ทำอย่างไรให้มีเงินออม?
เบื้องต้นเราควรรู้ว่าเรามีรายรับและรายจ่ายเท่าไร และจะออมเงินได้เท่าไร สิ่งที่จะช่วยเราคือการจัดทำงบประมาณ หรือ Budgeting เพื่อวางแผนบริหารจัดการเงินอย่างเป็นระบบ การทำงบประมาณส่วนบุคคลจะก่อให้เกิดประโยชน์มากมายคือ
- ช่วยจัดรวมหมวดหมู่งบประมาณ ทำให้เราสามารถมองสภาพการเงินของเราชัดเจนขึ้น
- ช่วยในการวางแผนการเงินล่วงหน้า เพื่อจัดสรรรายได้ที่จะมีเข้ามา เราจะเห็นว่าเงินจะไปที่ไหนบ้าง และเราจะมีเงินเหลือเท่าไร
- ทำให้เราทราบว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และค่าใช้จ่ายใดที่สามารถตัดทิ้ง หรือลดทอนลง ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้บางคนมีรายได้ลดลง หรือภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนั้น การจัดทำงบประมาณจะช่วยให้เราจัดการกับเงินที่เรามีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดทำงบประมาณบุคคลสามารถทำได้เลย และสามารถเลือกทำได้หลายวิธี ดังเช่น
- การจัดทำงบประมาณแบบปันส่วนเปอร์เซ็นต์
หลักการนี้ให้ความสำคัญกับการแบ่งงบออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ โดยใช้เปอร์เซ็นต์เป็นตัวกำหนด วิธีการทำงบประมาณซึ่งเป็นที่นิยม เช่น การทำงบแบบ 50/30/20 ที่ให้เราใช้เงิน 50% ของรายได้สำหรับสิ่งที่จำเป็น 30% สำหรับสิ่งที่เราต้องการ และ 20% สำหรับเป็นเงินออม
การจัดทำงบประมาณแบบนี้เราสามารถปรับสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ให้ตรงกับสถานการณ์ของเรา เช่น หากเราไม่มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นมากนัก ก็เพิ่มสัดส่วนของเงินออมและสิ่งที่เราอยากได้ หรือหากเราต้องการที่จะออมเงินเพิ่มขึ้น ก็สามารถปรับสัดส่วนเปอร์เซ็นต์เงินออมให้สูงขึ้น
- การจัดทำงบประมาณแบบซองจดหมาย
การทำงบประมาณแบบนี้สามารถใช้ได้ทั้งกับเงินสดและเงินอิเลคทรอนิกส์ ในกรณีเงินสดเราจะใส่เงินสดลงในซองจดหมายเพื่อเป็นงบสำหรับแต่ละหมวดหมู่ หากเงินซองไหนหมด เราห้ามใช้เงินสำหรับหมวดหมู่นั้นแล้ว วิธีนี้ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าตอนนี้เราใช้เงินแต่ละหมวดไปเท่าไรแล้ว
นอกจากเงินสดแล้ว เรายังสามารถใช้หลักการนี้กับเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ซองจดหมายออนไลน์หรือแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ
ข้อแนะนำในการออมเงินสำหรับผู้ที่ชอบใช้จ่าย
- จัดทำงบประมาณในรูปแบบการใช้จ่าย นั่นคือ ทำให้เรารู้สึกว่าทุกอย่างถือเป็นการใช้จ่ายทั้งสิ้น เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้านให้จัดเป็นการใช้เงินเพื่อความสนุก การออมเงินเพื่อการเกษียณให้จัดเป็นการใช้จ่ายเงินเพื่ออนาคต แค่นี้ก็อาจช่วยกระตุ้นให้มีความสุขกับการทำงบประมาณ
- จัดทำงบประมาณในลักษณะที่การออมเป็นส่วนหนึ่งของการใช้จ่าย เช่น ทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายด้วยเหตุใดก็ตาม จะต้องนำเงินมาหยอดกระปุกหรือเก็บออมไว้ด้วย อาจเป็น 10% ของเงินที่จ่ายไปก็ได้ ตามแต่กำหนด เช่น วันนี้ซื้อเสื้อผ้าไป 1,000 บาท ก็ให้กันเงินส่วนหนึ่งไปออมไว้ 100 บาท เป็นต้น ทำอย่างนี้ก็จะช่วยให้สายเปย์มีเงินเก็บมากขึ้น
- ใช้เงินสดกับทุกสิ่ง แทนการใช้บัตรเครดิต เพื่อจำกัดการใช้จ่ายในแต่ละเดือนไม่ให้มากเกิน
- บันทึกค่าใช้จ่ายทันที ในปัจจุบัน เราสามารถบันทึกในโทรศัพท์มือถือได้ง่าย เมื่อเราใช้จ่ายอะไรไปให้บันทึกทันที จะได้รู้ว่ามีงบเหลืออีกเท่าไร
- อย่าเห็นเงินที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงิน หากเราสามารถให้นายจ้างตัดเงินเดือนบางส่วนของเราเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือโอนเข้าบัญชีเงินออมของเราได้จะดีมาก หรือเราอาจจะตั้งระบบหักเงินอัตโนมัติสำหรับการออมทันทีที่เงินเดือนเข้าบัญชี เพื่อให้เราไม่เผลอใช้เงินที่ตั้งใจจะเก็บออมไว้เพื่ออนาคต
ข้อแนะนำอื่นๆ ในการออมเงิน
- อย่าลืมที่จะสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตในปัจจุบันและการเก็บออมเงินสำหรับวันข้างหน้า เราควรมีความสุขกับชีวิตในปัจจุบันบ้าง อย่ามัวแต่เก็บเงินเพื่ออนาคตอย่างเดียว การออมเพื่อการเกษียณนั้นสำคัญ แต่การใช้ชีวิตแบบกระเบียดกระเสียรเกินไปมักจะไม่ยั่งยืน ควรเปิดช่องให้ได้หายใจหน่อย ในขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจว่าเงินออมของเรามีพอใช้หลังเกษียณ หลักการข้อนี้คือต้องสร้างสมดุลระหว่างปัจจุบันและอนาคต อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ต้องการจะเกษียณเร็ว หลักการข้อนี้อาจยากหน่อยเพราะต้องเสียสละเพื่อวันข้างหน้า
- ทำทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้ เช่น ทำระบบออมเงินอัตโนมัติ ใช้แอปพลิเคชันบันทึกค่าใช้จ่ายที่ง่ายและเหมาะกับเรา จัดทำงบประมาณส่วนบุคคลและวางแผนด้านการเงินให้เหมาะกับจริตของเราเพื่อให้เป็นธรรมชาติที่สุด
ลองเลือกหลักการทำงบประมาณส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นการผสมหลักการหลายๆ ข้อเข้าด้วยกัน และลองนำไปใช้ดู
อ้างอิง: www.atypicalfinance.com
เรียบเรียงโดย มานี ปิติ