เงินโบนัสอาจจะเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย ในมุมมองของบริษัท แต่สำหรับพนักงานอย่างเรา ๆ แล้ว ถือเป็นจำนวนเงินที่มีมูลค่าอย่างมาก แต่ก็มีปัญหาหนึ่ง เมื่อพนักงานลาออกจากงานก่อนได้รับโบนัส ซึ่งเมื่อออกไปแล้วยังมีความต้องการเงินโบนัสอยู่คำถามคือ คุณจะได้รับโบนัสหรือไม่ เพราะอะไร วันนี้เราได้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เกี่ยวกับ เงินโบนัสว่าหากคุณลาออกจากงานก่อนจะถึงกำหนดจ่ายเงินโบนัส คุณจะได้รับโบนัสจำนวนนั้นหรือไม่ ลองมาดูรายละเอียดพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ตามกฎหมาย (เงินโบนัสต้องมีสภาพการเป็นพนักงานจนถึงวันกำหนดจ่าย ออกก่อนไม่มีสิทธิได้รับ)
จากคำกล่าวข้างต้น ตามกฎหมายนั้นเราขออธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้คุณเข้าใจได้ง่ายขึ้น นั่นคือ หากคุณมีสภาพเป็นพนักงานจนกระทั่งถึงกำหนดจ่ายเงินโบนัส คุณก็สามารถรับโบนัสได้ตามปกติ แต่หากคุณบังเอิญออกจากงานก่อนจะถึงกำหนดจ่ายโบนัสประจำปีของบริษัท คุณก็จะไม่มีสิทธิในเงินโบนัสนั่นเอง เพื่อให้คุณเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเราขอยกตัวอย่าง เกี่ยวกับเงินโบนัสที่มีปัญหาคดีความจนขึ้นศาลมาฝากค่ะ
โจทก์ (ลูกจ้าง)
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงาน ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายฝึกอบรม ได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 61,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ระหว่างการทำงานโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสจากจำเลย 3 เดือน เป็นเงิน 183,000 บาท แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง 122,000 บาท แล้วไม่ยอมจ่ายเงินโบนัสส่วนที่เหลือ 61,000 บาท แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินโบนัส 61,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 15% ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย (นายจ้าง)
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลย ในระหว่างทำงาน จำเลยออกประกาศสำนักผู้อำนวยการใหญ่ พิเศษที่ 1/2550 เรื่อง การจ่ายโบนัส และการปรับเงินเดือน ตกลงจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานพร้อมกับเงินเดือน เดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน 2551 โดยมีเจตนารมณ์จ่ายเงินโบนัสให้เฉพาะพนักงานรายที่ยังคงมีสถานภาพการเป็นพนักงานของจำเลยอยู่ ณ วันจ่ายเงินโบนัส หากพนักงานคนใดพ้นสภาพการเป็นพนักงานก่อนถึงกำหนดจ่ายเงินโบนัสในงวดใดก็ ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสในงวดการจ่ายนั้น ๆ ซึ่งจำเลยได้ถือปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด
เมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2551 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสส่วนของงวดการจ่ายภายหลังวันที่พ้นสภาพ การเป็นพนักงานของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว
พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัส 61,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 กรกฎาคม 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนคดีแรงงานตรวจสำนวณประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงาน ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายฝึกอบรม ได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 61,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 ในระหว่างทำงานจำเลยออกประกาศสำนักผู้อำนวยการใหญ่ พิเศษที่ 1/2550 เรื่องการจ่ายโบนัส และการปรับเงินเดือนตามเอกสารหมาย ล.1 ตกลงจ่ายเงินโบนัสในรอบปี 2550 ให้พนักงานโดยแบ่งจ่ายเป็นรายเดือนพร้อมกับเงินเดือน เดือนมกราคม ถึงมิถุนายน 2551 จำเลยเคยปฏิบัติต่อลูกจ้างโดยไม่จ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างที่ลาออกก่อนถึงงวด การจ่ายเงินโบนัสในงวดการจ่ายนั้น ๆ จำเลยจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2550 ให้โจทก์ พร้อมเงินเดือนมกราคมถึง มิถุนายน 2551 ไปแล้ว รวม 4 งวด เป็นเงิน 122,000 บาท
