สำหรับหลายคนที่อยากเริ่มต้นปีด้วยการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเองนั้น อาจเริ่มมองหารูปแบบการออมเงินที่เหมาะกับรูปแบบการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของตนเอง วันนี้มาลองดูว่า ออมเงินเท่าไหร่ ออมเงินอย่างไรจึงจะไม่เดือดร้อนกับชีวิตประจำวันของเรา และยังสามารถเพียงพอต่ออนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าก่อนจะเกษียณอายุด้วย
อ่านเพิ่มเติม >> วัยอย่างเรา ออมเท่าไหร่ดี ? <<
-
กฎพื้นฐานทางการออม เริ่มต้นจากกฎเหล็ก 50/30/20 :
สำหรับหลายคนที่ยังนึกไม่ออกว่าควรออมเงินมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยก็สามารถยึดกฎเหล็ก 50/30/20 ไว้เป็นเกณฑ์เบื้องต้นก่อนได้ โดย
- 50% แรกจากรายได้หมายถึงส่วนที่ต้องตัดไว้สำหรับรายจ่ายประจำที่ต้องใช้จ่ายอยู่แล้ว เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต หรือค่าใช้จ่ายสำคัญอีกหลายอย่าง
- ตามมาด้วย 30% ของรายได้ที่ใช้สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ค่ากินอยู่ ค่าบันเทิงกิจกรรมกับเพื่อนฝูงหรือครอบครัว
- และสุดท้ายกับ 20% ซึ่งใช้เป็นส่วนหลักประกันทางการเงินที่สำคัญของคุณและครอบครัว โดยจะต้องไม่แตะเงินในส่วนนี้โดยเด็ดขาด ซึ่ง 20% ของเงินเดือนอาจถูกจัดสรรเป็นเงินออมเพื่อกรณีฉุกเฉินกึ่งหนึ่ง และอีกกึ่งหนึ่งคือเงินออมยามเกษียณอายุของคุณที่จะไม่มีวันเบิกออกมาใช้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
แต่ทั้งนี้สำหรับคนที่ไม่มีภาระผูกพันหรือรายจ่ายทางการเงินเช่น ยังคงอาศัยร่วมกับครอบครัวและไม่ต้องรับภาระรายจ่ายเพิ่มเติม สัดส่วนการออมเงินอาจปรับสูงขึ้นได้ตามสัดส่วน โดยสามารถนำส่วนแบ่งเดิม 50% มาสมทบกับอีก 20% ที่เป็นการออม แต่อาจแบ่งไปเป็นเงินลงทุนในด้านต่าง ๆ เช่น ลงทุนในหุ้น พันธบัตร กองทุนรวม สลากออมสิน หรือตราสารหนี้ เป็นต้น
-
คำนวณเผื่อเหลือในอนาคต เก็บออมเท่าไหร่ถึงจะพอใช้ :
การกำหนดว่าต้องเก็บออมเงินเท่าไรจึงพอขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนตั้งเป้าหมายในชีวิตอย่างไร ซึ่งสำหรับหนุ่มสาวอายุ 20 ปี และกำลังเริ่มต้นการทำงานอาจนึกถึงการเกษียณอายุ ณ หลังช่วงอายุ 60 ปีว่าจะใช้ชีวิตสุขสบายท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างน้อยอีก 20 ปี ก็อาจต้องเก็บออมเงินให้มากหน่อยเผื่อไว้สำหรับภาวะข้าวของแพงในอนาคต ซึ่งเริ่มต้นจากนำข้อมูล 3 เรื่องมาดูกัน ได้แก่ อายุเริ่มต้นเก็บออม ระดับรายได้ และเงินออมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้ง 3 ตัวนี้จะบอกได้ว่า ควรเก็บออมเท่าไร
สมมุติว่าหากต้องการเกษียณ ณ อายุ 60 ปี พร้อมกับมีเงินใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องทุกเดือนไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท และคาดว่าตนเองจะมีอายุไปจนถึง 80 ปี มูลค่าเงินออมที่ควรเก็บออมสะสมไม่ควรต่ำกว่า 7,200,000 บาท (ไม่พิจารณาเรื่องเงินเฟ้อ) แต่ถ้านับรวมเงินเฟ้อในอนาคตด้วยที่ร้อยละ 4 อย่างน้อยอาจต้องสะสมเงินกองทุนให้ได้ถึง 13.7 ล้านบาทก่อนเกษียณอายุที่ 60 ปี
หลายคนที่สนใจคำนวณเงินเก็บออมของตนเองอาจลองดูจากเครื่องมือสถิติที่ปัจจุบันที่มีนักวิเคราะห์หลายคนสร้างขึ้น เช่น ตามเว็บไซท์ต่างประเทศเช่น เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าเงินออมที่คำนวณออกมาจะดูเป็นก้อนใหญ่และหลายคนอาจเกรงว่ายากจะออมได้ แต่โดยทั่วไปแล้วหากรายได้ประจำเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกปี ในท้ายที่สุดมนุษย์เงินเดือนทั่วไปที่เริ่มต้นมีวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด และสามารถออมได้อย่างน้อย 20% ของเงินเดือนก็จะสามารถมีเงินเก็บที่จะเพียงพอใช้จ่ายในวัยเกษียณ
