การวางแผนทางการเงินไม่ได้มีไว้เฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนเท่านั้น ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็สามารถบริหารจัดการการเงินได้ทั้งนั้นขอเพียงเป็นผู้ที่มีวินัยทางการเงินที่เคร่งครัด ซึ่งหลายคนที่ต้องดูแลตัวเองอย่างเหล่านิสิตนักศึกษาที่ต้องเดินทางจากบ้านมาอยู่หอพักใกล้มหาวิทยาลัยก็สามารถบริหารจัดการเงินได้ และยิ่งเริ่มต้นดีในช่วงอายุ 20 ปี ยิ่งเป็นการดีด้วยในสายตาของนักวางแผนทางการเงิน เนื่องจากจะเป็นการสร้างนิสัยทางการเงินและปูพื้นฐานอนาคตทางการเงินที่มั่นคงต่อไป นักศึกษาหลายคนที่อาจจะไม่เคยเก็บออมเงินได้มากนัก แล้วอยาก เก็บเงินให้อยู่ มาลองดูวิธีการน่าสนใจเหล่านี้รับรองว่าเพียงแค่สิ้นเดือนก็จะมีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้นในบัญชีเงินฝากได้อย่างแน่นอน
เริ่มต้นวินัยการเงินด้วยบันทึกรับจ่ายแต่ละวัน:
ไม่ว่าจะเริ่มต้นเก็บออมเงินอย่างไรนั้น ทุกคนก็ควรเริ่มต้นจากการมีบันทึกการใช้จ่ายเงินในแต่ละวันเป็นอันดับแรก เพื่อทำให้ทราบพฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบันของตนเอง และการทำบันทึกทางการเงินจะทำให้เห็นความถี่และรูปแบบรายการใช้จ่ายเงินที่อาจจ่ายไปโดยไม่ตั้งใจ หรือกลับมาย้อนคิดว่าไม่ควรจ่ายเลย และเงินที่เผลอจ่ายไปเหล่านั้นเองที่แท้จริงแล้วอาจกลายเป็นเงินออมของนักศึกษาได้หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้ ซึ่งในปัจจุบันการมีบันทึกรับจ่ายไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปกระดาษอีกต่อไป ซึ่ง application ในสมาร์ทโฟนช่วยให้การบันทึกทางการเงินง่ายขึ้น เช่น Wally แอพพลิเคชั่นสีสันสดใสแนวพาสเทลที่มาพร้อมกับการวิเคราะห์ให้เสร็จสรรพว่าเดือนที่ผ่านมาหมดเงินไปกับหมวดค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง หรือแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยที่มาพร้อมฟอนท์ไทยและการ์ตูนน่ารักอย่าง Money Book เป็นต้น
แบ่งสรรปันส่วนการเงิน:
หลังจากทราบพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินแล้วก็เพียงบันทึกเตือนตนเองถึงรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ ที่เคยจ่ายไปและจัดสรรเงินในกระเป๋าใหม่โดยกำหนดให้อย่างน้อยต้องมีเงินออมเหลือเก็บไม่ต่ำกว่า 20% ของเงินที่ได้รับมาทั้งหมด โดยแบ่งเงินออกไป 10% สำหรับเก็บเข้าไว้เพื่อเป็นเงินฝากประจำที่อาจจะไม่มีบัตรกดเงิน (ATM) โดยนักศึกษาจะต้องมีวินัยว่าจะไม่ถอนเงินก้อนนี้ออกมาใช้จ่ายอย่างเด็ดขาด อีก 10% ของเงินรายได้ นักศึกษาควรแบ่งไว้สำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉิน เช่น เก็บไว้สำหรับซื้อยา หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้า เป็นต้น นอกจากนั้นอีก 80% ที่เหลือสามารถนำไปใช้สอยได้ตามสิ่งที่ควรใช้จ่าย แต่ต้องจัดอันดับความสำคัญของการจ่ายเงินด้วยว่าสิ่งใดสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ต้องจ่ายก่อน เช่น ค่าเช่าหอพัก ค่าน้ำค่าไฟ ค่าหนังสือตำราเรียน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร สำหรับค่าสังสรรค์กับเพื่อนให้จัดเป็นอันดับหลังสุด เช่นเดียวกับค่าซื้อหาเสื้อผ้าสิ่งของส่วนตัว
สร้างนิสัยประหยัดและอดออม :