ต่อมาเมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 จำเลยไม่จ่ายเงินโบนัสอีก 2 งวด คือเงินโบนัสในงวดการจ่ายเดือนพฤษาคม และมิถุนายน 2551 รวมเป็นเงิน 61,000 บาท แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อพิเคราะห์ถ้อยคำในประกาศสำนักผู้อำนวยการใหญ่ พิเศษที่ 1/2550 เรื่อง การจ่ายโบนัส และการปรับเงินเดือน ตามเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยประกาศออกมาแล้ว พบว่ามีข้อความระบุชัดเจนว่าจำเลยตกลงจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2550 ในอัตรา 3 เท่า ของเงินเดือนแก่พนักงานโดยไม่มีข้อยกเว้น เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขเวลาในการจ่ายด้วยการแบ่งจ่ายให้พนักงานเป็น 6 งวด แต่ละงวดจ่ายให้พร้อมกับเงินเดือน เดือนมกราคม ถึงมิถุนายน 2551
เมื่อถ้อยคำตามประกาศมีความชัดเจนเช่นนี้ สิทธิที่จะได้รับเงินโบนัสประจำปี 2550 ของโจทก์ย่อมเกิดขึ้น และเงินโบนัสประจำปี 2550 ที่จำเลยตกลงจะให้นั้นย่อมเป็นส่วนหนึ่งของสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับพนักงาน ซึ่งจำเลยมีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตาม การที่โจทก์มีสภาพเป็นพนักงานของจำเลยตลอดปี 2550 ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ย่อมเป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนทำกำไรและสร้างประโยชน์ ให้แก่องค์กรของจำเลยในปี 2550 จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2550 แก่โจทก์ ส่วนการที่จำเลยแบ่งจ่ายเงินโยนัสของรอบปี 2550 เป็น 6 งวด พร้อมกับเงินเดือน เดือนมกราคม ถึงมิถุนายน 2551 นั้น ก็เป็นเพียงการกำหนดเงื่อนเวลา และวิธีการในการจ่ายเงินโบนัสเท่านั้น หาทำให้เงินโบนัสตอบแทนการทำงานในรอบปี 2550 ที่ครบกำหนดจ่ายพร้อมเงินเดือนในงวดเดือน พฤษภาคม และมิถุนายน 2551 เป็นเงินรวม 61,000 แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายเงินดังกล่าว แก่โจทก์ ส่วนดอกเบี้ยนั้น โจทก์คงมีสิทธิ เรียกได้เพียง อัตรา 7.5% ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และเมื่อฟ้องโจทก์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง จึงให้โจทก์เท่าที่ขอ
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า
โจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสปี 2550 จำนวน 61,000 บาท หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีเจตนาจ่ายเงินโบนัสแก่พนังงานที่ยังคงมีสภาพการเป็นพนักงานอยู่ ในวันครบกำหนดการจ่ายเงินโบนัสเท่านั้น หากพนักงานคนใดพ้อสภาพการเป็นพนักงานไปก่อนถึงกำหนดจ่ายเงินโบนัสงวดใดจะไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสที่ถึงกำหนดในงวดั้น เห็นว่า การจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานนั้น นอกจากจะเป็นการจ่ายเงินเพื่อจูงใจให้ลูกจ้างตั้งใจทำงานแก่นายจ้างแล้ว ยังเป็นจ่ายเพื่อจูงใจให้ลูกจ้างอยู่ปฏิบัติงานกับนายจ้างในระยะยาวด้วย เมื่อศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเคยปฏิบัติต่อพนักงานโดยไม่จ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานที่ลาออกก่อนถึงงวด การจ่ายเงินโบนัสในงวดการจ่ายนั้น
เมื่อพิจารณาประกาศสำนักผู้อำนวยการใหญ่ของจำเลย พิเศษที่ 1/2550 เรื่อง การจ่ายโบนัส และการปรับเงินเดือน ที่ระบุว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเท่านั้น โดยในประกาศข้อ 4 ยังระบุว่าบริษัทจะจ่ายเงินโบนัสให้เป็นระยะเวลารวม 6 งวด งวดละเท่า ๆ กัน โดยจะจ่ายพร้อมเงินเดือน เดือนมกราคม ถึงมิถุนายน 2551 จากประกาศดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานนั้น นอกจากพนักงานจะต้องทำงานกับจำเลยครบ 6 เดือน เป็นอย่างต่ำแล้ว พนักงานดังกล่าวจะต้องมีฐานะเป็นพนักงานอยู่ในวันครบกำหนดจ่ายเงินโบนัสด้วย เมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานจำเลยตั้งแต่ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสในงวดการจ่ายเดือน พฤษภาคมและมิถุนายน2551 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสในงวดเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2551 แก่โจทก์ อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง