ภาษีความเค็ม คืออะไร บังคับใช้เมื่อไหร่ และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง?
ในปัจจุบันหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญด้านสุขภาพของประชาชนมากขึ้น จึงเริ่มมีการนำแนวคิดการเก็บภาษีความเค็มมาใช้ในหลายประเทศ กล่าวคือการเรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง และล่าสุดในประเทศไทยก็เตรียมนำแนวคิดนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน วันนี้เราจึงจะพาไปดูกันว่า ภาษีความเค็ม คืออะไร บังคับใช้เมื่อไหร่ และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง?
ภาษีความเค็ม คืออะไร?
เป็นภาษีที่จัดเก็บจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง เป็นหนึ่งในมาตรการที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มนำมาใช้ หวังลดพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมสูงในประชากร ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว ไม่ว่าจะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไต สำหรับประเทศไทยเอง ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่คนส่วนใหญ่บริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ดังนั้นการออกนโยบายภาษีความเค็ม จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพประชาชนในระยะยาว
ภาษีความเค็มจำเป็นขนาดไหน?
- การบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดให้บริโภคโซเดียมได้ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน แต่จากผลสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ยถึง 3,600 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งเกินจากเกณฑ์ที่กำหนดไปมาก และสาเหตุหลักมาจากการรับประทานอาหารแปรรูปอย่างต่อเนื่อง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำปลา ซีอิ๊ว และขนมขบเคี้ยว
- จุดเริ่มต้นโรคเรื้อรัง
เราทุกคนล้วนทราบกันดีว่า การบริโภคโซเดียมในปริมาณมากเกินไปติดต่อกัน มีความเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาหลายประการ โดยเฉพาะ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าโรคดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทยอีกด้วย
- ค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น
โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการบริโภคโซเดียมสูง ส่งผลให้ต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่องไปด้วย และแน่นอนว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายต่อทั้งตนเอง และระบบสาธารณสุขของประเทศ ดังนั้นการเก็บภาษีความเค็มจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดค่าใช้จ่ายนี้ในระยะยาว
กลไกของภาษีความเค็ม
- กำหนดปริมาณโซเดียม
อาหารที่มีโซเดียมสูงจะถูกเก็บภาษีในอัตราที่มากกว่า เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตลดปริมาณโซเดียมในสินค้า และให้ผู้บริโภคหันไปเลือกผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อสุขภาพแทน
- กระตุ้นการเลือกซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ
เมื่อสินค้าที่มีโซเดียมสูงมีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคจะมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมน้อยกว่า ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคในภาพรวม
- รายได้ภาษีเพื่อส่งเสริมสุขภาพ
รายได้จากภาษีความเค็มสามารถนำไปใช้ในโครงการรณรงค์สุขภาพ การพัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ หรือการสนับสนุนผู้ผลิตที่ลดโซเดียมในสินค้า
ข้อดีของภาษีความเค็ม
- ลดการบริโภคโซเดียมในประชากร
- กระตุ้นให้ผู้ผลิตปรับปรุงสูตรอาหารให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
- ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในระยะยาว
ข้อเสียของภาษีความเค็ม
- เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภคในระยะเริ่มต้น
- อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปอาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
- ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจไม่ปรับพฤติกรรมแม้ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น
นโยบายภาษีความเค็มในไทย
สำหรับประเทศไทย การเก็บภาษีความเค็มอาจช่วยลดปัญหาการบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ และช่วยให้ประชากรตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ ซึ่งทางสรรพสามิตเตรียมนำมาใช้จริงในปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มเฟสแรกที่กลุ่มขนมขบเคี้ยว ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นในการบริโภค ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องปรุง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยังไม่อยู่ในแผน ณ ตอนนี้ ซึ่งยังอยู่ในช่วงหารือระหว่างภาคเอกชน พร้อมคาดว่าอาจดำเนินการเก็บแบบขั้นบันได เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว เช่นเดียวกับกรณีการเก็บภาษีความหวาน ที่มีการศึกษาก่อนถึง 5 ปีก่อนนำมาปรับใช้จริง ซึ่งในปัจจุบันได้มีการจัดเก็บกว่า 7 ปีแล้ว
จะเห็นได้ว่าภาษีความเค็มถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาสุขภาพ และภาระด้านสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว โดยการกระตุ้นให้ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับการบริโภคที่เหมาะสม เน้นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพมาดขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องรอติดตามกันว่านโยบายทางการจะเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่าหากมีข้อสรุปในปีนี้ก็อาจเริ่มมีผลบังคับใช้ไม่เกินปีหน้าอย่างแน่นอน