ชีวิตคนเราไม่มีอะไรแน่นอนค่ะ โดยเฉพาะสภาวะเศรษฐกิจและสังคมทั้งของประเทศไทยและของโลกเป็นแบบนี้ด้วยแล้ว แทบจะเรียกได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของเราแขวนอยู่บนเส้นด้าย เลยก็ว่าได้ เพราะเราแทบไม่รู้เลย ว่าวันไหนจะเกิดเหตุร้ายอะไร แล้วเหตุร้ายเหล่านั้นจะมากระทบกับเรา หรือกับหน้าที่การงานของเราหรือตัวเราเองด้วยหรือเปล่า หากจะมีผลกระทบต่อเรา จะเกิดตอนไหน มากหรือน้อยแค่ไหน ไม่มีใครรู้ได้ ดังนั้น เราก็ควรที่จะใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท และเตรียมแผนสำรองไว้พร้อมสำหรับกรณีฉุกเฉินไว้เสมอจะดีกว่า โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่เป็นปัจจัยหลักที่เราจะนำมาใช้เปลี่ยนเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตของเราได้ มาพบกับวิธีการเก็บออมสำหรับฉุกเฉินอย่างง่ายๆ กันดีกว่าค่ะ
สำหรับกรณีการเก็บสำรองไว้เผื่อการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
เราสามารถเก็บไว้ในรูปของเงินประกันชีวิตพร้อมอนุสัญญาในส่วนการประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องพิเศษ หรือค่าชดเชยการนอนโรงพยาบาล ร่วมกับการประกันอุบัติเหตุแบบครบกำหนดแล้วมีเงินคืนได้ เพราะเราคงไม่อาจจะมั่นใจได้ว่า เมื่อเราเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้ว เราจะเป็นโรคอะไร จะทำงานได้อย่างเดิมหรือเปล่า หรือแม้แต่จะสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ได้อย่างเต็มจำนวน ในกรณีนี้การทำประกันจะช่วยเราได้มากเลยค่ะ เพราะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้ บริษัทประกันจะเป็นคนรองรับให้ และเมื่อเราจ่ายเบี้ยประกันจนครบกำหนดแล้ว เรายังจะได้เงินคืนมาเป็นก้อนอีกด้วยนะคะ
ถ้าในกรณีที่เก็บออมเงินไว้เผื่อขาดรายได้หรือตกงาน
ก่อนอื่น เราต้องประมาณการรายจ่ายปกติในแต่ละเดือนของเราก่อน ว่าแต่ละเดือนเรามีรายจ่ายประมาณเท่าไหร่ แบ่งเป็นรายจ่ายจำเป็นเท่าไหร่ ไม่จำเป็นเท่าไหร่ ถ้าใครที่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายอยู่แล้วอาจจะง่ายกว่าค่ะ เพราะเรามีตัวเลขประมาณการของทุกเดือนอยู่แล้ว เหลือแค่เอามาจัดเป็นหมวดหมู่ ว่าอันไหนจำเป็น อันไหนไม่จำเป็นแค่นั้นเอง แต่ถ้าใครที่ไม่ได้ทำอยู่แล้ว ลองทำดูสัก 3-4 เดือนก่อนนะคะ หลังจากนั้น เมื่อเรารู้ตัวเลขเงินที่เราใช้ไปจริงๆ ในแต่ละเดือนแล้ว ก็มาคูณจำนวนเดือนที่เราต้องการจะเผื่อไว้สำหรับฉุกเฉิน แนะนำให้เผื่อไว้ประมาณ 3-6 เดือน ในกรณีเผื่อตกงาน หรือกิจการขาดทุน
เช่น นาย A มีรายจ่ายจริงๆ เดือนละประมาณ 10,000 บาท แบ่งเป็นรายจ่ายจำเป็น 8,000 บาท และรายจ่ายฟุ่มเฟือย 3,000 บาท ถ้านาย A ต้องการเก็บเงินเผื่อกรณีฉุกเฉิน นายA ก็ต้องเก็บเงินนอนไว้ประมาณ 30,000-60,000 บาทถึงจะดี โดยที่นาย A จะต้องมีเงินขั้นต่ำอย่างน้อย 24,000 บาท เพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายจำเป็น เงินก้อนนี้ต้องห้ามเอาไปหมุนหรือใช้อย่างอื่นอย่างเด็ดขาดนะคะ เก็บนอนๆไว้เลย อาจจะเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง หรือเก็บไว้ในรูปของสินทรัพย์ที่ค่อนข้างจะมีสภาพคล่องอย่างอื่น เช่น กองทุนเปิด ที่สามารถขายทิ้งเพื่อนำเงินไปใช้ได้ทันทีก็ได้ค่ะ โดยในทุกๆปี เราก็ควรจะต้องตรวจสอบค่าใช้จ่ายต่างๆของเรา เพื่อปรับปรุงยอดเงินส่วนนี้ ให้ตรงกับค่าใช้จ่ายปัจจุบันตลอดเวลา
การเก็บออมเงินไว้เผื่อฉุกเฉินนี้ เจ้าของกิจการอาจจะคุ้นเคยกันมาบ้าง เนื่องจากภาวะที่ต้องแบกรับกิจการ และต้องคอยประคับประคองกิจการให้ไปรอดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่า ภาวะฉุกเฉินเป็นสิ่งที่เจอง่ายเสียยิ่งกว่าเดินไปเตะขอบเก้าอี้อีกค่ะ แต่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายอย่าเพิ่งเบ้ปากว่าไม่จำเป็นนะคะ เพราะคนกินเงินเดือนอย่างเราๆ ที่ไม่มีรายได้เสริมจากทางอื่นมาด้วยเนี่ย อันตรายมากนะคะ เนื่องจากชีวิตของเราจะฝากไว้กับเงินก้อนเดียวในปลายเดือน ซึ่งถ้าเราขาดรายได้ส่วนนี้ไป หมายความว่า รายได้ทั้งหมดของเราหายไปเลย (แต่รายจ่ายยังคงอยู่เท่าเดิม) ดังนั้นวิธีแก้ง่ายๆ (ถ้าไม่อยากหารายได้เสริมเพิ่ม) ก็คือการเก็บออมไว้ใช้นั่นเองค่ะ แต่แนะนำเลยนะคะว่า ทางที่ดี เราก็ควรจะมีรายได้จากหลายๆทาง เพื่อที่จะไม่ลำบากเมื่อขาดรายได้จากทางใดทางหนึ่งไป และยังมีเงินออมสำหรับฉุกเฉินเก็บไว้ด้วยจะดีกว่า เผื่อเวลาฉุกเฉินเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะได้รับมือได้อย่างสบายๆยังไงล่ะคะ
อ่านเพิ่มเติม : แนวทางบริหารการเงินส่วนบุคคล ” แบบคนบริหารเงินเป็น “