สำหรับนักศึกษาที่อยู่หอพักและต้องรับผิดชอบค่าน้ำและค่าไฟฟ้าด้วยตนเอง การสร้างนิสัยประหยัดและอดออมช่วยได้มาก เช่น การปิดไฟฟ้าหรือลดการใช้ไฟในห้องแอร์แต่เปลี่ยนเป็นพัดลมแทนในวันที่อากาศไม่ร้อนมาก สำหรับเหล่าหนอนหนังสือที่ชอบซื้อหนังสือตำรา ก่อนเปิดเทอมอาจลองมองหาหนังสือหรือตำรามือสองจากร้านขายหรือในอินเตอร์เน็ตแล้วจะทราบว่าสามารถประหยัดเงินไปได้อีกมากทีเดียว หรือสำหรับคนที่มีพื้นที่ทำครัวเล็ก ๆ อาจจะเก็บรากผักจากตลาดไว้เพื่อรับประทานเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดเงินแล้วยังปลอดสารเคมีอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะเหลือรากของต้นคื่นช่าย หรือเก็บกิ่งกะเพราแดงเล็ก ๆ ไว้ประมาณ 1-2 กิ่งและหากลองหาขวดน้ำพลาสติกมาตัดเป็นกระถางเล็ก ๆ วางไว้ริมหน้าต่าง ก็อาจจะได้ต้นขึ้นฉ่าย หรือกะเพราสำหรับทำกับข้าวง่าย ๆ ได้อีกมื้อหนึ่งแล้ว
ของกินของใช้จากบ้านประหยัดกว่า:
หลายคนอาจจะเห็นว่าการอยู่หอพักรายจ่ายหลักที่นักศึกษาต้องจ่ายคงไม่พ้นจากรายจ่ายจากการบริโภค การซื้ออาหารหน้าหอพัก แต่นักศึกษาสามารถประหยัดเงินได้จากการนำของกินของใช้มาจากบ้าน เช่น ปีใหม่หรือสงกรานต์กลับบ้านก็นำข้าวสารกลับมาด้วยจากที่บ้าน ก็อาจช่วยประหยัดเงินได้มาก เพียงแค่มีหม้อหุงข้าวใบเล็ก ๆ สักหนึ่งใบในหอพัก ก็ทำให้ประหยัดเงินได้มาก จากมื้อเช้าและมื้อเย็นที่จ่ายเฉลี่ยมื้อละ 40-50 บาท อาจเหลือเพียงมื้อละ 25-30 บาท ถ้าคำนวณออกมาทั้งเดือนก็อาจประหยัดเงินได้ถึง 1,000-1,200 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้อาจแบ่งไปซื้อเสื้อผ้าลำลองหรือรองเท้าใหม่ ๆ ได้อีก 1-2 ชุดเลยทีเดียว
ใช้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาด :
สำหรับหลายคนที่พ่อแม่อาจจะห่วงใยและให้บัตรเครดิตสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน นักศึกษาก็ต้องมีวินัยอย่างเคร่งครัดในการใช้บัตรเครดิตเหล่านั้นเพราะในอนาคตเมื่อออกไปทำงาน บัตรเครดิตจะกลายเป็นเพื่อนคู่กาย หากไม่ฝึกวินัยการใช้จ่ายบัตรเครดิตอาจกลายเป็นมีหนี้สินพ้นตัวได้ ซึ่งหลักง่าย ๆ ในการใช้จ่ายบัตรเครดิตคือ จ่ายบิลเต็มจำนวนเสมอและต้องแน่ใจว่าจ่ายเงินตรงตามเวลาไม่ให้มีดอกเบี้ย ซึ่งหากจ่ายคืนแค่ขั้นต่ำของบัตรนั่นหมายความว่ากำลังผลักภาระหนี้ไปไว้ในเดือนต่อ ๆ ไปพร้อมกับดอกเบี้ยที่งอกขึ้นมาเป็นเงาตามตัว หลายคนอาจฝึกวินัยด้วยการนำเงินสดแนบพร้อมกับ slip บัตรเครดิตที่จ่ายไปแล้วทุกครั้งทำให้แน่ใจว่าเมื่อถึงเวลาชำระเงินจะมีเงินสดจ่ายแน่นอน นอกจากนี้ต้องฝึกอ่านใบเรียกเก็บเงินและตรวจสอบรายการใช้จ่ายโดยแยกเก็บ slip บัตรเครดิตไว้เสมอเพื่อตรวจสอบว่าเรียกเก็บเงินถูกต้องหรือไม่ และเป็นการป้องกันการจารกรรมข้อมูลบัตรเครดิตไปใช้
วางแผนก่อนจะซื้อของและมองหาคูปองเงินสดฟรี :
อย่าลืมว่าทุกครั้งที่ต้องออกไปช้อปปิ้งซื้อของเข้าหอพัก ต้องจดรายการซื้อของไว้เสมอและมีวินัยกับสิ่งที่ต้องจ่าย หลายคนมักพลาดอย่างง่าย ๆ เมื่อเห็นสินค้าใหม่ในห้างสรรพสินค้าที่ลดรายการพิเศษ อย่าลืมว่าถ้าสินค้าตัวนั้นไม่อยู่ในรายการสินค้าจดไว้ว่าต้องซื้อแล้ว แม้จะลดราคาอย่างไรก็เท่ากับว่าเรากำลังจ่ายเงินเกินรายการที่จำเป็น นอกจากนี้ในห้างสรรพสินค้าบางแห่ง หรือเครือข่ายบัตรสมาชิกต่าง ๆ มักจะมีคูปองส่วนลดที่แจกแถมมาให้เสมอ อย่าลืมมองหาคูปองเหล่านั้นทุกครั้งที่เดินเข้าห้างเพราะหมายความว่าคุณจะมีเงินเหลือติดกระเป๋ากลับบ้านมากขึ้น
เปลี่ยนนิสัยและกล้าปฏิเสธ :
สุดท้ายนี้เมื่อเราวางแผนการเงินไว้เรียบร้อยแล้ว หลายครั้งก็ต้องกล้ากล่าวปฏิเสธไปบ้างในเวลาที่เพื่อน ๆ มาชักชวน เช่น หากการเงินเดือนนี้ใช้จ่ายครบแล้วก็ต้องกล้าปฏิเสธหากเพื่อนชวนไปดูหนัง หรือซื้อเสื้อผ้าใหม่ ๆ นอกจากนี้การบอกปฏิเสธยังเป็นการฝึกความหนักแน่นของใจให้ทนต่อสิ่งยั่วยุต่าง ๆ อีกด้วย แต่หากเห็นว่ารายได้ที่มีไม่เพียงพอจริง ๆ นักศึกษาอาจต้องมองหางานพิเศษทำให้มีเงินเพิ่มขึ้น
อ่านเพิ่มเติม >> จะไป เรียนต่อนอก ต้องเริ่มออมเงินอย่างไร <<