หลายคนที่อยากทราบว่าตนเองต้องออมเท่าไรนั้น ลองใช้เครื่องมือคำนวณง่าย ๆ ในเว็บไซต์อย่าง money.cnn.com ก็จะได้ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับอนาคตหลังเกษียณอายุโดยเทียบกับอัตราเงินเฟ้อให้เรียบร้อย
-
อย่าลืมการออมเพื่อสุขภาพ :
รายจ่ายด้านสุขภาพเป็นอีกประเด็นหลักที่อาจจะส่งผลทำให้การออมของคุณไม่พอในอนาคตหากไม่ได้มีการวางแผนจัดการสุขภาพในระยะยาวไว้ก่อน ซึ่งสำหรับกลุ่มข้าราชการที่มีสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลอาจไม่ใช่กลุ่มที่ต้องกังวลในส่วนนี้เนื่องจากสามารถเบิกจ่ายจากรัฐได้ทั้งหมด แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไปหรือพนักงานบริษัทเอกชน หลายคนจะเริ่มกังวลว่าหากพ้นจากการเป็นพนักงาน สิทธิพิเศษหรือสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอาจไม่มีอีกต่อไป เว้นเสียแต่จะมีการส่งเบี้ยประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง ซ้ำร้ายสำหรับหลายคนที่อาจจะอยากสร้างความมั่นคงทางสุขภาพกับเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน ด้วยการสมัครประกันสุขภาพก็อาจต้องกุมขมับหากเริ่มสมัครประกันสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้นเนื่องจากเบี้ยประกันสุขภาพจะแพงขึ้นตามอายุของผู้สมัคร และหลายคนที่เริ่มต้นช้ากว่าอายุ 60 ปีไปแล้ว บริษัทประกันอาจไม่รับทำประกันสุขภาพก็เป็นได้
นั่นหมายความว่าหากเกิดกรณีเจ็บป่วยจะต้องจ่ายเงินรักษาตนเองทั้งหมด ดังนั้นหากต้องการลดภาระรายจ่ายด้านสุขภาพในอนาคต แนะนำว่าควรเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ด้านประกันสุขภาพดี ๆ สัก 1-2 สัญญาแต่วันนี้ก็เป็นการสร้างหลักประกันที่ดีในอนาคตได้ ทั้งนี้มูลค่าเงินออมที่ต้องจ่ายในกลุ่มเบี้ยประกันสุขภาพอาจมีตั้งแต่แบ่งชำระเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป
ทั้งนี้แต่ละคนจะต้องลองเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกัน ซึ่งหลักการเลือกผลิตภัณฑ์คือ เลือกวงเงินการรักษาพยาบาลโดยคำนวณเผื่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตด้วย เช่น ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ประกันที่แบ่งประเภทรายจ่ายที่จะรับผิดชอบ อาจต้องพิจารณาว่าค่าห้องพักและค่ารักษาพยาบาลจะมีการปรับสูงขึ้นทุกปี วงเงินที่รับประกันในวันนี้อาจต้องชำระเองเพิ่มในบางส่วน หรือบางคนอาจสนใจวงเงินที่คุ้มครองการเบิกจ่ายแบบเหมารวมต่อการรักษาพยาบาลหนึ่งครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเบี้ยประกันสุขภาพในกรณีเหมาจ่ายอาจจะสูงกว่าประเภทแบ่งแยกตามหมวดรายจ่าย
ดังนั้นหากกล่าวโดยสรุปว่า การออมเท่าไรจึงจะเพียงพอและไม่กระทบกับชีวิตประจำวันนั้น แต่ละคนจะต้องพิจารณาจากฐานความสามารถในการหารายได้ในปัจจุบันของตนเอง จำนวนปีที่จะเก็บออม การคาดการณ์รูปแบบการใช้ชีวิตในอนาคต และภาระผูกพันรายจ่ายทางการเงิน หลายคนที่อยู่อาศัยร่วมกันพ่อแม่ไม่มีภาระรายจ่ายผ่อนบ้านคอนโดอาจสามารถเก็บออมได้มากกว่า และแม้ว่าจะมีภาระรายจ่ายส่วนตัวก็ยังคงต้องเก็บออมอย่างน้อยด้วยสูตร 50/30/20 ทั้งนี้อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรเก็บออมต่ำไปกว่าร้อยละ 20 ของเงินเดือนที่ได้รับ และยังต้องมีวินัยทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงควรพิจารณามองหารูปแบบการลงทุนที่ปลอดภัย และมองไกลถึงสถานการณ์การเงินยามเกษียณอายุอีกด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยตอบได้ว่าแต่ละคนควรมีเงินเกษียณอย่างน้อยเท่าไร และยังต้องไม่ลืมกันเงินสำรองไว้สำหรับการมีหลักประกันด้านสุขภาพในอนาคตด้วย เพื่อให้การใช้ชีวิตหลังเกษียณของคุณเต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้มตลอดไป