารถขอเพิ่มเติมได้อีก แต่ต้องรอจนกว่าจะครบรอบเงินเดือนอีกครั้ง และวันนี้เรามีเคล็ดลับดี ๆ ของวัยที่เริ่มเข้าสู่ วัยทำงาน มาบอกกันถึงเรื่องการบริหารเงินให้พอใช้สามารถทำได้อย่างไร
เมื่อเริ่มมีเงินเดือนเป็นเดือนแรกนั้น
สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้คือการบริหารเงินว่า ต้องทำอย่างไรให้เงินก้อนนี้อยู่กับเราไปได้นานที่สุด เช่น มีการจดบันทึกถึงเรื่องภาระค่าใช้จ่าย ทั้งสิ่งที่จำเป็นและสิ่งทั่ว ๆ ไป เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดจนว่า ในหนึ่งเดือนนั้นเราจะต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง จากนั้นก็ใช้เงินในงบที่ตัวเองมี
การแบ่งเงินออกเป็นสัดส่วน
เช่น เงินออม เงินกิน เงินเที่ยว เงินฉุกเฉิน และเงินต้องให้บุพการี เพราะหากเราจัดสรรเรื่องการเงินของเราให้ชัดเจนแล้ว เราจะรู้กรอบในการใช้จ่ายของเราไม่ให้เกินได้ และที่สำคัญเราสามารถส่งเงินกลับบ้านให้พ่อแม่อีกด้วย
ช่วงการทำงานใหม่ ๆ
ของนักศึกษาจบใหม่นั้นบางคนก็มีความรู้สึกเป็นอิสระทางการใช้จ่าย เพราะเงินเดือนที่ได้รับนั้นมากกว่าที่พ่อแม่ตัวเองให้มา ทำให้เกิดการใช้จ่ายที่ลืมตัวไปบ้าง ทำให้เงินที่มีนั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ไม่มีเงินใช้ในระหว่างเดือนที่เหลือ และวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการของเงินจากพ่อแม่ ซึ่งการกระทำอย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะการที่เรามีเงินเป็นของตัวเองแล้ว เรื่องการบริหารเงินนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหมายถึงการใช้จ่ายของตัวเองตลอดทั้งเดือน
อ่านเพิ่มเติม >> เด็กจบใหม่อยู่ได้ด้วย เงินเดือนหมื่นห้า ! <<
สร้างวิธีเก็บออมเงินให้อยู่ในหลายรูปแบบ
เมื่อเราเรียนจบและทำงาน สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำให้ได้คือการบริหารเงินให้เพียงพอ แต่หากจะดีกว่านั้นควรมีการเก็บออมด้วย เพราะพ่อแม่นั้นไม่สามารถดูแลเราไปได้ทั้งชีวิต หากเราไม่มีการเก็บออมไว้ใช้ในอนาคต อาจจะลำบากได้ ซึ่งการออมในสมัยนี้เราจะเห็นว่ามีมากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะออมกับบริษัท ออมกับธนาคาร เป็นต้น
เมื่อทำงานไปสักพักหนึ่งแล้ว
สิ่งต่อมาคือการเพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเอง เพราะบางครั้ง หากเราห่างหายจากการเรียนมานาน อาจจะทำให้ความรู้ที่มีนั้นถดถอยลงไปได้ ดังนั้นควรมีการออมเงินส่วนหนึ่ง เพื่อเอาไว้เป็นทุนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเพิ่ม การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป เพราะเมื่อเรามีความรู้มากขึ้น คุณภาพของงานที่ทำก็จะดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ส่งเสริมเลี้ยงดูพ่อแม่
คือเมื่อเรามีเงินเป็นของตัวเองสิ่งหนึ่งที่ลูกที่ดีสามารถทำได้คือ การเลี้ยงดูพ่อแม่บ้าง ถึงแม้ว่า พ่อแม่เองจะไม่ต้องการเงินทองจากลูก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะไม่ให้เลย เพราะการดูแลเรื่องนี้ให้กับพ่อแม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และบางครอบครัวพ่อแม่ก็อาจจะเก็บเงินที่ลูกให้นั้นไว้อีก เพื่อเป็นทุนในอนาคตให้กับลูกของตัวเอง
วางแผนเรื่องภาษีอย่างคุ้มค่า
คือนอกจากเราจะได้รับเงินเดือนแล้ว จะต้องมีการเสียภาษีเกิดขึ้น ดังนั้นควรวางแผนเรื่องนี้ให้ดี เช่น การซื้อประกันชีวิตใช้ในการลดหย่อนภาษี การซื้อกองทุนเพื่อนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษี เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประหยัดและสร้างการออม
อ่านเพิ่มเติม >> เทคนิค วางแผนภาษี <<
วางแผนเรื่องสุขภาพของตัวเองบ้าง
เพราะวัยที่เพิ่งเริ่มทำงานหลายคนอาจจะยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มากนัก เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะเกิดปัญหา ดังนั้นอาจจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อทำประกันชีวิตบ้าง เพื่อสามารถช่วยเราได้ยามที่เจ็บไข้ได้ป่วย
การจัดสรรเวลา
บางงานทีทำนั้นอาจจะมีบ้างที่ต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทนทำงานหนักนั้นต่อไป ควรมีเวลาสำหรับการพักผ่อนบ้าง มีเวลาในการไปทานอาหารกับพ่อแม่ มีเวลาสำหรับการออกกำลังกายบ้าง เป็นต้น หากมัวแต่ทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการทำงาน แน่นอนว่าคุณอาจจะไม่มีโอกาสได้รู้จักกับคำว่าพักผ่อนแน่นอน
ไม่สร้างหนี้สินให้กับตัวเองและเป็นภาระแก่พ่อแม่
คือ วัยทำงานนั้นส่วนมากจะมีปัญหาหนี้สินที่เกี่ยวกับบัตรเครดิตและการใช้จ่ายที่ลืมตัว ทำให้มีหนี้มากมายเกิดขึ้น บางคนถึงขั้นทีพ่อแม่จะต้องมาชำระหนี้เหล่านี้แทน ดังนั้นทางที่ดีที่สุด ควรมีวินัยในการใช้จ่าย
ชีวิตหลังจากที่เรียนจบแล้ว หลายสิ่งที่เกิดขึ้นคือความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่มาของเงินที่ไม่ใช้พ่อแม่อีกกต่อไป เปลี่ยนกลุ่มเพื่อเป็นเพื่อนร่วมงาน เรื่องการบริหารเวลาที่ต้องทำงานมากขึ้นนั่นเอง หากใครที่สามารถจะจัดสรรเรื่องราวเหล่านี้ในชีวิตได้ รับรองว่าช่วงชีวิต วัยทำงาน ของคุณจะมีความสุขแน่นอน