เมื่อพูดถึงการออมเงิน หลายๆครั้งคุณอาจได้ยินวิธีต่างๆที่ช่วยในการออมเงินมาบ้าง ว่าถ้าทำแบบนี้ จะสามารถออมได้มาก ทำแบบนี้จะสามารถออมได้ง่าย ทำแบบนี้จะช่วยให้สนุกกับการออม และยังมีวิธีอีกสารพัดหลายคนยังออมเงินด้วยวิธีที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเด็กกันอยู่ คือการหยอดกระปุกออมสิน เพราะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่าย และไม่มีเงื่อนไขในการออม
หลายๆคนอาจจะรู้สึกสงสัยว่า เทคนิคการเก็บเงินที่เราได้เรียนรู้ในวัยเด็กนั้น ยังสามารถทำให้ออมเงินได้จริงในปัจจุบันหรือไม่ ด้วยวัยที่โตขึ้น สังคมที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างไปจากแต่ก่อนมาก นอกจากนี้ความสามารถในการหารายได้ของเรายังเพิ่มขึ้นจากวัยเด็ก แล้วเราจำเป็นต้องเปลี่ยนเทคนิคที่ใช้ในการออมหรือไม่ วันนี้เรามีเทคนิคที่ช่วยให้การออมเงินในวัยเด็กยังเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในยุคนี้มาฝากกัน
-
ได้แบงค์ 20 มาให้เก็บไว้ แล้วใช้แบงค์อื่นหรือเหรียญแทน
ในอดีต การเลือกที่จะเก็บเงินที่เป็นแบงค์ 20 ไว้ในกระเป๋าแล้วใช้จ่ายเงินด้วยเหรียญ หรือแบงค์อื่นๆ แลดูเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่าย และไม่ค่อยกระทบกระเทือนกับการใช้จ่ายประจำวันสักเท่าไหร่ ประกอบกับสินค้ามีราคาที่ค่อนข้างถูก จึงทำให้การออมเงินแบบเก็บแบงค์ 20 ไว้กับตัวแทนการใช้ออกไปเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายๆ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ ใครที่เลือกออมเงินโดยการเก็บแบงค์ 20 ไว้กับตัว รับรองได้ว่าในหนึ่งวันแทบไม่ต้องใช้จ่ายกันแล้วนะ ดังนั้นแล้วควรเปลี่ยนจากแบงค์ 20 เป็นแบงค์ 50 กันดีกว่า เป็นวิธีที่เหมาะมาก เพราะแบงค์ 50 นั้น เป็นแบงค์ที่ไม่ค่อยมีการหยิบมาทอนกันสักเท่าไหร่ ฉะนั้นแล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้รับเงินทอนเป็นแบงค์ 50 ให้เก็บแยกไว้เลย
-
แบ่งเงินที่ต้องใช้ในแต่ละวันเป็นกองๆ
วิธีนี้ยังคงได้ผลเสมอทุกยุคทุกสมัย ซึ่งในแต่ละช่วงอายุของเรานั้น จะแตกต่างกันที่ปริมาณเงินเป็นหลัก โดยเริ่มแรกให้เราคำนวณเงินที่ต้องใช้จ่ายในแต่ละวันไว้ก่อน หลังจากนั้นแยกเงินไว้เป็นกองๆ เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบออกไปใช้ในแต่ละวัน สิ่งที่เราจะลืมไม่ได้เลยคือเงินสำรองฉุกเฉิน โดยอาจจะไม่พกพาไปในรูปของเงินสด แต่เงินในบัญชีที่ผูกกับบัตร ATM ก็ได้ตามสะดวก แต่เราต้องมีวินัยในตัวเองว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ที่จะกดออกมาใช้ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นจริงๆ เพื่อควบคุมไม่ให้ปล่อยตัวนำไปใช้ตามความอยาก
เมื่อเรารู้ว่าในหนึ่งวันเรามีค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้เท่าไหร่ เราก็จะสามารถคำนวณรายจ่ายในหนึ่งเดือนได้ไม่ยาก และแน่นอนว่าการแบ่งเงินในลักษณะนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าในวันหนึ่งๆนั้นเราใช้เงินได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ใช้จ่ายไปเท่าไหร่ และเมื่อสิ้นเดือนเรามีเงินเหลือเก็บมาน้อยแค่ไหน
-
ตั้งเป้าหมายของการเก็บออม
การทำอะไรสักอย่างโดยไม่มีจุดหมายนั้น อาจจะทำได้ยาก รู้สึกไม่มีแรงบันดาลใจ หรือไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม การเก็บเงินก็เช่นกัน หากเราเก็บโดยไม่มีวัตถุประสงค์ ว่าจะเก็บเงินไปเพื่ออะไร สุดท้ายแล้วการเก็บเงินอาจล้มเหลว เนื่องจากรู้สึกว่า ยังไม่ต้องเก็บหรอก เอาเงินไปทำอย่างอื่นก่อน ยังมีเวลาให้ออมอีกมาก
ในทางกลับกัน หากเราเก็บเงินโดยมีวัตถุประสงค์ เราจะรู้สึกว่ามีเป้าหมายให้ยึดถือ และเก็บเงินอย่างมีวินัย เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น เพราะฉะนั้นมาตั้งเป้าหมายในการเก็บเงินกัน เพื่อสร้างความสุข และแรงบันดาลใจในการเก็บเงิน
โดยอาจจะตั้งเป้าหมายในการออมเงินเป็นรางวัลสักชิ้นในชีวิต เช่น ทริปท่องเที่ยว หรือของที่อยากได้ที่มีราคาไม่แพงมาก เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากออมเงิน อย่างไรก็ดี เราตั้งเป้าหมายในลักษณะนี้นั้น ก็ควรจะมีแผนในการเก็บออมให้ได้มากกว่าจำนวนเงินที่ต้องการจะใช้เพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเอง เช่น ต้องการซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ราคา 20,000 บาทให้ตนเองเพื่อเป็นรางวัล ก็ควรกำหนดระยะเวลาว่า จะซื้อของชิ้นนี้เมื่อไหร่ และในแต่ละเดือนต้องเก็บเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่จนกว่าจะถึงเป้าหมาย ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ ก็ควรจะมีเงินมากกว่า 2 หมื่นบาท ไม่ใช่มีเงินพอดี หรือขาดไปจนต้องนำเงินส่วนอื่นมาเติมอีก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ออมเลย เก็บเงินได้เท่าไหร่นำไปใช้จ่ายหมด ทางที่ดีรางวัลที่เราจะให้กับตัวเองเพื่อเป็นแรงจูงใจในการออมนั้น ควรมีมูลค่าไม่เกิน 20% ของเงินออม เพื่อให้การออมเงินเป็นไปตามเป้าหมายที่แท้จริงคือ ออมไว้เป็นเงินสำรอง ไม่ใช่ออมไว้ซื้อของที่อยากได้